เผยตัวตนและแนวคิด 'F4' แห่งการเมืองยุคใหม่เมืองไทย
4 นักการเมืองรุ่นใหม่จาก 4 พรรคการเมือง เปรียบได้ดั่ง F4 อดีตศิลปินวัยรุ่นชื่อดังระดับเอเชีย แสดงทรรศนะเกี่ยวกับประชาธิปไตยและกองทัพในเวทีสื่อนานาชาติ วาดอนาคตการเมืองใหม่ของไทยในครรลองประชาธิปไตย
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศไปมากมาย ทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงจุดยืนว่า อนาคตการเมืองไทยควรขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งและปัญหาการเมืองแบบเดิม ๆ วนกลับมาฉุดรั้งอนาคตของคนรุ่นต่อไป
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT ได้จัดเสวนาในหัวข้อ 'Move Over Dinosaurs (ก้าวข้ามไดโนเสาร์)' พูดคุยกับนักการเมืองรุ่นใหม่ 4 คนจาก 4 พรรคการเมือง ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติพัฒนา ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช จากพรรคเพื่อไทย และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ยุวประชาธิปัตย์ เพื่อฟังมุมมองต่อประชาธิปไตยและกองทัพ รวมถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการนำประเทศไทยกลับเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ผมจะเสนอคำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตย
การปฏิเสธนายกฯ คนนอกและประท้วงรัฐบาลทหารในปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อเรามีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองในการเสวนาครั้งนี้ ตนอยากเห็นการให้คำมั่นสัญญา โดยจะเรียกว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กับประเทศนี้
ข้อแรก เราต้องเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ข้อสอง หลังจากการเลือกตั้ง พรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยทั้งหมดต้องยืนยันว่าจะไม่เอานายกฯ คนนอก
ข้อสาม พรรคฝ่ายประชาธิปไตยร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการที่ประชาชนเลือกเข้ามา แล้วผ่านการลงประชามติ
ข้อสี่ พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยทั้งหมดเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ
เหตุผลก็เพราะ หากดูการแบ่งแยกอำนาจของประชาชนสมัยใหม่ เรามีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทว่าฝ่ายบริหารถูกควบคุมด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาไม่สามารถดำเนินนโยบายที่พวกเขาต้องการได้ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ เราต้องต่อสู้กันอย่างหนักและยาวนานเพื่อให้วุฒิสมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน เพราะก่อนปี 2540 ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง หลังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แล้ว ส.ว.จึงมาจากการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันเรากลับไปสู่การแต่งตั้ง ส.ว. แบบในอดีต ส่วนอำนาจตุลาการ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้พิพากษาเลือกตั้งกันเอง รวมกลุ่มกันเอง และไม่ยึดโยงกับประชาชน
นั่นหมายความว่าการปกครองของ คสช.จะยังคงอยู่กับเราต่อไป แม้นายกรัฐมนตรีจะลงจากตำแหน่งแล้ว จึงเป็นเหตุว่าทำไมตนจึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พรรคอนาคตใหม่พรรคเดียวไม่สามารถทำได้โดยลำพัง พรรคเพื่อไทยเคยพยายามมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่เราต้องใช้พลังของพวกเราทั้งหมดในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกัน
สำหรับตนแล้ว นี่ไม่ใช่การทำเพื่อพรรคของตนเอง แต่เพื่ออนาคตของประเทศ เราจึงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มั่นใจว่า ต่อจากนี้อำนาจของกองทัพจะลดลง ดังนั้น หลังจากนี้ เมื่อเราทำกิจกรรมทางการเมืองได้แล้ว ตนจะเสนอคำมั่นสัญญานี้กับทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย นั่นก็คือ 1 คำมั่นสัญญา 4 แนวทาง 1 เป้าหมาย เพื่อฟื้นฟูให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศไทย
วราวุธ ศิลปอาชา: การเมืองไทยเหมือนละคร
บางคนอาจพูดว่าตนเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง แต่ที่จริงแล้ว ตนเกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่เกิดเมื่อปี 2516 คุณพ่อ (บรรหาร ศิลปอาชา) ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2519 ตนติดตามไปแจกใบปลิวตอนอายุ 3 ขวบ
ในอดีตมีหลายอย่างเกิดขึ้นในการเมืองไทย อย่างที่คุณธนาธรพูดถึงการรัฐประหารและความผิดพลาดของนักการเมืองรุ่นก่อน ตนไม่เถียงว่านักการเมืองถูกวาดภาพไว้ไม่ดีนักในปัจจุบัน จุดที่เราอยู่กันในวันนี้เป็นผลของการกระทำอย่างหุนหันพลันแล่น จนทหารออกมายึดอำนาจ พาสถานการณ์มาถึงวันนี้ เราจะเยียวยามันอย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เราจะมองการเมืองไทยอย่างไรหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะยังไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ตาม
ยกตัวอย่างในอดีต ข้ออ้างหรือเหตุผลคลาสสิกที่กองทัพจะใช้ในการทำรัฐประหารก็คือมีความไม่สงบในประเทศ นักการเมืองคอร์รัปชัน เป็นต้น ดังนั้นพวกเขาจึงต้องมายึดอำนาจคืน และในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีก เราต้องไม่ทำให้สถานการณ์การเมืองในระบบปกตินำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายอีก
ต่อจากนี้ เราต้องทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและปรับปรุงคุณภาพนักการเมืองไทย หากเรามีตะกร้ากล้วย แล้วเลือกตัวแทนจากตะกร้ากล้วย เราก็จะได้กล้วย ประเทศไทยมีประชากรร้อยละ 80 – 90 เป็นชาวนาชาวไร่ บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนมีแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แตกต่างออกไป
ประชาชนพูดว่าทำไมนักการเมืองจึงทำตัวไม่ดีแบบสุดโต่ง แต่ประชาชนก็ชอบนักการเมืองเหล่านี้ เพราะพวกเขาถือเป็นตัวแทนของประชาชนจริง ๆ นักการเมืองเหล่านี้รู้วิถีชีวิตของประชาชนและตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ ในอนาคตหากจะยกระดับคุณภาพนักการเมือง ตนเชื่อว่าการศึกษาคือกุญแจสำคัญ
ในความเห็นของตน การเมืองไทยเหมือนกับละครดัง ใครที่เคยอยู่อังกฤษหรือออสเตรเลียอาจจะรู้จักละครเรื่อง “โฮม แอนด์ อเวย์” มันเป็นละครที่ดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ บางครั้งคนดีก็กลายมาเป็นตัวร้าย แล้วตัวร้ายกลายมาเป็นคนดี และอย่างที่เรารู้กัน ในอดีตทหารถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษ แต่ตอนนี้คนมีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับทหาร ตอนนี้คนดีกลายเป็นตัวร้าย ตัวร้ายกลายเป็นคนดี แต่หนึ่งสิ่งที่ตนเชื่ออย่างมากก็คือ อำนาจของประชาชน เจตจำนงของประชาชน ท้ายที่สุดประชาธิปไตยในประเทศนี้จะชนะอีกครั้ง
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช: ทุกคนจะต้องเท่าเทียมกันตามกฎหมาย
การเมืองไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่รักชาติ ไม่ใช่คลั่งชาติ เราต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือการเมือง เราต้องการนักการเมืองที่คิดถึงคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ มากกว่านักการเมืองที่คิดถึงแต่เรื่องการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เราสามารถคิดต่างได้ แต่เราต้องเคารพความแตกต่างของกันและกัน เหมือนในอดีต ตอนที่รุ่นพ่อและลุงของเราอยู่ในหน้าที่ ก็อภิปรายไม่ไว้วางใจกันในรัฐสภา พวกเขาดูจะค้านกันตลอด แต่เมื่อไม่อยู่ในหน้าที่ พวกเขายังเป็นเพื่อนกันได้ น่าเศร้าที่ปัจจุบันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว ในฐานะคนรุ่นใหม่ ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ด้วยการเคารพกฎเกณฑ์
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังต้องการการปฏิรูปกระบวนการทางกฎหมายและหลักนิติธรรมกันอย่างจริงจัง พวกเราทั้งหมดต้องหยุดการล่าแม่มดหรือคนที่คิดต่างจากเรา ทุกคนต้องเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และกฎหมายจะต้องไม่ถูกนำมาใช้แบบสองมาตรฐาน คนไทยทั้งหมดต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมจากกฎหมายเดียวกัน เพราะกฎหมายและทรัพยากรต่าง ๆ มีไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชน และรัฐไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องรัฐบาลทหาร เหมือนที่ชาร์ลส เดอ มองเตสกิเออ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสเคยพูดไว้ว่า ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม
พริษฐ์ วัชรสินธุ: ประชาธิปัตย์รุ่นใหม่ยึดหลักการประชาธิปไตยเหมือนชื่อ
การตัดสินใจเข้าร่วมพรรคประชาธิปัตย์ของตนไม่ได้เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีการต่อต้านปัญหาอย่างการคอร์รัปชัน ตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด เพราะเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ตนไม่เคยเชื่อวิธีการที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจ การกระทำหลายอย่างของพรรคประชาธิปัตย์มักถูกตีความและมักถูกตั้งคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนหลักการของประชาธิปไตยตามจุดประสงค์ของการตั้งพรรคหรือไม่
นี่เป็นเหตุผลที่หากถามตนเมื่อ 2 เดือนก่อนว่า ตนเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ตนอาจจะไม่ตอบรับคำเชิญนั้น เหตุผลที่ทำให้สามารถรับได้ในตอนนี้และเต็มใจที่จะได้รับคำเชิญจากพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต เพราะตนต้องการเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการนำพรรคกลับมาอยู่ในหลักการดั้งเดิมที่พรรคถูกตั้งขึ้นมา
ในเรื่องอุดมการณ์ ตนจะยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อมั่นนั่นก็คือ หลักการเสรีประชาธิปไตย ตนไม่เชื่อว่าช่วง 10 – 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ไปถึงจุดที่เป็นเสรีประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยจะมีคุณค่าด้วยค่านิยมสำคัญ 2 อย่าง คือ ความเท่าเทียม ที่เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมที่จะบอกว่าประเทศควรเดินไปทางไหน และทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียม และคุณค่าของเสรีภาพ ที่เชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตในกฎหมายที่พวกเขามีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมา นี่เป็นเหตุผลที่ตนเชื่อว่าคนไทยไม่เคยไปถึงจุดที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตยเลย นี่เป็นสิ่งที่ตนกำลังผลักดันไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่และประเทศไทย
พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารพรรคตัวเองด้วย ในความเห็นของตน หากเราอยากจะให้เหตุผลว่าต้องการนำประเทศไปตามวิถีประชาธิปไตย พรรคนั้นจะต้องมีประชาธิปไตยภายในพรรคก่อน ซึ่งข้อดีข้อหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือการที่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้บริจาคหลักของพรรค แต่ข้อด้อยก็คือพรรคประชาธิปัตย์มักถูกเรียกว่า NATO ที่ย่อมาจาก No Action Talk Only (แปลว่า ดีแต่พูด แต่ไม่ทำ) สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือพรรคจะต้องทำตัวเองให้เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องมีอำนาจที่จะตัดสินใจอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน