ชี้เสื้อแดงชุมนุมยืดเยื้อดันตกงานทะลุล้าน
รัฐหนักใจเสื้อแดงชุมนุมยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ ยอดตกงานเกิน 1 ล้านคน เร่งเดินหน้าแผนกระตุ้น สมคิด หนุนรัฐกู้นอกลงทุนพัฒนาระยะยาว พาณิชย์เผยเงินเฟ้อยังติดลบต่อเป็นเดือนที่ 3 นักเศรษฐศาสตร์ชี้เสี่ยงภาวะเงินฝืด มองไตรมาสแรกจีดีพีทรุดเกือบ 6%
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ หากการชุมนุมยืดเยื้อคาดว่าจะทำให้คนตกงานเกิน 1 ล้านคน และกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่ยังประเมินตอนนี้ไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือต้องเร่งติดตามผลการใช้จ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก ซึ่งพบว่าหลายโครงการยังมีปัญหาล่าช้า เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ กลุ่มที่ขยายเพิ่มเติมยังไม่ได้รับเช็ค ส่วนการเร่งดำเนินแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ขณะนี้ได้ให้กระทรวงการคลังประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อกลั่นกรองโครงการแล้ว
"มีเสียงบ่นว่า ทำไมเขายังไม่ได้รับเช็ค ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ได้รับเช็ค เมื่อตรวจสอบพบหน่วยงานที่กลุ่มคนเหล่านี้สังกัดยังไม่ส่งรายชื่อให้ ผมจึงอยากขอร้องให้เร่งส่งรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับเช็คให้สำนักงบประมาณ เพื่อรัฐบาลจะได้เร่งจ่ายเช็คส่วนนี้ออกไปได้" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ฝ่าวิกฤติประเทศต่อทางเลือกสู่สังคมใหม่" ว่า เศรษฐกิจโลกต้องใช้เวลา 1-2 ปีจึงจะฟื้นตัว ดังนั้น แนวทางรับมือระยะสั้นรัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเห็นด้วยกับการกู้เงินจากต่างประเทศของรัฐบาล เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญควรเน้นการลงทุนไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว
ด้าน น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "ลับคมธุรกิจ" ทางสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 102 เวิร์กกิ้ง สเตชั่น ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกน่าจะหดตัวแรงกว่าไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งมองว่ามีความเสี่ยงที่จีดีพีจะลดลงมากกว่า 5% หรืออาจลดลงเกือบ 6% นอกจากนี้ จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทำให้เห็นถึงสัญญาณที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงกับปัญหาเงินฝืด
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2552 เท่ากับ 103.6 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 สาเหตุจากราคาน้ำมันลดลง ส่วนดัชนีเงินเฟ้อ 3 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับ 3 เดือนแรกของปี 2551 สาเหตุหลักยังเป็นปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันลดลง
"กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 0-0.5% แต่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกำลังกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาสจึงจะสามารถบอกได้ " นายศิริพลกล่าว