“โพล” เสรีภาพ หรือ สร้างภาพ?

“โพล” เสรีภาพ หรือ สร้างภาพ?

“โพล” เสรีภาพ หรือ สร้างภาพ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันหยุดที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมืองหลากหลาย แต่ที่เป็นประเด็นน่าคบคิด คือการประกาศลาออกจากตำแหน่งของ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล  เพราะถูกระงับผลการตรวจสอบความเห็นประชาชนต่อเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีกลาโหม

โดยสิ่งที่เขาโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Arnond Sakworawich มีประโยคเด็ดอยู่ที่ว่า “ผมสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot นะครับ” (top boot หรือที่มักเรียกกันว่า รองเท้าคอมแบท)

nidaดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล

เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้คิดได้ว่าอาจมีการแทรกแซงการทำผลสำรวจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วอะไรละจะเป็นตัวบอกว่า โพลไหนมีเสรีภาพทางวิชาการ และอะไรจะบอกได้ว่า ผู้ทำโพลไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

Sanook! News ได้ติดต่อสัมภาษณ์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล หรือ ซูเปอร์โพล ที่ถึงแม้ว่าซูเปอร์โพลจะเพิ่งก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2559 แต่ ดร.นพดล อยู่ในวงการการทำสำรวจมายาวนานแล้ว

โดยเขาเคยเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักวิจัยเอแบคโพล ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทั้งยังเคยได้รางวัลชนะเลิศงานวิจัยทางวิชาการ จากสมาคมวิจัยความคิดเห็นของสาธารณชนระดับโลก (The World Association for Public Opinion Research)

ที่สำคัญขณะที่ ดร.นพดล เป็น ผอ.เอแบคโพล เมื่อปีพ.ศ.2545 รัฐบาลเคยส่งทหารและตำรวจ ค้นสำนักวิจัยเอแบคโพล พร้อมนำเอกสารไปตรวจสอบ โดยอ้างว่ามีการวิจัยด้วยอคติ ซึ่งตอนนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และเมื่อเราถามถึงกรณี ผอ.นิด้าโพล ที่เป็นประเด็นอยู่ ดร.นพดล ตอบกลับมาว่า จากที่อ่านในสื่อ “ผมขอชื่นชมที่ ผอ. ตัดสินใจลาออก เพราะเป็นการปกป้องทางวิชาการอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าอาจจะมีการแทรกแซง ลิดรอนเกิดขึ้นภายใน แต่ผมเป็นคนนอก แน่นอนว่าผมไม่สามารถตอบเรื่องภายในของทางนิด้าได้”

อย่างไรก็ดี ดร.นพดล ให้ข้อมูลต่อว่า การทำโพลจำเป็นต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ และผู้สำรวจต้องมีขอบเขตจากเสรีภาพที่ได้รับ นักวิชาการที่ทำโพลต้องคำนึงและเล็งเห็นว่าโพลที่ทำจะมีผลอย่างไรกับสังคม เนื่องจากผลสำรวจที่ได้ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจได้ฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น แทนที่จะฟังแต่คนใกล้ตัว

1ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล หรือ ซูเปอร์โพล

ส่วนอะไรจะเป็นตัวบอกว่าผู้ทำโพลมีอิสระในการทำงาน หรือการทำงานของผู้สำรวจไม่เอนเอียง ดร.นพดล อธิบายว่า เวลาทำงานต้องเคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิจัย ที่สำคัญเมื่อได้ผลสำรวจมาแล้ว ต้องยึดเสียงจริงที่มาจากประชาชน

ถ้าทำตามนี้ นอกจากจะควบคุมขอบเขตของผู้สำรวจได้แล้ว ผลสำรวจที่ออกมาก็จะถูกต้อง และแม่นยำด้วย ส่วนผลที่ออกมาถ้ามีแนวโน้มไปทางใดทางหนึ่งบ่อยครั้ง อาจะทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อถือหรือไม่นั้น ดร.นพดล กล่าวว่า เรื่องนี้จะบอกว่าโพลไหนลำเอียงหรือไม่ลำเอียง อย่าไปยึดตามความรู้สึกส่วนตัว หรือความเชื่อทางการเมืองของตนเอง ต้องดูที่ระเบียบวิธีวิจัย

แล้วระเบียบวิธีวิจัย ที่บอกว่าต้องเคร่งครัดคืออะไร? ดร.นพดล อธิบายว่า ระเบียบวิจัยง่ายๆ ที่ต้องทำมี 4 ข้อคือ

1. ต้องมีฐานข้อมูลประชากรเป้าหมาย เช่น ถ้าเราจะสำรวจความคิดเห็นเรื่องการเลือกตั้ง เราต้องมีข้อมูลประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ

2. ต้องเลือกตัวอย่าง ที่เป็นตัวแทนที่แท้จริง หมายถึงต้องให้ทุกคนในฐานข้อมูลมีสิทธิถูกเลือก ซึ่งถ้าใช้วิธีเลือกตัวอย่างแบบไม่ครอบคลุม เช่น โทรศัพท์สัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว อาจเป็นวิธีที่ควบคุมงบประมาณได้ แต่จะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่ดี ผลที่ได้ก็เป็นเพียงแค่การคาดเดา

3. มีทฤษฎีการควบคุมความคลาดเคลื่อน

4. การสร้างเครื่องมือ หรือการสร้างแบบสอบถาม ที่มีทฤษฎีอยู่แล้วว่าตั้งคำถามอย่างไรให้ได้คำตอบที่มีประสิทธิภาพที่สุด

เช่น จะมีการแนะนำว่าต้องตั้งคำถามอย่างไร ให้ผู้ตอบลดอคติในการตอบลง นอกจากนี้เมื่อได้ผลมา ยังมีทฤษฎีวิเคราะห์คนที่ไม่ตอบคำถามอีกด้วย

nidapoll1NIDA Poll เป็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ ม. นิด้า

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจะใกล้เคียงกับความจริงได้ ต้องมีสัดส่วนการสำรวจที่เหมาะสมกับหัวข้อ เช่น อาจต้องลงพื้นที่เจอผู้คน 150 คน แต่อาจจะต้องโทรศัพท์อีก 50 คน

เพราะ 50 คน นี้อาจเป็นบุคคลที่มีพื้นที่ส่วนตัวสูง ไม่สะดวกให้พบ แต่เป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่แท้จริง ผู้สำรวจก็ต้องเอาข้อมูลมาประกอบให้ได้

ซึ่งการทำตามนี้โพลจะมีความแม่นยำ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสำนักโพลนั้น อย่างเช่นที่ผ่านมา ซูเปอร์โพลได้ทำสำรวจเรื่อง ประชาชนจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ก่อนการออกไปใช้สิทธิ 2 สัปดาห์

ผลสำรวจออกมา พบว่าเห็นด้วยร้อยละ 61.5 ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดเผยผลการเลือกตั้งว่าประชาชนเห็นด้วยกับร่าง รธน. ร้อยละ 61.4 ทำให้ผลโพลห่างจากผลการเลือกตั้งจริง เพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น

อ่านจนถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงได้คำตอบอยู่ในใจว่า การสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพล ไม่ว่าจะมาจากสถาบันใดหรือใครเป็นผู้จัดทำ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะกลายเป็นอิสระทางวิชาการหรือเป็นได้เพียงเครื่องมือในการสร้างภาพของคนบางกลุ่ม ก็อยู่ที่ตัวผู้จัดทำเองว่าจะเลือกรับใช้หลักวิชาการหรือรับใช้กลุ่มบุคคลและความเชื่อส่วนตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook