เปิดสถานการณ์สิทธิมนุษยชน “แอมเนสตี้” วอนรัฐเลิกละเมิดสิทธิเสรีภาพ!
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2560/61 จากการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 159 ประเทศตลอดปีพ.ศ. 2560
พบว่าหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย มีความพยายามคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบของประชาชนอย่างหนัก
แอมแนสตี้พบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักศึกษา ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ทนายความ สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วประเทศไทย ถูกภาครัฐและเอกชนละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ตลอด
โดยกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิ ได้แก่ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว / มาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา / พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งทั้งหมดมีเนื้อหาตีความขัดต่อมาตราฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกิจต้องปฏิบัติตาม
parliament
parliamentและเนื่องในปีนี้ครบรอบ 70 ปี ของปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) แอมเนสตี้จึงขอยื่นข้อเรียกร้องให้ทางการไทย 7 ข้อหลัก ต่อรัฐบาลคือ
1. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และกฎหมายอื่นๆ ที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ริดรอนสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีภาพ
2. เรียกร้องยุติการจับกุมควบคุมตัวโดยพลการ
3. ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
4. ผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย
5. ปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้ทำงานอย่างปลอดภัย
6. ไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยไปประเทศที่อันตราย และสานต่อการจัดตั้งระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยให้ใช้งานได้จริงตามมาตรฐานสากล
7. ลดโทษประหารชีวิต
krisdika
krisdika
ทั้งนี้ในทุกปีแอมเนสตี้ส่งจดหมายเชิญให้นายกรัฐมนตรี เดินทางมารับเอกสารรายงาน แต่ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มอบหมายให้ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มารับรายงานแทน
อย่างไรก็ตามในรายงานของแอมเนสตี้ยังระบุว่า ประเทศไทยยังคงดำเนินคดีอย่างเข้มงวดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักพิจารณาคดีแบบลับ
โดยเรื่องนี้รายงานของแอมเนสตี้กล่าวถึง กรณีศาลพิพากษาลงโทษจำคุก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง เพราะเห็นว่ามีความผิดเมื่อแชร์บทความหนึ่งของสำนักข่าวบีบีซีบนเฟสบุ๊ก ในรายงานยังกล่าวถึงการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนักวิชาการคนสำคัญ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เพราะความเห็นของเขาเกี่ยวกับสงครามยุทธหัตถีของพระมหากษัตริย์ที่เกิดในศควรรษที่ 16
อย่างไรก็ดีในรายงานยังกล่าวว่ามีการกดดันเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล และยูทูบ ให้ลบเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารย์สถาบันพระมหากษัตริย์ และยังขู่ที่จะดำเนินคดีกับผู้บริการอินเตอร์เน็ตที่ไม่ลบเนื้อหาด้วย ทั้งนี้ยังรวมถึงกรณีบุคคลที่อยู่ระหว่างการลี้ภัย สื่อสาร หรือแชร์ข้อความ ที่โพสต์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ทั้งนี้ในรายงานยังกังวลเรื่อง ข้อมูลพื้นฐานของประชาชนในประเทศ / ระบบยุติธรรม / เสรีภาพในการแสดงออกการสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ / การลอยนวลพ้นผิด / ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย / การสังหารนอกกระบวนการกฎหมายและการบังคับบุคคลให้สูญหาย / การขัดแย้งกันด้วยอาวุธ / การทรมานและการปฎิบัติหน้าที่โหดร้าย / การค้ามนุษย์
โดยช่วงสุดท้ายของการเปิดเผยรายงาน นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ดร.อันธิฌา แสงชัย รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายหลังแถลงสรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า
“และถึงแม้ว่ารายงานฉบับนี้อาจจะไม่สร้างความแปลกใจมากนัก แต่อยากให้ทุกคนนึกต่อไป และตั้งคำถามว่าเราจะร่วมมือกันปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไปอย่างไร?”
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม คลิ๊ก
ภายหลังการแถลงรายงานฯ มีเวทีเสวนาเรื่อง “70 ปี UDHR สิทธิมนุษยชนศึกษากับประเทศไทย” โดยมี ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, และนายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ตัวแทนเยาวชน ซึ่งเป็นแอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”
ในวงเสวนา นางกาญจนา ยังกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำคือให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงให้มีการวิพากษ์วิจารณ์
ทั้งนี้การที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และระบุจะใช้สิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 แต่แอมเนสตี้มีความเห็นว่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประกาศนั้น นางกาญจนา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ต้องมองว่าทำได้จริงหรือไม่ด้วย วันนี้ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องมองอย่างน้ำครึ่งแก้ว รัฐบาลตั้งใจจริง ถ้าไม่กล้าจริงคงไม่ประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้"
ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ ตัวแทนนายกฯ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ว่า รัฐบาลพยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่ และได้แก้ไขโทษจากเดิมให้ประหารชีวิตสถานเดียว เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิต ทั้งนี้ประเทศไทยไม่มีนักโทษประหารมา 8ปีแล้ว
โดยในวงเสวนายังกล่าวถึงหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ “เราถูกสอนให้รักกันอย่างเดียว แต่ไม่ได้ถูกสอนให้คิดต่างกันอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้” และ "ทุกวันนี้เราไม่มีทางเลือก เราไม่สามารถเกลียดกันได้เลย เราถูกยัดเยียดให้รักกันเพียงอย่างเดียว" ดังนั้นการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือการเรียนการสอนต่างๆ ในประเทศ ควรสอนให้รู้ว่าทุกคนคิดต่างกันได้ แล้วให้ใช้ปัญญาในการถกเถียงกัน โดยการเรียนการสอนไม่ควรเน้นท่องจำ ควรเป็นการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่มีความหมายอย่างแท้จริง