คนการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กอัดกรมศุลฯ กรณีประกาศตรวจเข้มนักเดินทาง

คนการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กอัดกรมศุลฯ กรณีประกาศตรวจเข้มนักเดินทาง

คนการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กอัดกรมศุลฯ กรณีประกาศตรวจเข้มนักเดินทาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. โพสต์ในเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีกรมศุลกากรออกประกาศให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางออกนอกประเทศ หากมีทรัพย์สินมูลค่าเกิน 20,000 บาท จะต้องแจ้งพนักงานศุลกากรทุกครั้ง โดยเฉพาะของมีค่า เช่น นาฬิกา โน้ตบุ๊ก ส่วนสินค้าดิวตี้ฟรีต้องชำระภาษี ความตอนหนึ่งระบุว่า

“การเข้มงวดตรวจภาษีเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลเป็นสิ่งดี แต่อย่าใช้แต่กับชาวบ้านรายเล็กรายน้อยเท่านั้น เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการใช้พละกำลังจับแต่ปลาซิวปลาสร้อย ส่วนปลาใหญ่แบบปลากะโห้กลับปล่อยให้เล็ดรอดลอยนวลหนีไปได้อย่างไร!?! กรณีที่ตนร้องเรียนให้ตรวจสอบการเสียภาษีนาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนป่านนี้ยังไม่ออกมาแถลงความคืบหน้าต่อสาธารณชน

นอกจากไม่ตรวจสอบภาษีนำเข้านาฬิกาหรูแล้ว อธิบดีกรมศุลกากรยังปล่อยให้กรณีบริษัทน้ำมันต่างชาติยักษ์ใหญ่ หลบเลี่ยงการเสียภาษีน้ำมัน โดยมีการทำเอกสารสำแดงการส่งออกอันเป็นเท็จ ซึ่งตามกฎหมายของกรมศุลกากร อธิบดีมีหน้าที่ต้องสั่งปรับผู้หลบเลี่ยงภาษี โดยสำแดงส่งออกเป็นเท็จ เป็นจำนวน 4 เท่าของมูลค่าสินค้าที่รวมภาษีอากรแล้ว กรณีนี้น่าจะต้องปรับเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ถ้ามีการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาใช่หรือไม่

ขอฝากความถึงอธิบดีกรมศุลกากรว่า ถ้ายังประวิงเวลา 2 กรณีใหญ่นี้ต่อไป ตนจะร้องเรียนท่านต่อ ป.ป.ช. ตามมาตรา 154 ในเวลาอันสมควรต่อไป” นางรสนาระบุในโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว

["ศุลกากร" ออกประกาศ 2 ฉบับ เข้มงวดผู้โดยสารแบกกล้อง-โน้ตบุ๊ก ไปต่างประเทศต้องแจ้งทุกครั้ง]

ขณะที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. กล่าวถึงกรณีที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่นำติดตัวเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน โดยระบุว่า

ปกติขั้นตอนคือ ต่อคิวเช็คอินออกตั๋วโดยสาร แสดงหนังสือเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจค้นสัมภาระตามมาตรฐานรักษาความปลอดภัย แต่ประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ได้เพิ่มขั้นตอนที่จะเป็นภาระให้กับคนไทยอีก คือ ถ้าเราจะเอาของใช้ส่วนตัวไปใช้ต่างประเทศ เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ คอมพิวเตอร์พกพา จะต้องแจ้งกับพนักงานศุลกากร ที่ห้องทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกก่อน

โดยต้องแสดงของที่จะเอาไป แสดงเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) แล้วยังจะต้องถ่ายภาพสิ่งของที่เราจะเอาไปอีก 2 ชุดให้กับพนักงานศุลกากร เพื่อออกหลักฐานที่เรียกว่า "ใบรับแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวออกไป" เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตอนเดินทางกลับมาประเทศไทย ว่าของที่เราเอาติดตัวไปเป็นของที่เราใช้และเป็นเจ้าของตั้งแต่ก่อนออกเดินทางอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียอากร

พอขากลับเข้าประเทศ ปกติจะมีการตรวจสัมภาระ 2 ช่องทางคือกรณีสิ่งของต้องเสียอากร ให้เข้า "ช่องแดง" ที่เขียนว่า "มีของต้องสำแดง" โดยจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่หากไม่มีสิ่งของที่เข้าข่ายให้ตรวจสอบให้เข้า "ช่องเขียว" ที่เขียนว่า "ไม่มีของต้องสำแดง" ซึ่งจะสุ่มตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสารบางคน ปกติคนส่วนใหญ่ก็จะเข้าช่องเขียวกันหมด ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไปหลายคนจะต้องเดินเข้าช่องแดง

กรณีถ้าเราไม่แจ้งยืนยันสิ่งของที่เราเอาติดตัวไปนอกประเทศ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งของที่ใช้ตามปกติอยู่แล้วจึงไม่แจ้งสำเนารูปภาพก่อนออกนอกประเทศ ขากลับเข้าประเทศไทยเมื่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ตรวจพบโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน กล้องถ่ายรูป แทบเล็ต ที่เราพกไปด้วย รวมทุกอย่างแล้วมูลค่าเกิน 20,000 บาท ซึ่งไม่มีใบรับแจ้งว่าเป็นสิ่งของที่เรานำติดตัว

ผลคือถ้าเดินเข้าช่องเขียว เราจะโดนปรับและแถมถูกดำเนินคดีอาญา แต่ถ้าเดินเข้าช่องแดง เจ้าหน้าที่จะมีดุลยพินิจตัดสินว่าไอโฟน กล้อง นาฬิกาของเราที่ไม่ได้แจ้งสำเนารูปถ่ายไว้ก่อนตอนออกนอกประเทศ ควรเสียภาษีหรือไม่ เพราะให้แจ้งแล้วไม่แจ้งก็เข้าข่ายต้องสงสัย เจ้าหน้าที่สามารถประเมินภาษีใหม่ให้เราชำระที่จุดตรวจได้ โดยชำระเป็นเงินสด หรือจะรูดจ่ายผ่านบัตรเครดิตก็ได้ เรื่องนี้ถือว่าแปลกจริง ๆ เรียกได้ว่าเป็น Thailand Only

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “ขอฝากอธิบดีกรมศุลกากรด้วยว่า จะออกกฎใหม่ทั้งที ทำไมยังฝืนธรรมชาติทำให้ทุกคนเข้าข่ายผิดได้หมด โดยมีเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตัดสินชี้ถูกผิด แบบนี้ไม่ควร...โปรดเอาใจเขา มาใส่ใจเรา ก่อนมีคำสั่งกับประชาชน”

อ่านเพิ่มเติม -->

ศุลกากรแถลง ไม่ได้ตรวจกล้อง-โน้ตบุ๊กเข้มขึ้น แค่เอาระเบียบเก่ามาประกาศใช้ใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook