โรดแมปสุดท้าย? สู่ปลายทางการเลือกตั้ง

โรดแมปสุดท้าย? สู่ปลายทางการเลือกตั้ง

โรดแมปสุดท้าย? สู่ปลายทางการเลือกตั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดศักราชต้นปี 2561 มา ดูเหมือนการเมืองไทยน่าจะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเลือกตั้ง

ท่าทีล่าสุด จับอาการจากผู้นำรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ล้วนแล้วแต่ระบุตรงกันว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นตามโรดแมปแน่นอน แม้จะมีเสียงจากฝ่ายการเมืองหรือนักสังเกตการณ์บางคนที่พยายามออกมาดักคอว่า คสช.มีแนวโน้มที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ 

Sanook! News ขอถือโอกาสนี้ลำดับช่วงเวลา ที่คาดว่าจะนำพาการเลือกตั้งมาให้ประเทศไทย ให้พอเข้าใจกันง่ายๆ ก่อนที่จะมานั่งจับตาดูไปพร้อมๆ กันว่ามันจะเป็นไปตามนี้หรือไม่?

904408042gettyimagesวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาล 13 ม.ค. 61

ที่ผ่านมาแล้วและมีผลอย่างยิ่งกับวันประกาศการเลือกตั้งก็คือเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61

เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. โดยร่างนี้มีการปรับแก้เนื้อหา ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป 90 วัน

ขณะที่วันที่ 26 ม.ค. 61 สนช. ได้ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ... หรือ พ.ร.ป.ที่มา ส.ว. แล้ว

โดยขณะนี้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งจะต้องส่งกลับให้ สนช. ภายใน 10 วัน

จึงทำให้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ หาก กกต. มีข้อท้วงติง ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะต้องตั้งคณะกรรมธิการร่วม 3 ฝ่าย แบ่งเป็น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. 5 คน / กกต. 1 คน / สนช. 5 คน มาพิจารณาปรับแก้

election-new(1)

แต่ถ้า กกต. ไม่มีข้อท้วงติง ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้นายกรัฐมนตรี และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตรวจสอบ โดยแบ่งระยะเวลาออกเป็น 5 วันแรกดูว่ามีผู้ใดท้วงติงว่า ร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้าไม่มี จะใช้เวลาอีกราว 20 วันเพื่อตรวจสอบรายละเอียดครั้งสุดท้าย ซึ่งก็จะเข้าสู่ช่วงเดือนมีนาคม ที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร

ขณะเดียวกันในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ตัดภาพมากรณีที่ กกต. มีข้อท้วงติง จนคณะกรรมธิการร่วม พิจารณาแก้ไขมาตราที่ท้วงติงร่วมกันเสร็จแล้ว ก็จะส่งให้ สนช. พิจารณาอีกครั้ง  

ถ้า สนช. เห็นด้วยก็จะส่งให้สำนักเลขาธิการนายกฯ ตามขั้นตอนในการขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ถ้า สนช. ไม่เห็นด้วย กับคณะกรรมธิการร่วม (คว่ำร่าง) เรื่องนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร อาจจะต้องถึงขั้นไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน

902805734gettyimagesนายกฯ ยกสแตนดี้ตัวเอง ให้นักข่าวถามเรื่องการเมือง และความขัดแย้ง ทำเนียบรัฐบาล 8 ม.ค. 61

ต่อมาถ้าทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ ไม่เข้าเงื่อนไขคว่ำร่าง เดือนมิถุนายน 61 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะประกาศ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันนั้นไป 90 วัน

อีกเรื่องที่ต้องจับตา เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. แล้ว คสช.มีเงื่อนไขผูกพันมากับคำสั่งหัวหน้า.คสช. 53/60 ข้อ 8  ที่ระบุว่า เมื่อมีประกาศ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ในราชกิจจานุเบกษา ต้องพิจารณายกเลิกกฎหมาย และประกาศ คสช. ที่เป็นอุปสรรคกับการเลือกตั้ง ที่เราได้ยินติดหูว่า การปลดล็อกการเมือง ก็คือเรื่องนี้นั้นเอง

เรื่องนี้ถ้า คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมือง เริ่มประชุมเพื่อกำหนดนโยบายพรรค และทำกิจกรรมต่างๆ ของพรรคได้

แต่ถ้า คสช. ไม่ปลดล็อก เรื่องอาจเป็นไปได้ 2 ทาง คือ ทางแรก คสช. เสนอให้ สนช. ขยายวันออกไป ทางต่อมาคือออกมาตรา 44 มาแก้ปัญหา ก็จะทำให้การเลือกตั้งถูกยืดเวลาออกไป (อีกครั้ง)

872751794gettyimagesพล.อ.ประยุทธ์ ประชุมเอเปก ที่เวียดนาม 10 พ.ย. 61

จากนั้นปล่อยเวลาผ่านไป 90 วัน นับจากวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา นับคร่าวๆ ก็จะเข้าสู่เดือนกันยายน 61 เมื่อถึงวันครบกำหนด นับจากวันนั้นไป ภายใน 150 วัน จะต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า กกต. จะใช้เวลาราว 51 วันในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศวันเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามช่วง 150 วันนี้ พรรคการเมืองต้องจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือไพรมารีโหวต (Primary Vote) จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปนี้ก็น่าจะมีวันเลือกตั้งทั่วไปในเดือน กุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม ปี พ.ศ. 2562 นั่นเอง

ถึงแม้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า เรากำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ถ้าทำความเข้าใจกรอบเวลา และขั้นตอนต่างๆ ไว้ ถึงเวลาที่ใครทำผิดคำสัญญา เราก็จะได้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง และรู้ว่าเมื่อการเลือกตั้งมาถึง เราควรใช้ สิทธิ และ เสรีภาพ รับมือกับเกมการเมืองต่อไปอย่างไร!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook