“Set Zero” กวาดล้างหมาจรจัด ดราม่าร้อนใหม่รับกระแสพิษสุนัขบ้า
แดดจ้าและอากาศร้อนระอุแบบนี้ กรมอุตุฯ ไม่ต้องประกาศก็รู้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปก็จะมีการรณรงค์ให้เจ้าของสุนัขหรือแมวพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้า ทว่าปีนี้ดูเหมือนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าจะร้ายแรงเป็นพิเศษ เพราะมีการประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวในพื้นที่ถึง 22 จังหวัดทั่วประเทศเลยทีเดียว แต่นอกจากอากาศร้อนและโรคระบาดครั้งใหญ่แล้ว โลกออนไลน์ก็ร้อนไม่แพ้กัน เพราะล่าสุด เพจชื่อดังอย่าง Drama-addict ได้จุดประเด็นเดือด นั่นคือการ “เซ็ตซีโร่” หรือการกวาดล้างสุนัขจรจัดด้วยวิธีการฆ่า เพื่อป้องกันโรคระบาด แก้ปัญหาสัตว์จรจัด และสร้างระบบการคัดกรองผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในบ้านขึ้นใหม่
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ชาวเน็ตพากันถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน โดยฝ่ายที่คัดค้านนโยบายนี้ ก็หยิบยกเอาเหตุผลเรื่องศีลธรรมมาหักล้าง รวมทั้งมองว่าการเซ็ตซีโร่เป็นแนวทางที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยเฉพาะบุคคลสำคัญอย่าง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกตัวแรง ให้สัมภาษณ์คัดค้านแนวทางนี้ โดยระบุว่าเป็นแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผิดหลักศาสนา และกล่าวว่าผู้ที่ลงชื่อสนับสนุนแนวทางนี้ “ต้องลาโลกไปก่อนเถอะ”
ในขณะที่ศาสดาชาวเน็ตอย่าง นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือจ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama-addict ได้ให้ความเห็นผ่านรายการ “คุยสร้างเมือง” ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 ว่าตนสนับสนุนแนวทางเซ็ตซีโร่สัตว์จรจัด ในกรณีที่สัตว์เหล่านี้ผ่านกระบวนการหาบ้านมาแล้ว แต่ไม่มีผู้รับเลี้ยง โดยเรียกร้องให้รัฐใช้วิธี “การุณยฆาต” คือการทำให้สัตว์หลับและตายอย่างไม่ทรมาน และทยอยกำจัดทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อจำกัดการระบาดของโรคที่เกิดจากสัตว์เป็นหลัก รวมทั้งแก้ปัญหาสัตว์จรจัดที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่คนทั่วไป และเห็นด้วยกับการกำจัดสัตว์จรจัดที่ไม่ติดเชื้อด้วย เพราะเป็นการทำให้สังคมมนุษย์ ที่มนุษย์เป็นคนตั้งกติกา มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่หากมีทางเลือกที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์เหล่านี้ ตนก็ยินดี นอกจากนี้ นพ.วิทวัส ยังยกตัวอย่างแนวทางการกำจัดสัตว์จรจัดในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้วิธีนำสัตว์เข้าห้องรมแก๊สให้หลับและตายอย่างไม่ทรมาน หรือสหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดตั้ง Kill Shelter หรือสถานที่สำหรับให้สัตว์จรจัดอาศัยอยู่ชั่วคราว หากไม่มีผู้มารับสัตว์เหล่านี้ไปเลี้ยง ก็จะฉีดยาให้หลับไป เป็นต้น
ในสถานการณ์ที่ดุเดือดทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนเช่นนี้ สัตว์จรจัด โดยเฉพาะสุนัขและแมว จำเป็นต้องถูกกำจัดเพื่อสวัสดิภาพของมนุษย์หรือไม่ และวิธี “เซ็ตซีโร่” เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจริงหรือ มาฟังมุมมองของนักวิชาการและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กัน
ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 12 เรื่อง “ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าวิธีการเซ็ตซีโร่นั้น “ไม่ช่วยแก้ปัญหาสัตว์จรจัด” และยอมรับว่าเมื่อ 40 – 50 ปีก่อน กรุงเทพมหานครเคยมีการทำลายสุนัขจรจัด ทว่าแนวทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
“เราพบว่าวิธีการทำลายมันไม่ได้จบ ถ้ายังมีการปล่อยเพิ่ม เหมือนตุ่มที่มันรั่ว เติมน้ำเท่าไรมันก็ไม่เต็ม ถ้าไม่อุดรูรั่ว เพราะฉะนั้น ปัญหาสุนัขจรจัดที่มีอยู่เยอะ อาจจะมาจากการเพิ่มจำนวนด้วยตัวมันเอง ขณะเดียวกัน จากสถิติ เรามีการทำหมันสุนัขเป็นแสนตัว และไม่ได้ทำตัวเดิม เราทำหมันตัวใหม่ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการปล่อยเพิ่ม ปัญหานี้ต้องจบ สุนัขต้องลดจำนวนลง แต่ถ้าการปล่อยสัตว์ยังมีอยู่ การเซ็ตซีโร่หรือวิธีการใดก็ตาม ก็ไม่มีทางสำเร็จ” สพ.ญ.เบญจวรรณ กล่าว พร้อมระบุว่าปัจจุบันนี้ ทาง กทม. ได้ใช้แนวทางการทำหมันสุนัขและแมว ทุกเพศ ทั้งจรจัดและมีเจ้าของ ปีละ 20,000 – 30,000 ตัว รวมทั้งบังคับให้สุนัขที่มีเจ้าของต้องจดทะเบียน มีการฝังไมโครชิปสุนัขจำนวน 6,000 – 7,000 ตัว และทำทะเบียนประวัติ
นอกจากนี้ กทม. ยังดำเนินการจับสุนัขจรจัด ราว 7,000 – 8,000 ตัว ไปเลี้ยงจนหมดอายุขัย และไม่มีการทำลายทิ้ง ในสถานที่พักพิงสำหรับสุนัขจรจัด โดยขั้นแรกจะนำไปไว้ที่ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เพื่อเป็นที่อยู่ชั่วคราว โดยสุนัขปกติจะรอเจ้าของมารับ ถ้าไม่มีเจ้าของมารับคืน ก็จะนำไปทำหมัน ฉีดวัคซีน และส่งต่อไปเลี้ยงที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประจำจังหวัดอุทัยธานี ส่วนสุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะถูกนำมากักตัวเพื่อสังเกตอาการ เมื่อสัตว์ตาย จะมีการส่งตรวจต่อไป และยืนยันว่าไม่มีการฆ่าสุนัขเหล่านี้ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายคนรักสัตว์ ในการจับสัตว์มาฉีดยา เจรจาชี้แจงแก้ปัญหาความขัดแย้งกับคนในท้องที่ และมีอาสาสมัครเข้าไปดูแลในสถานที่พักพิง รวมถึงคัดเลือกสัตว์ไปหาบ้านด้วย
แนวทางแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดโดยหาที่อยู่ให้สัตว์ของ กทม. สอดคล้องกับความเห็นของ ศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมปรัชญาและศาสนา ซึ่งระบุว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการหาที่อยู่ให้แก่สัตว์จรจัดเหล่านี้ โดยอาจจะกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพื้นที่ ค่าใช้จ่าย และบุคลากร
“ปัญหาแรกคือต้องเอาสุนัขออกจากถนน ไม่ให้เกิดโรคระบาด ไม่ให้มันยกพวกตีกันสร้างความเดือดร้อน ปัญหาที่สองคือเราไม่อยากฆ่ามัน ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ก็ต้องแก้ปัญหาที่ตามมา คือเลี้ยงสุนัขให้ถูก ไม่ให้ทรมาน หรือติดโรค หรือก่อปัญหา ไม่ยาก แต่คนเลี้ยงต้องตั้งใจ ต้องรักสุนัขอยู่บ้าง และต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่มีงบประมาณ ไม่ปล่อยให้คนเลี้ยงสุนัขไปตามยถากรรม และต้องมีคนที่รู้วิธี อาจจะเป็นสัตวแพทย์หรือคนที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสุนัขจำนวนเยอะๆ ธรรมชาติของสุนัขคือมันอยากอยู่กับคน ก็ต้องเปิดสถานที่ให้คนรับสุนัขไปเลี้ยงที่บ้าน แต่ต้องสัญญาว่าต้องเลี้ยงกันไปตลอด ไม่เอาไปปล่อยซ้ำ” ศ. ดร. โสรัจจ์ กล่าว
นอกจากภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาสัตว์จรจัดแล้ว ภาคประชาชนเองก็มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสัตว์ที่รวมตัวกันพาสัตว์จรจัดไปทำหมันและหาบ้าน หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS ที่เริ่มปฏิบัติการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ทำหมันและหาบ้านให้สุนัขและแมวจรจัดจากในหมู่บ้านของตัวเอง ก่อนที่จะขยายพื้นที่ไปยังตลาดและวัดในละแวกใกล้เคียง รวมทั้งเจรจากับคนในพื้นที่ให้ช่วยกันดูแลสัตว์จรจัดจนกว่าสัตว์เหล่านั้นจะหมดอายุขัย ในกรณีที่ไม่สามารถหาบ้านได้
“เราเข้าไปตกลงกับคนในซอยว่าจะทำหมันให้ แต่ให้คนในซอยช่วยกันเลี้ยง สัก 5 – 6 ปี หมาก็ตายแล้ว บางคนหัวคิดก้าวหน้า ฝึกสุนัขให้ทำงานกับยามในซอยเลย เราจำกัดจำนวนและทำให้สังคมรู้สึกว่า ถ้าเราแก้ปัญหาโดยคิดว่าเขาจะมีคุณค่าอะไรบ้าง เขาก็จะมีประโยชน์ในชุมชนของเรา” อ. ภาวรรณ หมอกยา ตัวแทนกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดของกลุ่ม
มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร
แม้ว่าสาเหตุของปัญหาสุนัขจรจัด ส่วนหนึ่งจะมาจากการควบคุมประชากรสุนัขที่ยังขาดประสิทธิภาพ แต่คุณสรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ หรือ “พ่อยอร์ช” เจ้าของเพจ Gluta Story ที่แปลงโฉม “กลูต้าและกอลลั่ม” สุนัขจรจัดเพศเมีย 2 ตัว ให้กลายเป็นสุนัขสุดชิคแห่งโลกโซเชียล มองว่าการเซ็ตซีโร่เป็นแนวทางที่ยังไม่สามารถเข้าถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ทัศนคติของคนไทย ที่ยังไม่ยอมรับสุนัขพันธุ์ทาง ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงามและภาพจำที่ดุร้าย ฝึกยาก ทำให้ไม่เกิดการอุปการะ และการไม่เห็นคุณค่า ก็ทำให้สุนัขพันธุ์ทางถูกทอดทิ้งได้ง่าย และการขาดระบบการควบคุมผู้ที่เลี้ยงสุนัข โดยไม่มีการตรวจสอบคัดกรองความพร้อมของผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ขาดความพร้อมนำสัตว์มาปล่อยในภายหลัง
“ลองนึกถึงร้านค้าข้างถนน ที่บางทีก็ไม่มีเวลา แต่เอาหมามาเลี้ยง 1 เดือนผ่านไป เขารู้สึกว่าไม่ได้อยากเลี้ยงจริง สุดท้ายก็เอาไปปล่อย ก็ทำให้มีปัญหาการทอดทิ้งหมาเกิดขึ้น ผมเลยคิดว่าควรจะต้องมีกฎหมายหรือข้อบังคับบางอย่างสำหรับคนที่จะเลี้ยงหมา ทำอย่างไรก็ได้ให้มีการคัดกรอง ให้การเลี้ยงหมายากขึ้น มีการลงทะเบียนก่อนรับเลี้ยงสัตว์ เพราะว่าไม่อย่างนั้นมันก็จะกลับไปจุดเดิม สมมติว่าฆ่าหมาตายให้หมดวัดเลย อีก 5 ปี 10 ปี ก็จะมีหมาจรจัดเกิดขึ้นเองอย่างงงๆ ด้วยนิสัยคนไทย”
“เรื่องที่สองก็คือพยายามปลูกฝังทัศนคติ ทำให้คนรู้สึกเห็นคุณค่า เห็นความน่ารักของสุนัขพันธุ์ทาง ให้คนมองว่ามันไม่ได้แย่นะ มันเก๋ได้ มันเหมือนหมาพันธุ์ทาง Branding พัง ใครเห็นก็ด่าเชิงลบ เราก็พยายาม Rebrand เขา ให้คนมองว่ามันเท่ มันคูลได้ ถ่ายรูปก็สวย” คุณสรศาสตร์กล่าว
ด้าน ศ. ดร. โสรัจจ์ ก็มองว่าในการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดทุกวันนี้ยังขาดผู้ที่มีความตั้งใจจริง มองตัวเองว่าเป็นเจ้าของปัญหา และลงมือแก้ไขในฐานะที่เป็นมนุษย์ ทำให้ความผิดตกไปอยู่ที่สุนัข อย่างไรก็ตาม สำหรับความขัดแย้งเรื่องการเซ็ตซีโร่สุนัขจรจัดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ ศ. ดร. โสรัจจ์ ให้ความเห็นว่า ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งระหว่างศีลธรรมกับความเป็นจริงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ
“ในทางปรัชญาจริยศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทฤษฎีการแก้ปัญหาที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ ทางไหนเป็นประโยชน์มากที่สุด ต่อคนจำนวนมากที่สุด ก็เลือกทางนั้น สมมติว่าไม่มีทางเลือกอื่นเลย เหลือแค่สองทาง และต้องมีคนเสียสละ ต้องได้รับความทุกข์ เสียผลประโยชน์ ก็ต้องเลือกทางที่มีคนเสียประโยชน์น้อยที่สุด การเซ็ตซีโร่เป็นทัศนะที่ชวนทะเลาะ และมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีใครอยากเห็นโรคพิษสุนัขบ้าระบาด และก็มีความเห็นที่สำคัญร่วมกันตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวิธีการอาจจะต่างกัน ก็ต้องคุยกันเพื่อหาทางเลือกที่สามที่พอรับได้ทั้งคู่ ก็ต้องปิดเฟซบุ๊กแล้วมาคุยกันต่อหน้า โอกาสที่จะเถียงกันรุนแรงจะน้อยลง เพราะจะเห็นสีหน้า และเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นคน ที่มีบ้าน มีครอบครัวเหมือนเรา” ศ. ดร. โสรัจจ์ สรุป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถกประเด็นร้อน “เซตซีโร่ หมาจรจัด” โซเชียลแนะกำจัดได้แต่อย่าโหดเหี้ยม
เปิดพื้นที่สีแดง 22 จังหวัด โรคพิษสุนัขบ้าระบาด เสียชีวิตแล้ว 3 ศพ