ฉลุย! มติ สนช. ผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-คัดเลือก ส.ว.
(8 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 211 คะแนนเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายแก้ไข
สำหรับประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขและที่ประชุมสนช.ได้เห็นชอบมีดังนี้
1.การตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ได้ไปสิทธิเลือกตั้ง โดยมาตรา 35 บัญญัติให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้ การยื่นคัดค้านการเลือกตั้งสส. การสมัครสส.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การสมัครเป็นกำนันและผู้ใหญ่ การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการเมืองฝ่ายรัฐสภา การดำรงตำแหน่ง การดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น
2.มาตรา 48 การสมัครรับเลือกตั้งให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับ โดยไม่ได้กำหนดให้หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ
3.การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง มาตรา 62 วรรคสอง กำหนดให้ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองต้องเป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยจะกำหนดให้จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคำนวณไม่ได้
4.การโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง มาตรา 73 บัญญัติให้ ห้ามไม่ให้หาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ แต่ผู้สมัครยังสามารถใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตนหาเสียงให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ
5.การกำหนดเวลาในการออกเสียงลงคะแนน มาตรา 86 กำหนดให้ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวล 8.00 น.-17.00 น.
6.การอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ มาตรา 92 กำหนดให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ ทั้งให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนสนช.จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป เว้นแต่จะมีการส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะส่งผลให้นายกฯ ต้องชะลอการนำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ล่าสุด สนช. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ส.ว. ด้วยคะแนนเสียง 202 เสียง จึงเป็นผลให้กฎหมายดังกล่าวผ่านการเห็นชอบของสนช. โดยขั้นตอนต่อไป สนช. จะส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย