ครม. เคาะสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากอู่ตะเภา - กทม. ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อสร้างภาพลักษณ์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเห็นชอบให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในรูปแบบ PPP NET CROSS
โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้มีระยะทาง 220 กิโลเมตร ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะใช้เวลาจากสนามอู่ตะเภาเข้ากรุงเทพฯ ไม่เกิน 45 นาที มีทั้งหมด 5 สถานี คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ราคาค่าโดยสารสูงสุด 330 บาท
ทั้งนี้ ครม. ยังอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับเลือก และอนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูง ในกรอบวงเงิน 3,570.29 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินร่วมลงทุนกับเอกชนในกรอบวงเงิน 119,425.75 ล้านบาท
โดยรัฐทยอยจ่ายให้เอกชนแบ่งจ่ายเป็นรายปี ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และให้รัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของ รฟท. ในวงเงิน 22,558.06 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รฟท. สำนักงาน อีอีซี และส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป
ซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธา การพัฒนาพื้นที่ ค่าบริการโดยสาร ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมถึงการบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ ในระยะเวลา 50 ปี ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารรวมถึงจัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่แบ่งให้รัฐบาล และเมื่อครบระยะเวลา 50 ปีจะต้องคืนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดให้กับรัฐ