ย้อนดู 4 คดี “ตลาดวาย” เตือนคนไทยอย่าเพิ่งลืม
แม้ว่าที่ผ่านมา เวลาเกิดคดีใหญ่ๆ หรือเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คนไทยมักจะถูกสบประมาทจากคนไทยด้วยกันว่า “คนไทยลืมง่าย” แต่สำหรับยุคนี้ ดูเหมือน “การลืม” ของคนไทยน่าจะเกิดได้ยากขึ้น เห็นได้จากกรณี “เสือดำทุ่งใหญ่” ที่นอกจากจะมีศิลปินร่วมกันสร้างผลงานในพื้นที่สาธารณะเพื่อย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็ยังมี “มือมืด” ที่คอยกำจัดผลงานเหล่านี้ออกไป และยิ่งย้ำให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีกรณีเสือดำ ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นมากมาย และกำลังจะสลายไปจากความทรงจำของคนไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “มนุษย์” ด้วยกัน และนี่คือ 4 คดีที่คนไทยไม่ควรปล่อยให้ “ตลาดวาย” ไปกับสายลม
1. คดีอุ้มหาย “ทนายสมชาย นีละไพจิตร”
Angkhana Neelapaijit
คดีอุ้มหายครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีก่อน โดยผู้เคราะห์ร้ายคือนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่มักจะรับทำคดีด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเป็นทนายความให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าการทำงานของเขาหลายครั้งเป็นการเปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ และน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทนายสมชาย “ถูกทำให้หายตัวไป”
นายสมชายหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ขับรถชนท้าย ก่อนจะเข้าทำร้ายร่างกาย และนำตัวนายสมชาย ขึ้นรถไป กรณีการอุ้มหายครั้งนี้กลายเป็นข่าวครึกโครม เนื่องจากขณะนั้นนายสมชายกำลังรวบรวมรายชื่อชาวมุสลิมจำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มผู้ต้องหา ที่ถูกจับกุมในคดีปล้นปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากผู้ต้องหากลุ่มนี้ให้การว่าถูกทรมานเพื่อให้รับสารภาพ
จากกรณีการอุ้มหายครั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จำนวน 5 คนจะถูกสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและข่มขืนใจผู้อื่น แต่จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ และศาลได้สั่งยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ก่อนที่คดีจะถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อย่างไรก็ตาม การหายตัวไปของนายสมชายก็ยังเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยา ยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สามีของเธอ
2. การหายตัวของแกนนำกะเหรี่ยง “บิลลี่ - พอละจี รักจงเจริญ”
Amnesty International Thailand
นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งต่อมามีการตรวจสอบพบว่าบิลลี่ถูกคุมตัวไว้โดยอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เนื่องจากมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง อย่างไรก็ตาม พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เชื่อว่าสาเหตุการหายตัวไปของสามี น่าจะเป็นเพราะเขามีส่วนช่วยเหลือนายโคอิ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” และชาวบ้าน ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้านและยุ้งข้าว เมื่อปี 2554
แม้ว่าภายหลัง อดีตหัวหน้าอุทยานฯ จะถูกดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่คดีอาญาเกี่ยวกับการบังคับให้บิลลี่หายตัวไปกลับยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งมึนอก็ได้พยายามร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่ส่วนการหายตัวของบิลลี่ แต่ศาลกลับยกคำร้อง โดยระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ รวมทั้งยังยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเบื้องต้นทางดีเอสไอมีมติไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ก่อนที่จะหวนกลับมาสืบคดีอีกครั้ง และทุกวันนี้ มึนอก็ยังคงทำหน้าที่ดูแลลูก 5 คน และเดินสายเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสามีต่อไป
3. คดีวิสามัญฆาตกรรม “ชัยภูมิ ป่าแส”
คดีวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เมื่อนายชัยภูมิ ป่าแส หรือจะอุ๊ นักกิจกรรมชาวลาหู่ วัยเพียง 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ณ ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากนายชัยภูมิจะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังพบยาบ้า 2,800 เม็ด ซุกอยู่ในหม้อน้ำของรถยนต์ที่นายชัยภูมิโดยสารมาด้วย นำไปสู่วาทะสุดประทับใจของนายทหารระดับสูงอย่าง พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ ที่กล่าวว่าการยิงป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่นั้นสมเหตุสมผล “ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ปากคำของเจ้าหน้าที่กลับขัดแย้งกับพยานในที่เกิดเหตุ ซึ่งให้การว่านายชัยภูมิไม่มีอาวุธ ไม่เห็นว่ามีการต่อสู้ และเห็นว่านายชัยภูมิถูกทำร้ายร่างกาย ก่อนที่เจ้าตัวจะวิ่งหนีและถูกยิงล้มลง ซึ่งสุดท้ายมีรายงานว่าพยานบางรายถูกข่มขู่ ด้วยการนำลูกกระสุนมาวางไว้หน้าบ้าน
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจก็คือ ภาพจากกล้องวงจรปิดจำนวน 9 ตัว ที่นายทหารระดับสูงเคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ผ่านไปแล้ว 1 ปี ยังไม่มีใครได้เห็นภาพในกล้องวงจรปิดดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าได้รับฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดจากทหารแล้ว “แต่เปิดนำภาพออกมาไม่ได้”
4. มหากาพย์นาฬิกา (เพื่อน) ของ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ”
แม้กรณีนี้จะไม่มีใครหายตัวหรือเสียชีวิต แต่ก็เป็นประเด็นที่ประชาชนตั้งคำถามยกใหญ่ทีเดียว สำหรับมหากาพย์นาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เริ่มต้นจากเหตุธรรมดาอย่างการที่พลเอกประวิตรยกมือขึ้นมาบังแดด ขณะรอถ่ายรูปกับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 แล้วบังเอิญมีคนตาดีเห็นว่านาฬิกาที่เขาใส่อยู่นั้นคือนาฬิกา Richard Mille ที่น่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่งผลให้เพจดังสายขุดคุ้ยอย่าง CSI LA ลุกขึ้นมารวบรวมนาฬิกาหรูที่พลเอกประวิตรสวมใส่ในแต่ละวัน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนอยู่ที่ 25 เรือน รวมมูลค่าประมาณ 39.5 ล้านบาท ทว่าก็ไม่มีใครตอบได้ว่าเหตุใดเงินเดือนข้าราชการจึงสามารถซื้อหานาฬิการาคาแพงขนาดนั้นมาไว้ในครอบครองได้ และทำไมนาฬิกาเหล่านี้จึงไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประวิตร ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม พลเอกประวิตร ได้ชี้แจงประเด็นเรื่องนาฬิกาต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว โดยเจ้าตัวกล่าวว่านาฬิกาเหล่านี้ “ยืมมาจากเพื่อน” และคืนไปหมดแล้ว พร้อมยืนยันว่าหากตนมีความผิดจริง ก็พร้อมจะลาออก
นี่คือ 4 ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทั้งเลือนหายและกำลังจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทย และขณะที่เรากำลังตื่นตัวอยู่กับเสือดำ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้วิธีการเดียวกันนี้กระตุ้นความจำถึงชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ และกระตุกจิตสำนึกให้บรรดาผู้มีอำนาจนึกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่การนั่งเก้าอี้ชิลล์ไปวันๆ!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครบรอบ 14 ปี ถูกอุ้มตัวหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร
ทบ.แจงปมวิสามัญ นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่