สรุปดราม่าหนังสือ “วะบิ-ซะบิ” สนพ.ดังประกาศเลิกพิมพ์-จำหน่าย หลังผู้แปลโวย “แย่ที่สุด”
กลายเป็นเรื่องดราม่าส่งท้ายงานสัปดาห์หนังสือประจำปีนี้ เมื่อนายกรินทร์ กลิ่นขจร ผู้แปลหนังสือ “วะบิ-ซะบิ” ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 แสดงความไม่พอใจต่อสำนักพิมพ์ Openbooks ผู้ออกแบบปกและจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาไทยครั้งล่าสุด โดยระบุว่าการทำงานของสำนักพิมพ์ Openbooks เป็น “การทำงานที่ไม่ปกติ” และเป็น “การตีความออกแบบใหม่และจัดพิมพ์แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก” และที่ผ่านมา ทางสำนักพิมพ์ไม่เคยส่งไฟล์การจัดหน้าและปกหนังสือให้ตนดูแม้แต่ครั้งเดียว รวมทั้งมีการปรับแก้ไขการสะกดคำโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ตนทราบ หรือสอบถามเหตุผลแต่อย่างใด
ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2561 สำนักพิมพ์ Openbooks ก็ออกมาประกาศยุติการพิมพ์และการจำหน่ายหนังสือ “วะบิ-ซะบิ” และจะทำลายหนังสือทั้งหมดที่ได้พิมพ์เสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งจะไม่พิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสำนวนไหน โดยจะยอมรับความเสียหายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้แปลจะแสดงความพอใจในการแก้ปัญหาของสำนักพิมพ์ แต่ก็ยังมีแฟนหนังสือเข้ามาคอมเมนต์ถามเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสำนักพิมพ์กับผู้แปล รวมทั้งคุณภาพของสำนวนแปล ทำให้ทางสำนักพิมพ์ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง จนกระท้่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักอ่าน
และวันนี้ (11 เมษายน 2561) สำนักพิมพ์ Openbooks ได้เผยแพร่อีเมลจากนายเลนนาร์ด โคเรน ผู้เขียนหนังสือวะบิ-ซะบิ ซึ่งมีใจความยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้แปลไม่เคยได้รับสิทธิใดๆ จากผู้เขียนในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในการจัดพิมพ์หนังสือ โดยผู้เขียนระบุว่า “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมและเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้แปลจะทำตัวมีอำนาจและการควบคุมมากมายเหนือการพิมพ์หนังสือของผม ประเด็นที่ผู้แปลอ้าง (จากอีเมลของคุณ) โดยความจริงแล้วไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะตัดสินใจ แต่เป็นสิทธิของผม”
ล่าสุด นายกรินทร์ ผู้แปล ได้รับทราบเกี่ยวกับอีเมลดังกล่าว และเรียกร้องให้ทางสำนักพิมพ์เปิดเผยอีเมลทั้งหมดที่มีการติดต่อกันระหว่างสำนักพิมพ์ ผู้เขียน และผู้แปล ตลอดระยะเวลา 2 ปี ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าสำนักพิมพ์จะมีท่าทีอย่างไร แต่นักอ่านบางคนก็ได้สรุปดราม่าเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นเรื่องของ “เต๋าที่ไม่เท่ากัน”