เปิดงานวิจัยราชภัฏสร้างงาน-เงินให้ชุมชน

เปิดงานวิจัยราชภัฏสร้างงาน-เงินให้ชุมชน

เปิดงานวิจัยราชภัฏสร้างงาน-เงินให้ชุมชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องโดย : ชุลีพร อร่ามเนตร

1-5 เมษายนนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกันจัดงาน ประชุมวิชาการระดับชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏครั้งที่ 1 เรื่องการวิจัยพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแผ่นดินไทย แปรผลงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็คเมืองทองธานี

โอกาสนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดวันที่ 1 เมษายน เวลา 09.00 น.

รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.) ในฐานะเจ้าภาพบอกว่า ถือเป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของชาวราชภัฏซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการประกาศศักยภาพด้านการศึกษา วิชาการ ให้ประชาชน ตลอดจนคนในแวดวงการศึกษาต่างๆ ได้เล็งเห็นคุณภาพงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอย่างแท้จริง ภายในงานมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับชาติและนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ครอบคลุมการศึกษา-ท่องเที่ยว-วิสาหกิจชุมชน-อาหาร-ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม, หอเกียรติยศ (Hall of Fame) รวมทั้งกิจกรรมความบันเทิงตลอดงาน และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปทุกภูมิภาคอีกด้วย

ในส่วนของ มร.สส. ได้นำงานวิจัยไบโอดีเซล ของ ผศ.ชัยศรี ธาราสวัสดิ์พิพัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำน้ำมันที่ใช้แล้ว เช่น น้ำมันทอดหมู ทอดไก่ ทอดปาท่องโก๋ มาผลิตเป็นไบโอดีเซลที่มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำมันดีเซล โดยการผลิตไบโอดีเซลจากโมเดลงานวิจัย ทำได้ 50-100 ลิตรต่อครั้ง

พร้อมทั้งงานวิจัยการผลิตกลีเซอรอลบริสุทธิ์จากของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล ไปผลิตเป็นสบู่น้ำยาทำความสะอาดพื้น และน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศการนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการของ ม.ขอนแก่นประจำปี 2552 ในหัวข้อการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ซึ่งอบรมให้ชาวบ้านไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง


ทั้งนี้การทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน นำปัญหาที่ได้จากการทำงานมาแก้ไข ได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน เผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และทำให้นักศึกษารู้จักช่วยเหลือคนในสังคมได้ด้วยในอนาคต

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.) ที่นำงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาไอศกรีมดอกไม้ไทยที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์" ที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการทำวิจัยไอศกรีมดอกไม้ไทยในอัมพวาจ.สมุทรสงคราม จนประสบความสำเร็จในชื่อตราสินค้า ไอศกรีมวันมอร์ (ONEMORE) ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระชะลอความแก่-ต้านมะเร็งมาโชว์ในงานด้วย

ศ.นิพนธ์ เฮงสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มบส. บอกว่า มบส.ได้รับทุนโครงการ IRPUS สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เน้นทำวิจัยตามแนวคิดเทรนด์ส โมเดล ยกระดับความรู้ความสามารถของคณาจารย์เสริมสร้างการเป็นนักคิดแก่นิสิต โดยส่งเสริมให้ลงพื้นที่ทำงานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและชุมชน นำงานวิจัยไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จนได้รับรางวัลป๊อปปูลาร์โหวต ในการจัดแสดงผลงานวิจัยของ สกว. เมื่อปี2551 ขณะนี้จัดแสดงผลงานพัฒนาเทคโนโลยีทุนปริญญาตรีสกว.ครั้งที่ 7 : IRPUS 52 งานวิจัยสร้างปัญญา พัฒนาประเทศ วันที่ 26-29 มีนาคมณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอนถือเป็นการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

 วัชริศร์ มีบุญสม นิสิตชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในนิสิตที่ร่วมวิจัย กล่าวว่า การทำวิจัยเป็นการ  ฝึกฝนให้นิสิตรู้จักคิดวิเคราะห์และทำวิจัยในชั้นเรียน รู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก คิดค้นงานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ สร้างฐานโอกาสในการมีงานทำในอนาคตเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว

ขณะที่ปัญจรัตน์ วงศ์นภาพรรณ ผู้ประกอบการไอศกรีมวันมอร์ กล่าวว่าการใช้ดอกไม้อัมพวาเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value Added) ทางการตลาดให้แก่ท้องถิ่น และยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (Anti-Oxidant) ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคนอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตเพราะความแปลกใหม่แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัย สูตรข้าวยำต้นตำรับของชาวใต้ ของมรภ.ยะลาที่ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพมีรายได้ หรือวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมใต้ ศึกษาการแสดงดนตรีปอเนาะลิเกกูรู รวมไปถึงงานวิจัยพัฒนาอาชีพพื้นเมืองผ้าบาติก โดยทุกๆงานวิจัยเป็นการส่งเสริม พัฒนาการแสดงให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์พื้นเมืองของชาวปักษ์ใต้

ขณะที่มรภ.จันทรเกษม นำเสนองานวิจัยสุขศาสตร์นมแพะ เรียนรู้กระบวนการเลี้ยงแพะไปจนกระทั่งการผลิต ทำอย่างไรไม่ให้มีกลิ่นคาว ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาสุขศาสตร์นมแพะให้มีคุณภาพ และอบรมความรู้ให้แก่ชุมชนนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิต

ผู้ประกอบการที่สนใจงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและต่อยอดเป็นธุรกิจได้สามารถหาคำตอบได้ในงานของ "ราชภัฏวิจัย" รับรองไม่ผิดหวัง

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook