เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าผู้ชายถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ”

เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าผู้ชายถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ”

เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าผู้ชายถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจินตนาการว่าคุณเป็นคนธรรมดาแล้วมีซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังมา “จูบปาก” คุณคงรู้สึกฟินเหมือนในนิยาย ทว่าไม่ใช่กับเบนจามิน เกลซ ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงในรายการอเมริกันไอดอล ที่ถูกนักร้องสาว “เคที เพอร์รี” ใช้อภิสิทธิ์การเป็นกรรมการ ขโมยจูบเด็กหนุ่มวัย 19 ปีผู้นี้ โดยที่เขาไม่ยินยอม ซึ่งในสายตาคนอื่น เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเรื่องตลกขำขัน และน่าเสียดายที่ฝ่ายชาย “ไม่เล่นด้วย” แต่เกลซก็ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าตนรู้สึกอึดอัด และแม้ว่าเคทีจะขออนุญาตเขาก่อน แต่เขาก็ไม่มีทางยอมให้เธอทำเช่นนี้

กลับมาที่ประเทศไทย มีการเผยแพร่คลิปการสนทนาระหว่างคนขับแท็กซี่หื่นและผู้โดยสารชาย โดยคนขับขอจับอวัยวะเพศ และพูดคุยเรื่องถุงยางอนามัยอย่างหน้าตาเฉย อย่างไรก็ตาม แม้ชายคนนี้จะกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย แต่ก็ต้องแลกกับการถูกเนื้อต้องตัวหลายครั้ง

>> เมื่อผู้ชายถูกคุกคามทางเพศ และเขากลายเป็นตัวตลก

แม้ว่าในที่สุด ข่าวทั้งสองจะละลายไปกับกระแสข่าวอื่นๆ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าในขณะที่ผู้หญิงมากมายออกมารณรงค์เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศผ่านแฮชแท็ก #MeToo แต่สำหรับผู้ชาย กลับยังมีบางคนที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ ทว่าด้วยความเป็นผู้ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นเพศที่แข็งแกร่งและดูเหมือนไม่มีทางเป็นฝ่ายเสียหาย กลับทำให้ความรู้สึกของพวกเขาถูกละเลยไป

ผู้ชายถูกข่มขืนได้จริงหรือไม่
เมื่อเกิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศผู้ชาย คำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ “เป็นไปได้อย่างไร” ด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่าผู้หญิง ประกอบกับอิสรภาพทางเพศ จึงดูเหมือนว่าไม่มีโอกาสที่ผู้ชายจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ สำหรับประเด็นนี้ นพ. กัมปนาท พรยศไกร ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เจ้าของเพจ Sarikahappymen ยืนยันว่าผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ และส่วนใหญ่ ราว 70% มักเกิดขณะที่กำลังมึนเมา

“ผู้ชายไม่สามารถถูกผู้หญิงข่มขืนได้ เพราะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากผู้ชายไม่ได้แข็งแรงทุกคน และสาวๆ ก็ไม่ใช่อ่อนแอเสมอไป และอาจใช้วิธีรุมทำร้าย ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกระทำมักให้ข้อมูลว่าโดนมอมเหล้า มอมยา รู้สึกตัวอีกทีก็โดนจับมัดแล้ว ส่วนการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แปลว่าฝ่ายชายยินยอม ก็เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการแข็งตัวของอวัยวะเพศถูกคุมด้วยระบบประสาทกึ่งอัตโนมัติ คือบางทีก็เกิดจากอารมณ์ บางทีก็ไม่มีสาเหตุ ดังนั้นพอมีคนมาแตะ ก็แข็งตัวได้อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ เรื่องนี้มีศาลตัดสินแล้วด้วย ว่าการอ้างว่าอวัยวะเพศแข็งตัวไม่สามารถเอามาหักล้างว่าสมยอมได้” นพ. กัมปนาทกล่าว

ด้านคุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง แอดมินเพจ Thaiconsent มองปฏิกิริยาทางร่างกายนี้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่ผู้คุกคามมักใช้ในการอ้างว่าอีกฝ่ายยินยอม และส่งผลให้ผู้ชายและเด็กหลายคนที่เชื่อคำพูดนี้รู้สึกแย่มากที่ร่างกายของตนแสดงปฏิกิริยาตอบสนองในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ไม่พึงประสงค์ อาจเกิดความสับสนว่าตัวเองชอบที่จะถูกล่วงละเมิด และมีการโทษตัวเองตามมา ยิ่งกว่านั้น หากผู้กระทำเป็นผู้ชายด้วยกัน ก็อาจส่งผลให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดเกิดความสงสัยว่าตัวตนของตัวเองจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือสูญเสียความเป็นชาย ส่วนผู้ที่กลายเป็นเกย์หรือเป็นไบเซ็กชวลในภายหลัง ก็อาจไม่มั่นใจว่ารสนิยมทางเพศนี้เป็นผลมาจากการถูกล่วงละเมิดในอดีตหรือไม่ด้วย

iStockphoto

ผู้ชายถูกผู้หญิงข่มขืนถือว่าได้กำไรจริงหรือ
นอกจากจะถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่เพศชายจะถูกล่วงละเมิด อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนมักจะเข้าใจผิดและพูดถึงในเชิงตลกขบขัน นั่นคือการที่ผู้ชายถูกผู้หญิงล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่เป็นผู้กระทำจะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ประเด็นนี้ ดร.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายไว้ว่า

“กรณีนี้มันสะท้อนอำนาจ คุณค่าของผู้ชายคือการมีเพศสัมพันธ์ และสังคมไม่เคยเชื่อว่าผู้ชายจะสูญเสียคุณค่า ถ้าผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์เยอะๆ คุณค่าก็จะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งถ้ามีเพศสัมพันธ์กับหลายคน คุณค่าก็จะยิ่งลดลง และผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศเยอะก็จะถูกหาว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ชายมีความต้องการทางเพศสูงเป็นเรื่องปกติ ผู้ชายที่ไม่มีความต้องการทางเพศจะโดนไล่ไปบวช ดังนั้นเวลาที่ผู้หญิงข่มขืนผู้ชาย ก็เลยมีคำพูด เช่น ผู้ชายถูกข่มขืนไม่เสียหายอะไรเลย แต่ในความเป็นจริง ผู้ชายที่ถูกข่มขืนอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ อาจจะรู้สึกว่าฉันไม่ได้ต้องการ แล้วมันยิ่งทำให้อารมณ์ความรู้สึกตรงนี้ซับซ้อนมากขึ้น เพราะว่าเขาจะทำอย่างไรดีในเมื่อสังคมบอกว่าเขาควรมีความสุข แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเขาอาจจะไม่ได้มีความสุข และรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำและบอกใครไม่ได้ มันก็เป็นความกดดันรูปแบบหนึ่ง

ความเชื่อผิดๆ ว่าผู้ชายจะเสียใจน้อยกว่าผู้หญิง มันได้สร้างความสับสน ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และทำร้ายความเชื่อมั่นของคนคนนั้นในระยะยาว ซึ่งบาดแผลระยะยาวเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเช่น เกิดอะไรขึ้น ผู้กระทำมีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไร เพศสัมพันธ์ไม่พึงประสงค์นี้กินเวลานานขนาดไหน ต้องเก็บเป็นความลับขนาดไหน และเมื่อขอความช่วยเหลือหรือระบายกับผู้อื่น มีคนเชื่อ รับฟัง จริงจังกับเรื่องของเขาและพร้อมช่วยเหลือหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจมากกว่าเพศสภาพ แต่จริงๆ แล้ว ผู้ถูกกระทำอาจเจ็บปวดจากการถูกเมินเฉย โดยเฉพาะเมื่อคนที่ควรจะเชื่อหรือควรจะช่วยได้กลับละเลยปัญหาของเขา” คุณวิภาพรรณอธิบายถึงบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่ถูกเปิดให้กว้างขึ้นด้วยความเชื่อผิดๆ ที่ว่าผู้ชายเสียใจน้อยกว่าผู้หญิง

iStockphoto

การล่วงละเมิดทางเพศผู้ชายต่างจากผู้หญิงหรือไม่
ขึ้นชื่อว่าการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเกิดกับเพศชาย เพศหญิง หรือ LGBT+ ล้วนแต่สร้างประสบการณ์ที่เลวร้ายให้แก่ผู้ถูกกระทำทั้งสิ้น และหลายคนก็เลือกที่จะปกปิดเป็นความลับ แต่สาเหตุที่เพศชายไม่ปริปากถึงเหตุการณ์นี้กลับแตกต่างจากผู้ถูกกระทำที่เป็นเพศหญิง โดยในขณะที่ผู้หญิงเลือกที่จะเงียบเพราะความอับอายและรู้สึกสูญเสียคุณค่า ผู้ชายกลับไม่ได้ตระหนักว่าตนถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเข้าใจว่าการแตะเนื้อต้องตัวผู้ชายเป็นเรื่องธรรมดา

“เราเชื่อว่ามีผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาก แต่ที่ไม่มีใครออกมาพูด เพราะหนึ่ง เขาไม่ตระหนัก เท่าที่คุยเป็นการส่วนตัวกับเพื่อนผู้ชาย เราพบว่าบางคนเพิ่งมาตระหนักตอนโตแล้วว่าตอนนั้น ที่รุ่นพี่ทำแบบนั้น ตอนนั้นที่ลุงคนนั้นจับแบบนั้น มันคือการล่วงละเมิดทางเพศ สองคือเขาตระหนักแต่ไม่รู้จะส่งเสียงอย่างไร แล้วการที่เขาส่งเสียงออกมาก็จะถูกกระทำซ้ำจากสังคม เช่น โดนมองว่าไม่แมน โดนตั้งคำถามว่าโดนกะเทยข่มขืนเหรอ โดนผู้หญิงข่มขืนเหรอ เป็นไปได้อย่างไร มันคล้ายกับที่ผู้หญิงโดนข่มขืนแล้วโดนตั้งคำถามว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อยหรือเปล่า ไปในที่เปลี่ยวหรือเปล่า เมาหรือเปล่า คือสังคมแทนที่จะไปมองคนที่กระทำ กลับเพ่งเล็งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่า ยิ่งเป็นผู้ชาย ยิ่งถูกตั้งคำถามหนักเข้าไปอีก” ดร.อันธิฌา กล่าวถึงความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้ชายและผู้หญิง

ขณะเดียวกันก็มีผู้ชายบางกลุ่มที่เลือกที่จะไม่พูดถึงประสบการณ์อันเลวร้ายดังกล่าว และบังคับให้ตัวเองลืมเรื่องราวเหล่านั้น ด้วยนิสัยผู้ชายที่ไม่ชอบแสดงออกว่าตนมีปัญหา หรือพยายามแก้ไขปัญหานั้นเองเพราะไม่ต้องการให้คนรอบข้างไม่สบายใจ ซึ่งคุณวิภาพรรณกล่าวถึงลักษณะนิสัยของผู้ชาย ที่อาจเป็นสาเหตุของความเงียบในกรณีนี้ว่า

เวลาผู้ชายมีปัญหาจะไม่ค่อยอยากให้ใครรู้ หรือคิดแก้เองเพราะไม่อยากให้คนอื่นลำบาก พอเจอทางตันแล้วแก้เองไม่ได้ก็เลือกที่จะเงียบไป ซึ่งก็อยู่ที่สิ่งแวดล้อมด้วยว่ามีเพื่อนฝูงที่ช่วยแก้ไข ช่วยเรียกร้องความยุติธรรมขนาดไหน ถ้าไปจบที่การช่วยกันระบาย ชนแก้ว เมา ลืม แบบปัญหาอื่นๆ ที่ลืมได้ มันก็จบ หรือบางทีในกลุ่มก็เกือบจะมาช่วยสู้แล้ว แต่ติดที่ถ้าไม่มั่นใจแน่ๆ ว่าตัวเองจะชนะก็จะไม่ออกมาชน การโฟกัสที่ชนะหรือแพ้ ทำให้เกิดความเงียบ และเกิดบาดแผล เพราะที่จริงคนที่ถูกกระทำไม่ได้ต้องการชัยชนะ แต่ต้องการขั้นตอนที่เปลี่ยนเขาจากเหยื่อไปเป็นนักสู้ อีกประการคือ ผู้ชายมักไม่ค่อยสื่อสารปัญหาจากมุมของตัวเองในนามตัวเอง เช่น เวลามีความขัดแย้งประมาณนี้ ก็มักจะยกประเด็นว่าถ้าเอาเหตุการณ์นี้มาสลับเพศ มันจะยุติธรรมไหม ซึ่งมันก็ช่วยให้เข้าใจง่ายแต่มันไม่ได้ช่วยให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วผู้ชายรู้สึกอย่างไร”

iStockphoto

คนเข้มแข็งที่สังคมมองข้าม
ในขณะที่เรารับรู้ตลอดมาว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี และไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตน โดยเฉพาะเรื่องเพศได้อย่างเป็นอิสระ แต่คำว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” เอง ก็บีบให้ผู้ชายต้องเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นผู้นำ มีรายได้ และที่สำคัญคือต้องมีสมรรถภาพทางเพศ ดังนั้น คนในสังคมจึงมองว่าผู้ชายไม่ใช่ฝ่ายที่จะถูกกระทำทางเพศได้ ส่งผลให้ผู้ชายไม่มีโอกาสเรียนรู้ว่าต้องรับมืออย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ และสังคมเองก็ยังขาดกลไกทางสังคมที่ดีพอที่จะดูแลผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิด ซึ่งต่างจากผู้หญิงที่เห็นปัญหาได้ชัดเจนกว่า และมีกระบวนการช่วยเหลือที่ต่อเนื่องยาวนานและเป็นระบบมากกว่า แม้ว่าจะมีบทลงโทษผู้หญิงที่ล่วงละเมิดทางเพศผู้ชายแล้วก็ตาม

แก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ จะทำอย่างไร
เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเพศ ทั้ง ดร.อันธิฌาและคุณวิภาพรรณเห็นตรงกันว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ และปลายทางคือความทุกข์ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ควรแก้ที่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องรื้อมุมมองและบรรทัดฐานเรื่องเพศที่เอื้อไปสู่การใช้ความรุนแรงทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อกันได้ง่าย

“เราต้องเปลี่ยนให้คนหันมาเคารพเนื้อตัวร่างกาย เคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่ตัดสินกันง่ายๆ ด้วยเรื่องการแต่งกายหรือประสบการณ์ทางเพศ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การตัดสินคุณค่าของคน ไม่ว่าประสบการณ์ทางเพศจากเพศไหน คุณค่ามันควรอยู่ที่ว่าคุณมีความสุข มีความพอใจกับสิ่งเหล่านั้นไหม คุณรู้สึกว่ามันอ่อนโยน คุณรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติที่ดีมากน้อยแค่ไหน สิ่งนั้นต่างหากคือคุณค่า ไม่ใช่จำนวนหรือรูปแบบที่มันตื้นๆ” ดร.อันธิฌากล่าว

“อยากให้สังคมพยายามเข้าใจเหตุผลว่าทำไมคนคนหนึ่งเลือกที่จะเงียบก่อน และช่วยกันทำให้วัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เขาเงียบมันจางหายไป ต่อให้ใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปีก็ต้องทำ ขณะเดียวกัน สังคมต้องรับฟังผู้ชายด้วย อำนวยความสะดวกให้เล่าความในใจออกมา ยืนยันว่าการถูกกระทำไม่ใช่ความผิดของเขาที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ แต่เป็นเพราะถูกเอาเปรียบในสถานการณ์ที่อีกฝ่ายเอาเปรียบได้ต่างหาก” คุณวิภาพรรณสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook