เปิดวงการ ‘มาเฟีย’ ช่วยนักเรียนโกงข้อสอบของอินเดีย
ฤดูสอบไฟนอลช่วงเดือนที่ผ่านมาในอินเดีย ทำให้แก๊งมาเฟียช่วยนักเรียนโกงข้อสอบสามารถทำรายได้มหาศาล สะท้อนปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาและการจ้างงานในอินเดีย
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า ฤดูการสอบประจำปีของอินเดียในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันอันดุเดือดของนักเรียนหลายสิบล้านคนที่ต้องการเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยที่มีอย่างจำกัด ขณะเดียวกัน “แก๊งมาเฟีย” ที่ช่วยโกงข้อสอบก็ต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อรองรับความต้องการของนักเรียนจำนวนมากที่อยากได้คะแนนสอบสูงๆ เพื่อให้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ
“แก๊งมาเฟียโกงข้อสอบ” เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มุ่งผลกำไรจากความสิ้นหวังของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งจบการศึกษากันปีละประมาณ 17 ล้านคน แต่มีตำแหน่งงานเปิดให้เพียงประมาณ 5.5 ล้านตำแหน่งต่อปี เท่านั้น
สัปดาห์ก่อน มีข้อสอบระดับชั้นมัธยม 2 ชุด รั่วไหลและเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในแอปพลิเคชัน WhatApps ประมาณ 90 นาที ก่อนที่จะถึงเวลาสอบ ทำให้นักเรียนมากกว่า 2.8 ล้านคนในกรุงนิวเดลีและพื้นที่ใกล้เคียงถูกสั่งให้สอบใหม่อีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งทำให้นักเรียนหลายคนไม่พอใจ เพราะได้ทุ่มเททำข้อสอบอย่างเต็มที่ไปแล้ว แต่ยังต้องมานั่งอ่านและติวข้อสอบอีกครั้ง อีกทั้งยังต้องกังวลว่าคนที่โกงข้อสอบอาจได้คะแนนสูงกว่า
การโกงข้อสอบในอินเดียถือเป็นสิ่งที่พบได้อย่างแพร่หลายและมีเตรียมการกันอย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นักเรียนมากกว่า 1,000 คนในรัฐพิหาร หนึ่งในรัฐที่จนที่สุดในอินเดีย ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะถูกจับได้ว่าโกงข้อสอบ และรัฐพิหารเองก็เคยโด่งดังไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2015 ที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตว่าผู้ปกครองจำนวนมากปีนอาคาร 5 ชั้น เพื่อส่งคำตอบให้นักเรียนในห้องสอบ จนรัฐต้องติดกล้องวงจรปิดในห้องสอบ และบังคับให้นักเรียนทุกคนถอดรองเท้าและถุงเท้าไว้หน้าห้องสอบ
นอกจากนี้ นักเรียนที่ได้คะแนนศิลปะสูงสุดในประเทศเมื่อปี 2016 ก็ถูกริบใบประกาศนียบัตร หลังจากมีพิรุธหลายจุด รวมถึงตอนที่เธอให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ว่า เธอเชื่อว่ารัฐศาสตร์เป็นการเรียนเกี่ยวกับการทำอาหาร เมื่อมีการสืบสาวราวเรื่องไปจนพบว่าคนที่ทำข้อสอบให้เธอเป็นชายวัย 42 ปี
ผู้อำนวยการศูนย์วิจันนโยบายของอินเดียแสดงความเห็นว่า การโกงข้อสอบเป็นสัญญาณเด่นชัดที่ชี้ว่าระบบการศึกษาอินเดียล้มเหลว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันจากคุณสมบัติที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้สูงมาก และระบบมุ่งเน้นแต่การสร้างโรงเรียนใหม่ๆ เพียงอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจคุณภาพการศึกษา โดยการศึกษาวิจัยพบว่า เฉลี่ยประมาณครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่ได้ขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สามารถอ่านหนังสือของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เท่านั้น
อีกปัญหาใหญ่ก็คือการวัดผลครูและผู้บริหารการศึกษาจากเปอร์เซ็นต์ของนักเรียนในโรงเรียนหรือ ในเขตที่สอบผ่าน ทำให้ครูและเจ้าหน้าที่การศึกษามองข้ามการโกงข้อสอบหรือแม้กระทั่งช่วยโกงข้อสอบ
นักเรียนมัธยมในกรุงนิวเดลีคนหนึ่งเปิดเผยว่า เขาได้แอบถ่ายภาพกระดาษข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ ก่อนจะขออาจารย์ไปเข้าห้องน้ำ เพื่อส่งภาพเหล่านั้นไปยังเบอร์โทรศัพท์ลึกลับที่เขาได้มาเมื่อไม่กี่วันก่อนสอบ และอีกไม่กี่นาทีต่อมา เบอร์นั้นก็ส่งคำตอบมาให้เขา ซึ่งแม่ของนักเรียนคนดังกล่าวได้แก้ต่างว่านี่ไม่ใช่การโกงข้อสอบ แต่เป็นทางออกสำหรับลูก หลังจากที่เธอจ่ายเงิน 16,000 หรือประมาณ 7,700 บาท เพื่อให้ได้เบอร์โทรศัพท์นั้นมา
ผู้ปกครองของนักเรียนคนนี้เล่าว่า ติวเตอร์ที่สถาบันติวสอบเสนอให้เธอจ่ายเงินแลกกับเบอร์ลึกลับที่จะช่วยลูกชายของเธอทำข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากลูกชายของเธอเรียนอ่อนมาก และเธอเองก็ไม่อยากให้เขาเรียนซ้ำชั้น ซึ่งการจ่ายเงินให้เครือข่ายโกงข้อสอบนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่หลายคนทำกัน และสุดท้ายลูกชายของเธอก็สามารถสอบผ่านทุกวิชา ได้สมัครเรียนถ่ายภาพ โดยหวังว่าจะจบมาเป็นช่างภาพมืออาชีพ