ยุคเปลี่ยนค่านิยมเปลี่ยน พ่อแม่จีนในเมืองใหญ่ไม่คาดหวังให้ลูกเลี้ยงดูยามแก่
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทประกันชีวิต CITIC-PRU ของจีน ต้องการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ตัว จึงทำการสำรวจและสัมภาษณ์ พร้อมจัดทำรายงานว่าด้วยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลใกล้ชิด” ขึ้นมา
ซึ่งตัวเลขจากรายงานฉบับนี้กำลังสะท้อนถึงพฤติกรรมและค่านิยมที่เปลี่ยนไปของพ่อแม่วัยรุ่นและวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น พ่อแม่ร้อยละเกือบ 90 ตั้งใจว่าจะใช้เงินเก็บและสินทรัพย์ของตัวเองเมื่อต้องใช้ชีวิตในวัยเกษียณ เป็นต้น
- พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นกังวลเรื่องอนาคตของลูก
ตัวเลขจากรายงานชี้ว่า พ่อแม่ในเมืองใหญ่จากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ที่ถูกสัมภาษณ์ร้อยละ 88 มีความกังวลเรื่องอนาคตของลูก โดยมีพ่อแม่ร้อยละ 26 ที่ต้องมีเรื่องให้เครียดเกี่ยวกับอนาคตของลูกราวสัปดาห์ละครั้ง และเพื่อที่จะปูทางให้กับลูก
ผู้ปกครองร้อยละ 52 ใช้เงินไปกับการศึกษาของบุตรเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไปในพ่อแม่ชาวเอเชียอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือพ่อแม่ร้อยละ 30 กล่าวว่าทุกสัปดาห์ตนจะสอนลูกเกี่ยวกับแนวคิดในการบริหารจัดการเงินและทรัพย์สิน และมีร้อยละ 45 ที่กล่าวว่ามักจะให้คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการเงิน
- คาดหวังให้ลูกเลี้ยงดูยามแก่เฒ่าไม่ถึงร้อยละ30
แม้ว่าพ่อแม่ที่ทำแบบสอบถามร้อยละ 47 จะมีภาระในการเลี้ยงดูพ่อแม่ของตน แต่มีพ่อแม่เพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่แสดงความเห็นว่าอยากให้ลูกสนับสนุนปัจจัยด้านการเงินในยามแก่เฒ่า ในขณะที่ร้อยละ 87 ตั้งใจว่าจะใช้เงินเก็บส่วนตัวและสินทรัพย์ที่มีในการเลี้ยงดูตัวเองยามชรา โดยร้อยละ 37 กล่าวว่าที่ตนเก็บเงินอยู่ทุกวันนี้หลักๆ ก็เพราะว่าต้องการเอาไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า
- ความหวังยามชรา: ลูกไม่ขาดการติดต่อ/ได้ไปเที่ยวกับครอบครัวหลังเกษียณ
พ่อแม่ชาวจีนให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว พ่อแม่ที่ถูกสอบถามร้อยละ 61 กล่าวว่าสิ่งที่ตนคาดหวังจากลูกมากที่สุดคือ “ติดต่อพูดคุยกับตนบ่อยๆ” ตามมาด้วยร้อยละ 56 กล่าวว่า “อยากให้ลูก ทำให้ตนยิ้มได้อย่างมีความสุข” นอกจากนี้ร้อยละ 53 กล่าวว่าอยากให้เข้าใจและอยู่ด้วยกันได้อย่างราบรื่น ไม่ทำให้ตนกังวลใจ
เมื่อถามถึงชีวิตหลังเกษียณ ร้อยละ 61 บอกว่าตนอยากไปท่องเที่ยวกับครอบครัวและสิ่งนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการออมเงินอีกด้วย
- ร้อยละ 80 อยากให้เลิกเล่นโทรศัพท์เวลากินข้าว
พ่อแม่ที่ได้รับการสัมภาษณ์ส่วนมากกล่าวว่า ตนรู้สึกได้ว่าเทคโนโลยีกำลังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยร้อยละ 59 กล่าวว่าคนในครอบครัวมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้เวลาที่จะได้พูดคุยกันนั้นลดน้อยลงไปด้วย ในขณะที่ร้อยละ 81 หวังว่าเวลากินข้าวร่วมกันทุกคนในครอบครัวจะสามารถวางโทรศัพท์ลงและสนทนากันให้มากขึ้น
พ่อแม่ร้อยละ 48 กล่าวว่าการเล่นโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว โดยมีร้อยละ 31 ชี้ว่าสาเหตุหนึ่งของการทะเลาะกันกับสามีหรือภรรยา มาจากการใช้เวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายไปกับมือถือมากเกินไป และร้อยละ 30 อยากให้คนรักหันมาสนใจตัวเองมากขึ้น