เอาละครมาเล่นกับการเมือง สร้างสรรค์สังคม หรือพากันดับ?

เอาละครมาเล่นกับการเมือง สร้างสรรค์สังคม หรือพากันดับ?

เอาละครมาเล่นกับการเมือง สร้างสรรค์สังคม หรือพากันดับ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มองผ่านๆ อาจจะเห็นว่า ละครโทรทัศน์ กับ การเมือง เป็นเหมือนเส้นขนาน แต่เมื่อผู้จัดละคร ต้องการสะท้อนสถานการณ์การเมืองลงไปในละครของตนเอง เพื่อให้ผู้ชมได้ข้อคิดดีๆ พ้นเรื่อง ตบ ตี แย่งชิงผู้ชาย หรือทรัพย์สมบัติไปบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย

แต่ถ้าผู้จัดละครนำสัญลักษณ์พรรค ไม่ว่าจะเป็นสี ตัวอักษรชื่อพรรค ตัวย่อพรรค หรือชื่อสถานที่จริง ที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น มาใช้ในละคร ทำให้บางครั้งโดนคุยนอกรอบ หรือจ่อโดนฟ้อง จนต้องตัดจบละคร หรือต้องตัดฉากที่เกี่ยวข้องกับการเมืองออก แบบนี้เสรีภาพของสื่อบันเทิงจะอยู่ตรงไหน?

01ฉากหนึ่งในละครเรื่อง ล่า(ภาพจากฉากหนึ่งในละครเรื่อง "ล่า")

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับ Sanook! News ว่า ละครในประเทศไทย กับการเมือง มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน หลายครั้งที่ละครโทรทัศน์มีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ทางการเมือง และทำให้เกิดการถกเถียงกันในสังคม โดยเฉพาะถ้าตอนนั้นการเมืองกำลังมีความขัดแย้งสูง จะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มที่ไม่พอใจ

อย่างกรณีละครเรื่อง เหนือเมฆ 2 ที่โดนสั่งห้ามออกอากาศต่อทางช่อง 3 เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามีการไปพูดคุยกันทางลับ เพื่อเร่งให้ละครเรื่องนี้จบลง

1ฉากหนึ่งในละครเรื่อง ล่า

(ภาพจากฉากหนึ่งในละครเรื่อง "ล่า")

ขณะเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในละครเรื่อง ล่า จนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ในละคร เหมือนกับสัญลักษณ์ของพรรคมากเกินไป จึงถามผ่านสื่อไปยังผู้บริหารช่อง ว่ามีเจตนาสร้างความแตกแยกหรือไม่ และถ้าไม่ยุติจะทำการฟ้องร้อง

สื่อได้สอบถามไปยังผู้บริหารช่องวัน และได้รับคำตอบว่า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด จะเปลี่ยนโลโก้ และชื่อพรรคที่ใช้ในละครใหม่ทั้งหมด ส่วนที่ออกอากาศไปแล้ว จะกลับไปแก้ย้อนหลัง และกรณีที่ในละครปรากฏข้อความพูดถึงผู้หญิงที่ไปดูไบ ก็ไม่ได้หมายถึงผู้หญิงคนใดเป็นพิเศษ แต่เป็นผู้หญิงที่ไม่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

(อย่างไรก็ตาม สีและตัวอักษรในละครนั้นใช้ตัวย่อ พนท มาจาก พรรคธรรมนำไทย โดยในละครใช้สีน้ำเงินแดง และฟอนต์ที่คล้ายสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย ส่วนดูไบนั้นเป็นที่ทราบดีว่า นายทักษิณ ชินวัตร มีบ้านพักอยู่ที่นั่น และมีกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปที่ดูไบ หลังอ้างต่อศาลว่าน้ำในหูไม่เท่ากัน แล้วหายตัวไปไม่มาฟังคำพิพากษาคดีทุจริตจำนำข้าว)

anusornนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย(ภาพนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย)

จากเหตุที่เกิดกับละครทั้ง 2 เรื่อง ที่หยิบมาเป็นตัวอย่างนี้ ดร.มานะ กล่าวว่า ไทยกับต่างประเทศ ต่างกันตรงที่ในต่างประเทศจะไม่มีคุยกันทางลับ ไม่เล่นนอกเกมกฎหมาย หรือไม่มีขู่ฟ้อง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจะฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาททันทีไม่มีเล่นนอกเกม

ส่วนผู้จัดละครในต่างประเทศ จะมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนสร้างสรรค์ออกมา โดยส่วนมากต่างประเทศจะไม่ใช้สี หรือชื่อสถานที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะหลีกเลี่ยงการเสียเวลามาต่อสู้คดีหมิ่นประมาท แต่จะสร้างสรรค์เนื้อหาที่ตรงประเด็นมากกว่า

ขณะเดียวกันทั้งผู้จัด และผู้ชม จะต้องเปิดใจกว้าง หากกรณีที่ผู้จัดอื่นที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันทางการเมือง ออกมานำเสนอละครที่มีเนื้อหาโจมตีฝ่ายตนเองด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ชมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเหมือนกันในทุกประเทศ

ส่วนกรณีที่ผู้จัดละครบางราย อาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเดินขับไล่ผู้นำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น

ดร.มานะ กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ แต่ย้ำว่าต้องเปิดใจกว้างในการทำงาน และยอมรับกับผลกระทบเมื่อตัดสินใจทำอะไร ทั้งนี้เชื่อว่าผู้จัด และผู้เกี่ยวข้องกับละครทุกฝ่ายได้ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ก่อนที่จะนำผลงานอันทรงคุณค่าออกสู่สายตาสาธารณชน

mana2ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย(ภาพ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)

ดังนั้นประเด็นที่สำคัญหากประเทศไทยต้องการมีละครที่สร้างสรรค์สังคม ต้องเปิดใจกว้าง ทั้งผู้ชม ที่ต้องยอมรับว่าอาจไม่ได้ชมละครที่เป็นไปอย่างใจต้องการเสมอ

ผู้จัด ที่ต้องเปิดใจยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นภายหลัง และผู้มีอำนาจ ต้องไม่ใช้อำนาจเหนือกฎหมายมาเล่นงานผู้อื่น

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาในประเทศไทยยังมีละครที่พาดพิงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของข้าราชการประจำ รวมถึงอาชีพที่มีหน้าตาทางสังคมอื่นๆ เช่น เรื่องรักคาวๆ ของเหล่าแอร์โฮสเตส กับนักบิน ในละครเรื่องสงครามนางฟ้า ที่มีโครงเรื่องมาจากเรื่องจริง จนทำให้ช่วงนั้นภาพลักษณ์ของแอร์โฮสเตสเปลี่ยนไปด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook