จะทำอย่างไร เมื่อ “สื่อ” กลายเป็นผู้ละเมิด “สิทธิ”
สื่อมวลชนยุคนี้คงคุ้นเคยกับการขับเคี่ยวกันเพื่อนำเสนอข่าวได้อย่างรวดเร็วทันใจผู้อ่าน พร้อมเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อสื่อต่างๆ เปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ ภารกิจการล่า “ยอดวิว” ย่อมตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ส่งผลให้บรรดาสื่อมวลชนต่างพากันนำเสนอเรื่องราวที่หวือหวา น่าตื่นเต้น เพื่อเรียกคะแนนนิยม และข่าวที่น่าจะเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเมื่อก็คือ “อาชญากรรม” ที่สื่อมวลชนนำเสนอ ทั้งชะตากรรมอันน่าเศร้าของผู้ถูกกระทำ และด้านมืดหรือพฤติกรรมรุนแรงของผู้ก่อเหตุ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามจาก “ชาวเน็ต” ซึ่งหมายความว่าข่าวของสำนักข่าวนั้นๆ จะถูกมองเห็นในโลกโซเชียลมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวที่เน้นความตื่นเต้นด้วยด้านมืดและภาพที่น่ากลัว หลายครั้งก็ส่งผลให้สื่อมวลชน ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายพิทักษ์สิทธิของประชาชน กลับกลายเป็นผู้ที่ “ละเมิดสิทธิ” เสียเอง ดังนั้น หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี ประเทศไทย ร่วมกับคณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร และกลุ่มช่างภาพ Realframe จึงชวนเหล่าสื่อมวลชนมาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ "เมื่อ 'สื่อ' ละเมิด 'สิทธิ'" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์กช็อปการถ่ายภาพ "Shoot it Rights: เล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านภาพถ่าย"
เมื่อสื่อละเมิดสิทธิ
สิทธิอย่างหนึ่งของสื่อมวลชนคือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อจรรโลงสังคม แต่บางครั้งสื่อกลับ “ติดหล่มทางศีลธรรม” โดยไม่รู้ตัว และใช้สิทธินี้มาละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยการตัดสินคุณค่าส่วนบุคคล และกระบวนการทำงานที่ต้องรวดเร็วเพื่อแย่งชิงความนิยมของผู้อ่าน ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อตัวผู้ถูกกระทำและครอบครัวแล้ว ยังส่งผลต่อตัวผู้ก่อเหตุด้วย
ดร.สังกมา สารวัตร อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักจัดรายการวิทยุ กล่าวว่าลักษณะส่วนใหญ่ของการละเมิดสิทธิโดยฝีมือของสื่อ มีตั้งแต่การใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การนำเสนอภาพผู้ถูกกระทำอย่างไม่เหมาะสม การเปิดเผยชื่อสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อและที่อยู่ ไปจนถึงการบิดเบือนเนื้อหาข่าวจนทำให้เกิดการเข้าใจผิด การนำเสนอภาพผู้ก่อเหตุในลักษณะที่เป็นเซเลบ รวมทั้งการตีตราและนำเสนอข่าวด้านมืดของผู้กระทำผิดเพียงด้านเดียว
ด้านคุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้ยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิโดยสื่อมาบอกเล่า นั่นคือคดีของ “หมูหยอง” ชายหนุ่มที่ฆ่าคนเพื่อชิงรถยนต์ ขณะอายุเพียง 17 ปี พร้อมให้การอย่างหน้าตาเฉยว่าไม่ได้รู้สึกอะไรขณะที่ก่อเหตุ ซึ่งยิ่งโหมกระแสความโกรธแค้นให้กับผู้เสพข่าวจำนวนมาก
“หลังจากที่ได้พูดคุยกับหมูหยองที่เรือนจำ เราพบว่าเขาเป็นผลผลิตของครอบครัวซึ่งไม่ดูแลกันและกัน และเป็นผลจากระบบกลไกของรัฐที่ไม่ดูแลผู้คนที่เปราะบาง เมื่อสื่อให้ภาพที่เป็นด้านดิบเพียงด้านเดียว และไม่ได้ให้ความรู้แก่สาธารณชน มันก็ตอกย้ำว่าสังคมไทยยังไปไม่ถึงไหน เพราะเราไม่สามารถมองปรากฏการณ์ของสังคมได้ลึกกว่านั้น” คุณทิชากล่าวถึงการทำงานของสื่อที่เน้นนำเสนอเรื่องราวความรุนแรงของหมูหยอง ที่นอกจากจะตีตราให้หมูหยองกลายเป็นคนเลวโดยกำเนิด ยังไม่สามารถกระตุ้นการตั้งคำถามในสังคมอีกด้วย
“เราถามหมูหยองว่า ‘ถ้ามีโอกาสได้พูดใหม่อีกครั้ง คุณอยากพูดอะไร’ เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘ผมอยากบวชให้เขาครับ’ ซึ่งมันต่างจากที่เขาพูดตอนเป็นข่าว เพราะตอนนั้นเหตุการณ์เพิ่งเกิด เราเชื่อว่าถ้าไปถามตอนนั้นเขาก็ตอบว่าไม่รู้สึกอะไร และคำตอบนี้มันขายได้ไง แล้วเมื่อไรที่เขาซ้ำเติมตัวเองว่าตัวตนของเขามันจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ มันจะไม่ใช่ปัญหาของเขาแล้ว แต่จะเป็นปัญหาของสังคมต่อไป”
นอกจากการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวแล้ว กระบวนการทำงานของสื่อร่วมกับฝ่ายกฎหมาย ก็ยังมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เช่น การแถลงข่าวการจับกุม ที่ผู้กระทำผิดต้องมานั่งต่อหน้าสื่อ เพื่อตอบคำถามมากมาย ยกเว้นคำถามที่ว่า “อยากจะออกสื่อหรือไม่” ซึ่งคุณทิชาได้สะท้อนประสบการณ์ของเยาวชนคนหนึ่งที่ก่อคดี และต้องพบกับความลักลั่นในกระบวนการพิทักษ์สิทธิว่า
“เด็กที่ก่อคดีดังคนหนึ่งจากบ้านกาญจนาภิเษกได้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย และได้ไปพูดบนเวทีที่มหาวิทยาลัย แต่ผู้ใหญ่ที่จัดงานคุยกันจริงจังเลยว่าเด็กคนนี้จะออกสื่อได้หรือไม่ เพราะเป็นเด็กสถานพินิจ เด็กก็หันมาบอกป้าว่าแปลกใจผู้ใหญ่จัง วันที่เขาถูกจับไม่มีใครถามเขาสักคำว่าอยากออกสื่อหรือเปล่า แต่วันนี้พอเขาทำสิ่งที่ถูกต้อง อยากให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่กลับคิดว่าควรออกสื่อหรือไม่ เขาก็เลยไม่รู้ว่าการออกสื่อของเขามันผูกโยงกับอะไรกันแน่ ความชั่วหรือความดี” คุณทิชากล่าว
แง่มุมที่ไม่ถูกตั้งคำถาม
แม้จะดูเหมือนว่าผู้คนตื่นตัวกับปัญหาความรุนแรงในสังคม โดยการแสดงความกังวล และโจมตีผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ สาปแช่งในโลกโซเชียล ไปจนถึงการเรียกร้องโทษประหาร แต่สิ่งที่คนทั่วไปอาจจะหลงลืม คือ “การตั้งคำถามกับระบบบริหารงานของรัฐ” ซึ่งทำให้ไม่เกิดการตรวจสอบ และผู้ที่รับผิดชอบระบบก็ลอยนวลต่อไป โดยที่ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ อีกทั้งสื่อเองก็มองข้ามหน้าที่ในการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามลักษณะนี้ด้วย ซึ่งคุณทิชาได้เล่ากรณีตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เด็กคนหนึ่งเคยปล้นร้านสะดวกซื้อ 16 แห่ง ภายในคืนเดียว เพื่อให้ได้ฉายา ‘16 ปล้น’ ซึ่งเท่ากับเป็นการเกิดใหม่ของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเคยไร้ตัวตน แต่เรากลับถามว่ามันต้องเลวขนาดไหนถึงทำแบบนี้ได้ แทนที่เราจะตั้งคำถามว่าต้องเป็นประเทศแบบไหน เป็นสังคมแบบไหน ถึงสร้างคนที่เอาตัวรอดด้วยวิธีนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ประเทศแบบไหนที่ทำให้คนลงทุนทำร้ายตัวเองขนาดนี้ เพื่อที่จะให้ตัวเองเกิด และเมื่อไรที่สังคมไม่ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ เราจะมีผู้ที่พ่ายแพ้ทางจิตวิญญาณวนไปไม่มีที่สิ้นสุด”
ทางเลือกของสื่อมวลชน
เมื่อหน้าที่ของสื่อไม่ได้มีแค่การสร้างสรรค์สังคม แต่ยังพ่วงด้วยการไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องเอาตัวรอดในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน คำถามก็คือ สื่อจะต้องทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ คุณทิชาได้เสนอทางเลือกสำหรับสื่อไทยไว้ว่าจะเป็นเพียง “กระจก” ที่สะท้อนเพียงด้านขาวและด้านดำ หรือจะเป็น “แสงสว่าง” ที่เผยให้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย และตั้งคำถามให้ลึกกว่าที่เคย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
“ถ้าเราถามซ้ำเหมือนที่ถามผู้กระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก กลไกที่มันหลับใหลมานานก็จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้น แต่คุณอาจจะต้องถามกันเป็นปีเลย เพราะปัญหาเหล่านี้มันถูกทิ้งไว้จนเป็นฟอสซิลไปแล้ว ถ้าเราจะทลายฟอสซิลตัวนี้ เราก็ต้องมีเครื่องมือที่ทนกว่าฟอสซิล ก็คือความไม่เหน็ดเหนื่อยและความอดทนของเรา” คุณทิชากล่าว
และไม่ใช่เฉพาะสื่อมวลชนอาชีพเท่านั้นที่ต้องลบอคติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการด่วนตัดสินและละเมิดสิทธิผู้อื่น แต่นักศึกษาด้านสื่อและคนทั่วไปก็ควรปรับตัวเช่นกัน ซึ่ง ดร.สังกมา ในฐานะอาจารย์ที่สอนด้านสื่อก็ระบุว่าสิ่งที่จะช่วยเตรียมคนรุ่นใหม่ให้เป็นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพได้ คือการสอนเรื่องความหลากหลายให้มากที่สุด รวมทั้งเปิดพื้นที่ในสังคมให้กว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเรื่องเพศ ศาสนา สีผิว รวมไปถึงแนวคิดทางการเมือง
เมื่อมองข้ามเปลือกนอก เราจะเห็นคนคนหนึ่งที่มีเรื่องราวเบื้องหลังอันซับซ้อน และเมื่อเห็นคน “เป็นคน” การละเมิดสิทธิก็อาจจะลดน้อยลงก็เป็นได้