บ้านพักศาลกับพื้นที่สาธารณะ
หลังโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ แห่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฎภาพมุมสูงเป็นอาคารที่กำลังก่อสร้าง กลางผืนป่า ไม่ใกล้ไม่ไกลอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ยังคงเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อศรัทธาที่ประชาชนจะมีต่อภาครัฐ และยังคงหาทางออกไม่ได้ว่าการใช้พื้นที่สาธารณะ หรือ Public Space ควรจะเป็นอย่างไร
Sanook! News มีโอกาสได้สอบถาม ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต่อเรื่องนี้ ผศ.ดร.วรรณภา กล่าวว่า การใช้พื้นที่สาธารณะต้องคำนึงถึงคนในพื้นที่ ผู้ที่จะใช้ที่สาธารณะในการใด ๆ ควรเคารพต่อพื้นที่นั้น ว่าพื้นที่แบบไหนควรนำไปใช้ประโยชน์อะไร
บางพื้นที่ถูกกฎหมาย แต่การทำสิ่งที่ถูกต้องอาจจะต่างออกไป อย่างเช่นในพื้นที่รอยต่อระหว่างป่ากับเมือง ซึ่งมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมาก การทำในสิ่งที่ถูกกฎหมาย กับทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม จึงเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงเป็นอย่างมาก
อย่างถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อเราได้พื้นที่ป่ามา แล้วเราเอามาสร้างห้างสรรพสินค้า แบบนี้ก็ไม่สมควร ถึงแม้เราจะได้ที่นั้นมาโดยสุจริตก็ตาม
ดังนั้นการจะนำพื้นที่ป่ามาใช้นั้น นอกจากจะใช้ให้คุ้มค่าแล้ว เราต้องคำนึงด้วยว่าภาคประชาชนได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด เพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบกับคนหมู่มากอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
“การใช้พื้นที่ประโยชน์สาธารณะอย่างคุ้มค่า” จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ ผศ.ดร.วรรณภา กล่าวถึงคือ ขณะนี้สังคมไทยกำลังเรียกหาอำนาจนิยม การที่ทุกอย่างถูกตัดสินโดยผู้มีอำนาจ และไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ และไม่มีความรับผิดรับชอบเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในทุกกรณี ยิ่งการที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้อำนาจในการออกกฎหมายด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องทีไม่เหมาะสม
ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะเป็นผลกระทบต่อคนหมู่มาก คู่กรณีควรหาทางออกร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น "ภาครัฐใดที่มีปัญหากับประชาชนควรร่วมกันหาทางออกกับประชาชนด้วยตนเอง" ดร.วรรณภา กล่าว
ยกตัวอย่างเช่นการสร้างตึกยังต้องมีการทำ EIA ศึกษาผลกระทบ รับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อดูว่าสามารถสร้างได้หรือไม่ ดังนั้นการจะสร้างอะไรถึงแม้จะได้มาอย่างถูกกฎหมายก็ต้องมีการชั่งความถูกต้อง
ซึ่งกรณีใดก็ตามหากตาชั่งเอียง ก็อาจจะทำให้สังคมมองตาชั่งเปลี่ยนไปได้ และตามจริงแล้วหากมีการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ก็อาจจะมีผลให้ภาคประชาชนมองรัฐเปลี่ยนไปนานแล้วเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลอุทธรณ์โร่แจง รูปดราม่าสร้างบ้านพัก รุกป่าดอยสุเทพ
ศาลยุติธรรมไม่รื้อบ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ ชี้ไม่มีอำนาจ หวั่นคู่สัญญาฟ้อง
ร้อนฉ่าอีกระลอก ลงชื่อขอศาลอุทธรณ์เชียงใหม่ คืนป่าดอยสุเทพ
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้การรื้อบ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ เป็นเรื่องลำบาก
ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเช่นกันว่าการสร้างบ้านในบริเวณดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก และถ้าหากบ้านพักศาลยังคงอยู่อาจถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่จะทำให้คนเชียงใหม่จดจำไปตลอด
ดังนั้นควรที่จะมีการทุบทิ้ง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดนั้น อาจเกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายบางประการ
อย่างไรก็ดีนายเดชรัต ไม่เห็นด้วยหากจะมีการใช้มาตรา 44 มาแก้ไขปัญหานี้ โดยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่เป็นไปได้หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะใช้มาตรา 9 จาก พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก็อาจจะแก้ไขปัญหานี้ได้ นายเดชรัต กล่าว
ซึ่งสุดท้ายแล้วประเด็นที่เกิดขึ้นนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันกับหลายภาคส่วน โดยอยู่ในการติดตามของประชาชนอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“บิ๊กป้อม” สั่งหยุดก่อสร้างบ้านพักดอยสุเทพ ไม่ให้ศาลใช้ แต่ไม่รื้อ