"ติ๋ม ทีวีพูล" โล่งใจ ศาลปกครองชี้ กสทช. ผิดสัญญา ได้คืน 1,500 ล้าน
"ติ๋ม ทีวีพูล" เผยศาลปกครองชี้ กสทช. เป็นฝ่ายผิดสัญญา คู่สัญญาขอเลิกได้ เบื้องต้นได้เงินค้ำประกันคืน 1,500 ล้าน พร้อมอุทธรณ์เรียกค่าเสียหายอีกกว่า 700 ล้าน
"ศาลชี้ว่า กสทช. ผิดสัญญาจริง ระยะเวลาแจกกล่องก็ไม่เป็นไปตามสัญญา และการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ขณะที่ท่อส่งสัญญาณ หรือ มัคก็ไม่พร้อมที่จะให้บริการ เรามีสิทธิที่จะเลิกสัญญา" นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำสั่งศาลปกครองเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ยังระบุว่า ศาลยังมีคำสั่งให้ กสทช. คืนเงินค้ำประกันสัญญา (แบงก์ การันตี) ในงวดที่ 3 เป็นต้นไปให้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนที่ตนฟ้องเรียกค่าเสียหายอีก 700 ล้านบาท รวมถึงของดจ่ายค่าสัญญางวดที่ 2 เพราะบริษัทได้แจ้งขอยกเลิกใบอนุญาตแล้ว แต่เนื่องจากวันนี้ (13 มี.ค.) ศาลยกคำร้องนี้ บริษัทจึงจะขออุทธรณ์พร้อมส่งเอกสารให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมต่อไปภายในระยะเวลา 30 วันตามที่ศาลกำหนด
"เราพอใจมากในเรื่องที่ศาลชี้ว่า กสทช.ทำผิด และคิิดว่าคนที่ทำดิจิทัล ทีวี ก็เห็นกัน ประชาชนก็เห็นกันว่า กสทช.ทำผิด ดังนั้นจึงขอแสดงความยินกับทุกคนที่ทำดิจิทัล ทีวีเช่นกัน" นางพันธุ์ทิพากล่าว
อย่างไรก็ดี ก่อนเข้าฟังคำสั่งศาลปกครอง นางพันธุ์ทิพาระบุว่าในฐานผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยระบุว่า ตนคาดว่าวันนี้จะได้รับความเป็นธรรม เพราะมีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้ทำตามข้อกำหนดในสัญญา ทั้งเรื่องสเปกกล่องแปรสัญญาณ การติดตั้งอุปกรณ์เสริม การต่อเสาท่อส่งสัญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคแก่ประชาชนทั่วไปที่จะรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และเป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
"มั่นใจว่า ศาลจะให้ความยุติธรรม เพราะเป็นที่ประจักษ์ทั้งประเทศ ว่า กสทช. ทำผิดสัญญาและผิดคำมั่นชัดเจน ตั้งแต่การแจกกล่องแปรสัญญาณไม่ตรงตามกำหนดเวลา จำนวนไม่ถูกต้อง การประชาสัมพันธ์ก็ไม่เป็นไปตามกำหนดในสัญญา" นางพันธุ์ทิพากล่าว
อีกทั้ง หลายเรื่องผู้ประกอบการยังต้องมาทราบภายหลังการประมูล หลังเข้ามาดำเนินธุรกิจแล้ว เช่น เริ่มตั้งแต่เรื่องสเปกกล่อง ที่ไม่ได้คุณภาพ ประชาชนทั่วไปต้องไปซื้ออุปกรณ์เสริมราคา 2,000-3,000 บาทเอง หรือการเสาที่เป็นท่อส่งสัญญาณ หรือ MUX (มัค) เราก็เพิ่งมารู้ที่หลังว่า ประชาชนจะดูได้ก็ต่อเมื่อต้องติดเสาสูง 6 เมตร และต้องเปิดหน้าต่าง 1 ใน 3 ซึ่งมันเป็นไปได้เลย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการฟ้องร้องครั้งนี้ นางพันธุ์ทิพา ระบุว่า ต้องการขอเงินค้ำประกันสัญญา (L/G) มูลค่า 1,750 ล้านบาทคืน เนื่องจากเวลานี้ทั้งตนและผู้ประกอบการดิจิทัลทุกรายต่างต้องแบกรับภาระส่วนนี้ นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาจาก กสทช.อีกประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากงบกำไรขาดทุนของบริษัท
พร้อมกับยืนยันว่า ที่ผ่านมา บริษัทไม่ใช่ไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจ เป็นคนอ่อนแอ หรือไม่มีสายป่าน ขาดทุนแล้วเลิกกิจการ แต่ปัญหาคือสิ่งที่ กสทช.กำหนดมันไม่ได้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการด้วยซ้ำ
"ในประวัติการทำธุรกิจของเรามา 30 กว่าปี เรายังไม่เคยทำขาดทุนแม้แต่บาทเดียว มาตลอดชีวิต ทำไมเราจะมองธุรกิจไม่เป็น กลายเป็นคนที่อ่อนแอแล้วแพ้ไปได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเรามีความสามารถ เรามีคนเก่ง และบริษัท ไทยทีวี ดิฉันได้ยกให้ลูกไปแล้วด้วยซ้ำ แล้วพอเป็นอย่างนี้ก็กระทบไปถึงลูกดิฉันด้วย" นางพันธุ์ทิพากล่าว
อีกทั้ง ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยังต้องมารับภาระค่า MUX (มัค) ที่มีราคาสูงมาก เช่น ช่องมาตรฐาน (SD) ราคา 5 ล้านบาท ช่อง HD ราคา 15 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูล 2 ช่องทีวีดิจิทัล ได้แก่ช่อง Loca และ ช่องไทยทีวี ได้ยื่นฟ้องว่า กสทช. หลังจากมีคำสั่งตามหนังสือที่ สทช 4010/5495 ลว. 12 ก.พ. 2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เลขที่ B1-S20031-0024-57 และ B1-S20031-0017-57 และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนเลิกการประกอบกิจการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตและยุติการดำเนินการตามใบอนุญาตดังกล่าวไปก่อนแล้ว จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องเสียหาย