"รัฐบาลขาลง" คุกกี้เสี่ยงทาย หรือ เกิดขึ้นจริง?
จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยอมรับ รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 61
น่าสงสัยว่าทำไมเข้ามาบริหารประเทศจะครบ 4 ปี ในวันที่ 22 พ.ค. 61 นี้แล้ว แต่กลับมาเปรย ๆ ถึงเรื่องขาลง Sanook! News ขอไล่เรียงที่มาที่ไปให้เห็นภาพว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ที่พอจะทำให้ท่านผู้นำสูงสุดของประเทศกังวลเรื่องกระแสความนิยม
ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศว่าประมาณช่วง พ.ย. 61 จะมีการเลือกตั้ง แต่คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะเมื่อ 26 ม.ค. 61 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน
ซึ่งกางปฏิทินดูแล้ว หลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งน่าจะขยับออกไปเป็นราวเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. ปี 62 เท่ากับว่าเป็นการขยับเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นครั้งที่ 4 แล้ว
ส่วนการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งในครั้งที่ 1 – 3 นั้น ครั้งแรก (31 พ.ค. 57) บิ๊กตู่เอ่ยขึ้นหลังรัฐประหาร 1 สัปดาห์ ว่าจะใช้เวลาราว 1 ปี หรือตามสถานการณ์ จึงจะเริ่มเข้าสู่การเลือกตั้ง
ต่อมา 10 ก.พ. 58 ให้สัมภาษณ์กับ NHK สื่อญี่ปุ่นระหว่างเดินทางไปหารือทวิภาคีว่า กำลังเตรียมแผนจัดเลือกตั้งสิ้นปี 58 หรือต้นปี 59 แต่สุดท้ายก็เป็นไปไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกคว่ำ โดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.
จนมาปลายปี 28 ก.ย. 58 บิ๊กตู่ กล่าวระหว่างหารือทวิภาคีกับเลขาธิการสหประชาชาติ นายบุน คี มูน ว่า “คาดว่าจะประกาศเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560”
พล.อ.ประยุทธ์ ยังมายืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 58 ว่า “ก.ค. 60 ต้องมีเลือกตั้ง ถ้าไม่มีเลือกตั้ง ก็ไปสู้กันเอาเอง” ซึ่งเป็นการกล่าวก่อนที่ประชาชนจะไปลงประชามติ รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559
แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ผ่านประชามติ ซึ่งมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กำหนดให้มีกฎหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ ภายใน 8 เดือน ตั้งแต่ รธน. มีผลบังคับใช้ ทำให้จำเป็นต้องขยับการเลือกตั้งออกไปอีก และคาดการณ์ต่อว่าจะจัดเลือกตั้งได้ในปลายปีนี้
แต่ก็อย่างที่เห็นโรคเลื่อนเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง เมื่อนายกฯ พูดว่าไม่ได้สัญญาว่าจะเลือกตั้งวันไหน เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา สรุปจะ 4 ปี ท่านก็เลื่อนโรดแมปไปเบาๆ 4 ครั้ง ให้เข้ากับตัวเลขปีที่เข้าครองเมืองนั่นเอง
นอกจากโรคเลื่อนเลือกตั้ง ที่ทำให้คิดว่ารัฐบาลนี้เป็นขาลงตามที่บิ๊กตู่พูดแล้ว เรื่องเศรษฐกิจน่าจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนคำพูดของเขา
เมื่อโพลหลายสำนัก บอกว่าประเทศไทยดูดีน่ามาเริ่มลงทุนเสียจริงๆ ขณะที่บางโพลบอกว่า คนไทยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เพราะรัฐกับเอกชนร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่าปี 2561 เมืองไทยจะไร้คนจน
แต่ก็อย่างที่เห็นราคาสินค้าในท้องตลาดกลับเพิ่มขึ้น ไม่สอดคล้องกับรายได้และความเป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนคงเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะต้องเผชิญกันอยู่ทุกวัน
ส่วนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ความจริงแล้วคงไม่สามารถบอกได้ว่าคนส่วนมากคิดอย่างไร
แต่ถ้าประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ พ.ค. 57 ในขณะนั้นเริ่มส่อเค้าให้เห็นความรุนแรงจากการเผชิญหน้ากันระหว่างม็อบลุงกำนันสุเทพและกปปส. กับกลุ่ม นปช.
ซึ่งบิ๊กตู่คงไม่อยากให้ภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53 ที่เกิดการสูญเสียจำนวนมากในระหว่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้อนกลับมาอีกครั้ง
แม้ด้านหนึ่งรัฐบาลและคสช. ดูจะประสบความสำเร็จกับการทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่มีการออกมาประท้วงให้เห็น แต่ต้องไม่ลืมว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอยู่ภายใต้กฎระเบียบหรือคำสั่งที่ คสช. ในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์บังคับใช้
โดยเฉพาะคำสั่งห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน รวมทั้งการเชิญตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่มีแนวความคิดขัดแย้งหรืออาจจะก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคมไป "ปรับทัศนคติ" ในค่ายทหาร
นอกจากนี้ การที่กลุ่มคนหรือบุคคลที่เคยเป็นแนวร่วมสนับสนุนหรือส่งเสียงเชียร์การเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เริ่มเว้นระยะห่างออกไปมากขึ้น อย่างเช่นที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังออกปากเตือน พล.อ.ประยุทธ์ ว่า "ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่หากตู่แสดงให้ประชาชนเห็นถึงความปรารถนาดี จะทำให้มีคนสนับสนุนมากขึ้น"
ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสความนิยมที่ลดลงนั้นเกิดขึ้นจากฝั่งคนในรัฐบาลเอง ที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือกรณีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ/รมว.กลาโหม ซึ่งมีประเด็นการครอบครองนาฬิกาหรูหลายสิบเรือน ที่แม้เจ้าตัวจะยืนยันความบริสุทธิ์ใจพร้อมย้ำว่าเป็นของเพื่อนสนิทนำมาแลกเปลี่ยนกันใส่ แต่กระแสสังคมกลับไม่เชื่อเช่นนั้น
เมื่อสถานการณ์เดินทางมาถึงก่อนโค้งสุดท้าย ที่จุดหมายปลายทางคือการเลือกตั้ง เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกระบวนการแสดงออกอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ช่วงนี้เราจึงได้เห็นการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ยกตัวอย่างเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 ม.ค. 61) กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน
แต่ คสช. ก็งัดเอาข้อกฎหมายมาจัดการเอาผิดกับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยการส่ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับแกนนำ 7 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
ไล่เลียงเรื่องราวบางส่วน ที่คาดว่าเป็นที่มาของรัฐบาลขาลงของบิ๊กตู่ไปแล้ว เราลองมาฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการถึงกรณีนายกฯ ขาลงกันบ้าง
นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ Sanook! News ถึงคำว่าขาลงหมายถึงการ “ขาดความชอบธรรมทางการเมือง” ซึ่งกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากประชาชนที่เห็นด้วยว่าอยู่ในขาลงแล้ว ตัวเขาเองก็ยอมรับว่าอยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน
การที่รัฐบาลนี้เข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร โดยอ้างเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และเมื่อเข้ามาไม่มีประชาชนออกมาต่อต้าน เขาก็ถือว่าเป็นความชอบธรรมของเขา
แต่การเข้ามารักษาความสงบของบ้านเมืองนั้น ตามปกติแล้วไม่ควรอยู่นาน ต้องรีบกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อย่างรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างจะจัดการเลือกตั้ง แต่เกิดปัญหานานัปการ
อาจารย์ไชยันต์ จึงกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า “ถ้าต้องการจะสร้างความชอบธรรมให้กลับมา ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง รีบดำเนินการด้านกฎหมายและกำหนดวันให้ได้ อย่าไปคิดว่ายังทำงานไม่เสร็จ เพราะเรื่องการบริหารบ้านเมืองมันไม่มีวันเสร็จหรอก” อาจารย์ไชยันต์ยังกล่าวต่อว่า
“ตอนนี้ความมั่นคงของประเทศอยู่บนความเสี่ยง เพราะถ้าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอะไรไป ตอนที่ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ไม่มีคนที่ประชาชนยอมรับศรัทธามาทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ก่อนมีการเลือกตั้งเพราะนอกจาก รองนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนไม่ให้ความศรัทธาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว เรายังไม่มีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน มาจัดตั้งรัฐบาลด้วย”
gettyimages
จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดเอง และจากที่ประชาชนรับรู้ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องเสรีภาพ และปัญหาที่คนในรัฐบาลสร้างขึ้นเอง จนทำให้องค์กรอิสระทั้งหลายพลอยขาดความชอบธรรมไปด้วย ก็ทำให้รัฐบาลชุดนี้กลายเป็นรัฐบาลขาลงโดยสมบูรณ์แบบ
ซึ่งคิดว่าตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองคงรู้ดีอยู่แก่ใจว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่ที่ยังทำไม่ได้เป็นเพราะอะไรคงต้องติดตามกันต่อ เพราะสุดท้ายสำหรับประชาชนแล้ว คงไม่มีใครอยากให้ประเทศต้องตกอยู่ในสภาพ ขาลง ไปมากกว่านี้