“ดันลูกเป็นดารา” เส้นทางคว้าดาวกับราคาที่ต้องจ่าย
เมื่อไม่นานนี้ เกิดกรณี “นายชินจัง” ที่อ้างตัวว่าเป็นโมเดลลิ่ง หลอกลวงผู้ปกครองเด็กถึง 27 ราย ให้จ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกโมเดลลิ่ง และสัญญาว่าจะพาบุตรหลานเข้าวงการบันเทิง ก่อนจะเชิดเงินหนีหายไป ส่งผลให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองสูญเงินเป็นจำนวนมากไปพร้อมกับความฝันที่จะมีลูกหลานเป็นคนดัง แต่เราต่างก็รู้กันดีว่ากรณีมิจฉาชีพในคราบโมเดลลิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มีผู้คนมากมายที่ตกเป็นเหยื่อ เพียงเพราะความหวังที่จะมีที่ยืนในวงการบันเทิง กอบโกยรายได้และชื่อเสียงเพื่อความสะดวกสบายในอนาคต ดังนั้น Sanook! News จึงขอพาคุณไปสำรวจเส้นทางบันเทิงสำหรับเด็ก ที่ชื่อเสียงไม่ได้มาฟรีๆ แต่มีราคาที่ต้อง “จ่าย” มหาศาลเลยทีเดียว
ก้าวสู่วงการบันเทิง
ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิงไทยหรือต่างประเทศ โอกาสที่เด็กคนหนึ่งจะได้แจ้งเกิดเป็น “ดารา” เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยทารก ส่วนเด็กที่เพิ่งมาเข้าวงการบันเทิงตอนโต ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กกล้าแสดงออก เมื่อความสามารถและบุคลิกฉายแววมากพอ ความคาดหวังของพ่อแม่ก็ขยายไปสู่การหารายได้มาจุนเจือครอบครัว รวมทั้ง “ความมีหน้ามีตา” ที่ลูกหลานของตนได้ปรากฏตัวอยู่ในหน้าจอโทรทัศน์
“มันก็มีทั้ง 2 ด้าน คือเด็กยินดีที่จะทำงานเอง เพราะมีพรสวรรค์อยู่แล้ว แล้วขอให้แม่พาไปแคสต์งาน กับเด็กที่พ่อแม่ผลักดัน เมื่อก่อนพ่อแม่บางคนไม่ให้ลูกเล่นละคร เพราะจะไม่มีเวลาไปเรียนเลย จะให้เล่นแต่โฆษณาหรือมิวสิกวิดีโอ บางคนให้เล่นเฉพาะหนังใหญ่ เพราะอยากให้ลูกอยู่ในจอใหญ่ บางคนจะให้ถ่ายภาพนิ่งอย่างเดียว เพราะไม่อยากให้ลูกอยู่ในกองถ่ายนาน แต่ตอนนี้เด็กส่วนใหญ่จะนิยมไปทางละคร เพราะว่าคนจะเห็นบ่อยกว่า แม้จะเลิกงานดึก แต่ก็แลกกับการที่ภาพของลูกจะติดตาผู้ชมได้มากกว่า” คุณภูรัฎฐ์ กัญจนพรพงศ์ โปรดิวเซอร์ กล่าวถึงประสบการณ์ที่พบขณะทำงานร่วมกับนักแสดงที่เป็นเด็กและพ่อแม่
แม้อาชีพนักแสดงจะดึงดูดใจเพียงใด แต่การจะส่งเด็กหนึ่งคนที่มีประสบการณ์ชีวิตเพียงไม่กี่ปีเข้าสู่โลกการแสดงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สถาบันการแสดงและพัฒนาบุคลิกภาพจึงเกิดขึ้นเพื่อสานต่อความใฝ่ฝันทั้งของเด็กและพ่อแม่ โดยคุณธัญวลัย แสงขำ หรือครูแพรว เจ้าของสถาบัน Pitchconsonance Studio ได้เล่าให้ฟังว่าการ “ปั้น” เด็กให้เข้าสู่วงการบันเทิงนั้นต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากทีเดียว นับตั้งแต่การพูดคุยกับเด็กและพ่อแม่ เพื่อประเมินความคาดหวังของพ่อแม่และศักยภาพของเด็ก ก่อนที่จะจัดระบบการสอนเพื่อให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน รวมทั้งส่งเสริมจุดเด่นและพัฒนาจุดด้อยต่างๆ
“อันดับแรกคือเด็กต้องมีความกล้าแสดงออก มีบุคลิกภาพที่ค่อนข้างน่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องสวย แต่เมื่อพัฒนาทุกด้านรวมๆ กันแล้วมันไปได้ เด็กแต่ละคนมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน ดังนั้น โอกาสในการแสดงความสามารถก็มีหลากหลาย บางคนไปสายประกวดได้ บางคนไปสายดาราได้ หรือบางคนเป็นสายนักร้องแบบป็อปสตาร์ ไม่ใช่สายประกวด โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กที่มีของมาประมาณหนึ่ง หรือมีความสามารถอยู่แล้ว ก็ต้องฝึกอีกประมาณ 1 – 2 ปี กว่าจะเข้าวงการได้” ครูแพรวกล่าว
ทางลัดที่ไม่มีอยู่จริง
แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่จะคาดหวังในตัวลูก แต่ความคาดหวังที่อยากจะให้ลูกประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงกลับพาพ่อแม่เหล่านี้เดินไป “ติดกับดัก” ของเหล่ามิจฉาชีพ และต้องสูญเงินจำนวนมากให้กับทางลัดที่ไม่มีอยู่จริง แถมยังก่อให้เกิดอันตรายกับตัวลูกด้วย
“เราเจอแม่ๆ โดนหลอกเยอะมาก ร้องไห้เยอะมาก แจ้งความเยอะมาก เพราะพวกมิจฉาชีพรู้ว่าพ่อแม่อยากดันลูกอยู่แล้ว ก็มาหลอกให้เรียนโน่นนี่ พ่อแม่ก็เสียเงินค่าเรียนเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อที่จะให้ลูกได้เรียน เด็กบางคนไปแคสต์งานชุดว่ายน้ำ ให้ถอดเสื้อผ้า ก็อาจจะมีพวกโรคจิตอยากถ่ายรูปเด็กก็มี” คุณภูรัฎฐ์กล่าวถึงการทำงานของแก๊งมิจฉาชีพที่ใช้ความคาดหวังของพ่อแม่เป็นเครื่องมือในการหารายได้ พร้อมแนะนำว่าควรเลือกทำงานกับโมเดลลิ่งที่ไว้ใจได้ และศึกษาเบื้องหลังของบริษัทเหล่านี้อย่างละเอียด
ด้านครูแพรวก็แนะนำว่าพ่อแม่ควรสังเกตและพัฒนาทักษะที่โดดเด่นของลูก ก่อนที่จะพาเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาที่รับรองผลว่าจะได้เข้าวงการทันที เพราะทุกอย่างต้องมีกระบวนการฝึกและระยะเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม นอกจาก “ค่าผ่านทาง” ที่จ่ายให้แก่มิจฉาชีพแล้ว ยังมีอีกหลายด่านที่พ่อ แม่ และเด็ก ต้องผ่านไป โดยใช้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตแลกมา
วัยเด็กที่หายไป
แม้ว่าการผลักดันเด็กเข้าสู่วงการบันเทิงจะช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่นที่วัยต่างกัน และทำให้เด็กเหล่านั้นโตเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน รวมทั้งมีพัฒนาการที่ดีจากการทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จและได้รับการยอมรับชื่นชมทั้งจากพ่อแม่และคนรอบข้าง แต่การทำงานในวงการบันเทิงกลับมี “ด้านมืด” บางอย่างที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กโดยตรง อย่างที่หลายคนเรียกว่า “การสูญเสียวัยเด็ก” ซึ่ง พญ. เบญจพร ตันตสูติ หรือหมอมินบานเย็น เจ้าของเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” ได้กล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่ทำงานในวงการบันเทิงว่า
“วัยเด็กเป็นช่วงที่เด็กควรมีความสุข ไม่ใช่วัยที่ต้องทำงาน หรือต้องแข่งขันเหมือนผู้ใหญ่ การทำงานในวงการบันเทิงจนไม่มีโอกาสพักผ่อน การเรียนตกลง ไม่ได้มีเพื่อนตามวัย ตามพัฒนาการที่ตัวเองควรได้รับ อาจจะก่อให้เกิดความเครียดในวัยเด็ก ความวิตกกังวล ซึมเศร้า ยิ่งถ้าพ่อแม่ไปกดดันว่าต้องทำให้ดี หรือต้องหาเงินได้ มันก็จะเกินบทบาทของเด็กคนหนึ่งแล้ว พอมันมากเกินไป จากความคาดหวังก็จะกลายเป็นความกดดัน ก็จะเกิดความเครียดหรือภาวะทางสุขภาพจิตตามมา” หมอมินกล่าว
สมรภูมิแห่งชื่อเสียง
ในเส้นทางการเป็นนักแสดงของเด็กๆ บุคคลที่ถือว่ามีส่วนสำคัญมากก็คือพ่อแม่ ที่ทำหน้าที่สนับสนุน ให้กำลังใจ และอาจกลายเป็นความคาดหวังที่มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหลายครั้งพ่อแม่ก็แสดงความคาดหวังอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณสุจีรัตน์ วิลาวรรณ Casting Director ของบริษัทฟีโนมีนา เล่าให้ฟังถึง “ความเยอะ” ของผู้ปกครองเมื่อพาลูกมาทดสอบบท ที่มีตั้งแต่การดุด่าลูกเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ไปจนถึงการอาละวาดกับทีมงาน
“เด็กๆ ไม่ได้มีพรสวรรค์ทุกคน แต่พ่อแม่บางคนก็พยายามเหลือเกินให้ลูกมาทางนี้ พอเข้ามาในห้องแคสต์ เด็กก็กดดัน เครียด ไม่เล่น แล้วพ่อแม่โมโห ก็ตวาดแล้วก็พากลับบ้าน ฉุดกระชากลากถูต่อหน้าทีมงานก็เคยเห็น”
“ในการแคสติ้ง คุณพ่อคุณแม่จะไม่เยอะเท่าไร เพราะเขารู้สึกว่าเรามีอำนาจในการให้งานลูกเขา แต่เขาจะไปเยอะกับคนอื่นมากกว่า เช่น เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียน หรือผู้ช่วยฝ่ายคอสตูม มีเคสหนึ่งเป็นเด็กลูกครึ่ง หน้าตาน่ารักมาก แต่ไม่ยอมเล่น ข้อแม้เยอะ คุณแม่ก็บอกว่าตัวเองเป็นไบโพลาร์ ก็จะหยุมหยิม ทะเลาะกับช่างแต่งหน้า ช่างทำผม และระเบิดอารมณ์ใส่กัน เพราะช่างแต่งหน้าก็ไม่ทนเหมือนกัน” คุณสุจีรัตน์กล่าวถึงความปั่นป่วนในการทำงานกับนักแสดงเด็กและคุณแม่
ในขณะที่พ่อแม่บางคนแสดงความคาดหวังขั้นรุนแรงด้วยซีนระเบิดอารมณ์ใส่ลูก พ่อแม่บางคนกลับมีวิธีการที่ดุเดือดกว่านั้น เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในสังเวียนการแสดง ซึ่งคุณภูรัฎฐ์เล่าถึงวิธีการแปลกๆ เหล่านี้ว่า
“บางคนเอาไอพอดใส่ในกระเป๋าลูกเพื่ออัดเสียงไว้ฟังว่าลูกพูดอะไรตอนแคสต์งาน เราเห็นว่าเด็กดูกังวลเวลาเต้น ก็เลยถาม แล้วก็รู้ว่ากลัวไอพอดหลุด พอเราถามว่าทำไมต้องพกไอพอด เสียงเรามันก็เข้าไปในไอพอด แม่ก็เลยรู้ แล้วก็ดุลูก หรือเด็กคนหนึ่งอายุแค่ 6 – 7 ขวบ พกกุมารทองมาแคสต์งานด้วย แล้วก็พูดว่าช่วยพ่อด้วยนะครับ เราก็ถามว่าคุยกับใคร เขาก็หยิบมาจากกระเป๋าให้ดู บอกว่าแม่ให้พกไว้”
“บางคนก็จ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือมาต่อรองว่าถ้าเลือกลูกเขา เขาไม่เอาค่าตัวก็ได้นะ จ่ายเงินเพิ่มให้ด้วยก็ได้ ติดสินบนก็มี จริงๆ วงการเด็กอาจจะเลวร้ายกว่าหลายๆ วงการก็ได้” คุณภูรัฎฐ์สรุป
นอกเหนือจากการปรากฏตัวในสื่อต่างๆ ที่จะนำไปสู่ชื่อเสียงและเงินทองในอนาคต นักแสดงเด็กบางคนยังเปลี่ยนสถานะจากลูกไปเป็น “หัวหน้าครอบครัว” เป็นเสาหลักที่ทำงานหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย และบางรายยังไม่สามารถมีเงินเก็บเป็นของตัวเองได้ เพราะพ่อแม่ยึดครองรายได้ทั้งหมดไป ซึ่งคุณสุจีรัตน์เล่าว่าดาราเด็กคนหนึ่งต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล และทุกเดือนเธอจะต้องมีงาน เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ
“เวลาเราเรียกแคสต์ พวกนี้ก็จะมาได้ทุกงานเลยนะ และสมมติเราตามมาแคสต์ 30 คน เปอร์เซ็นต์ที่จะมาครบ 30 คนคือสูงมาก หรืออาจจะมาเกินกว่านั้น เด็กบางคนก็มาดราม่ากับเรา บอกว่าหนูต้องทำให้ได้ เพราะต้องเอาเงินไปผ่อนบ้านให้พ่อแม่ ซึ่งเรารู้ว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่พูดกรอกหูลูก เพราะเด็กเล็กมากๆ ไม่น่าจะเข้าใจและพูดเรื่องพวกนี้” คุณสุจีรัตน์กล่าว
หากคุณคิดว่าการผลักดันลูกเข้าสู่วงการบันเทิงเป็นเรื่องภายในครอบครัว ขอให้คุณคิดใหม่ เพราะขณะที่พ่อแม่และเด็กพยายามดิ้นรนเพื่อความสำเร็จ ยังมีครอบครัวอื่นที่ดิ้นรนอยู่เช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าการแข่งขันอันดุเดือดนั้นมีอยู่จริง และทุกคนก็พร้อมจะเขี่ยคู่แข่งให้พ้นทาง ไม่ว่าวิธีการใดก็ตาม
“ที่เราเห็นได้ชัดคือการอิจฉากัน แล้วก็มาเกทับกันในหน้าเฟซบุ๊ก หรือด่ากันโดยเอ่ยชื่อเด็กเป็นอักษรย่อ ทั้งที่เด็กๆ ไม่ได้รู้เรื่องเลย เป็นความดราม่าของพ่อแม่ที่ไม่ยอมรับความจริงเท่านั้น บางคนไม่เคยเจอกันเลยนะ แต่เห็นว่าเด็กคนนี้ได้งานตลอดเวลาก็จะโพสต์หยาบคาย จับผิด แล้วก็ไปจับกลุ่มใส่ร้ายให้คนอื่นเกลียดเด็กคนนี้ และจะมีแม่บางคนบอกลูกว่าถ้าเจอเด็กคนนี้ อย่าไปคุยด้วยนะ ทั้งๆ ที่เด็กก็ไม่สนใจอยู่แล้วว่าผู้ใหญ่จะทะเลาะกันหรือไม่ ซึ่งพ่อแม่ไม่รู้ตัวเองหรอก แต่คนนอกจะรู้สึกว่าไม่มีความเป็นผู้ใหญ่เลย” คุณภูรัฎฐ์กล่าว
นอกจากจะจ่ายด้วยวิถีชีวิตและสุขภาพจิตแล้ว ปลายทางของนักแสดงเด็กยังอาจไม่สวยงามอย่างที่คิด เมื่อเด็กต้องเติบโตเป็นวัยรุ่น ภาวะกึ่งกลางระหว่างการเป็นเด็กและวัยรุ่นที่แขนขายาวเก้งก้าง หน้าตาที่น่าเอ็นดูเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้งานเริ่มหดหาย บางคนสามารถเอาตัวรอดจากภาวะนี้ได้ และหวนกลับมาพร้อมกับหน้าตาสวยหล่อ พร้อมรับงานในบทบาทพระเอกนางเอกเต็มตัว ในขณะที่บางส่วนมีชะตาชีวิตตรงกันข้าม และไม่สามารถจัดการกับชีวิตที่พลิกผันได้ ส่งผลให้รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวไม่มีคุณค่า กลายเป็นโรคซึมเศร้า บางรายหันไปพึ่งยาเสพติด หรือแม้กระทั่งทำร้ายตัวเอง ดังที่เคยเกิดขึ้นกับนักแสดงหลายคน เช่น เจค ลอยด์ อดีตนักแสดงเด็กผู้โด่งดังจากบท “อนาคิน สกายวอล์กเกอร์” ในภาพยนตร์ Star Wars: The Phantom Menace หรือ จีโน ชูทส์ อดีตดาราเด็กลูกครึ่งชื่อดังแห่งยุค 90s ที่ออกมาเปิดเผยถึงชีวิตที่เคว้งคว้างเมื่อโตเป็นวัยรุ่น ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาเสพติด
เอาตัวรอดอย่างไรในวงการบันเทิง
เมื่อวงการบันเทิงบันดาลชื่อเสียงและความร่ำรวย ขณะเดียวกันก็ฉกฉวยหลายสิ่งในชีวิตของเด็ก จะทำอย่างไรให้พ่อแม่และเด็กสามารถยืนอยู่ในวงการนี้ได้อย่างราบรื่น และเมื่อต้องก้าวออกจากเส้นทางนี้ ก็สามารถประคองจิตใจให้พร้อมเดินบนเส้นทางใหม่ได้ ประเด็นนี้ หมอมินให้ความเห็นว่าควรรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานของเด็ก
“พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการเข้าวงการบันเทิงไม่ใช่ธรรมชาติสำหรับเด็กคนหนึ่ง เพราะเด็กเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ทักษะชีวิต มีพัฒนาการ เข้าโรงเรียน มีเพื่อน ต้องเข้าใจและมีสมดุล ไม่ให้มันมากเกินไป และคาดหวังกับเด็กอย่างเหมาะสม ผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็กก็ต้องมีความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการทางจิตใจและร่างกายของเด็กพอสมควร ถ้าเด็กทำผิดพลาดก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน” หมอมินกล่าว
นอกจากสมดุลในการใช้ชีวิตแล้ว การสื่อสารกันระหว่างพ่อแม่และเด็กก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคุณภูรัฎฐ์ระบุว่าพ่อแม่ควรถามลูกว่าชอบงานในวงการบันเทิงหรือไม่ ไม่ควรดันทุรังและพยายามเอาความฝันของตัวเองไปใส่ในชีวิตของลูก
“เด็กจะรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าชอบหรือไม่ชอบ ไหวหรือถนัดหรือเปล่า อย่าดันทุรัง เพราะว่าผลลัพธ์ที่ออกมามันไม่คุ้มเลยกับการที่คุณต้องสูญเสียอารมณ์บางอย่างของลูกไป อย่าให้ลูกต้องมาทำงานหาเงินเพื่อที่จะเลี้ยงครอบครัวเลย มันไม่ใช่หน้าที่ของเขา แต่ถ้าเกิดว่าลูกเก่ง มีพรสวรรค์จริง อันนี้เราไม่ว่ากัน”
สำหรับครูแพรวซึ่งทำหน้าที่ปั้นเด็กๆ เพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง ก็แนะนำว่าพ่อแม่ควรทำงานร่วมกับครูในการฝึกทักษะให้เด็ก เพราะจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ด้วย
“ครูต้องพูดความจริงว่าครูทำอะไรได้บ้าง เราต้องสื่อสารกัน ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งตัวคนฝึก นักเรียน คุณพ่อคุณแม่ พ่อแม่ก็จะได้เรียนรู้ลูกตัวเองไปด้วย แล้วก็จะเข้าใจสิ่งที่ลูกเป็น ถ้าเด็กได้พัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ เดี๋ยวทุกอย่างที่ดีมันจะออกมาเอง การยัดเยียดมากเกินไปก็ทำให้เด็กเครียด และไม่ชอบในสิ่งที่ทำอยู่ จากสิ่งที่เคยชอบทำกลายเป็นไม่ชอบน่ะ น่ากลัวกว่าการไม่ได้เป็นดาราอีกนะ” ครูแพรวสรุป