นักวิเคราะห์เสียงแตก 'สงครามโลกครั้งที่ 3' กำลังมา?

นักวิเคราะห์เสียงแตก 'สงครามโลกครั้งที่ 3' กำลังมา?

นักวิเคราะห์เสียงแตก 'สงครามโลกครั้งที่ 3' กำลังมา?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศภายหลังออกคำสั่งโจมตีทางอากาศโรงงานเคมีและคลังอาวุธของรัฐบาลซีเรียเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) ว่า "ภารกิจลุล่วง" แต่สหรัฐฯ จะยังคงเตรียมพร้อมปฏิบัติการอีกครั้ง ถ้าหากกองทัพรัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนรอบใหม่

ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลซีเรียและรัสเซียซึ่งสนับสนุนนายบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย จะต้องรับผิดชอบที่มีการใช้แก๊สพิษโจมตีเมืองโกตาของซีเรียเมื่อวันที่ 4-7 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้พลเรือนเสียชีวิตประมาณ 200 ราย โดยสหรัฐฯ อ้างว่าซีเรียและรัสเซียใช้อาวุธเคมียิงใส่กลุ่มกบฎในเมืองโกตาโดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ติดอยู่ท่ามกลางการต่อสู้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียแถลงว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เป็น 'การจัดฉาก' และกองทัพรัสเซียซึ่งประจำการในซีเรียสามารถยิงสกัดขีปนาวุธสหรัฐฯ ได้ 71 ลูก จากจำนวนที่ยิงทั้งหมด 103 ลูก พร้อมย้ำว่ารัสเซียจะไม่นิ่งเฉยหากสหรัฐฯ ก่อเหตุโจมตีรอบใหม่

นักบินอเมริกันโจมตีซีเรีย

(กลุ่มนักบินอเมริกันเตรียมตัวก่อนปฏิบัติการโจมตีซีเรียเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่น)

สมรภูมิ 'สงครามตัวแทน'

ปฏิบัติการโจมตีซีเรียของสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศในสหภาพยุโรปและสมาชิกนาโต แม้แต่นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งที่ผ่านมาได้แสดงความเห็นสนับสนุนการเจรจายุติความขัดแย้งมาตลอด ยังกล่าวสนับสนุนการโจมตีซีเรียในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนและสื่อมวลชนในแคนาดาจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงได้ออกมาประณามนายทรูโด โดยให้เหตุผลว่าการโจมตีซีเรียส่งผลเสียต่อพลเรือนยิ่งกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน บีบีซีรายงานว่าทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ยื่นคำร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) แถลงประณามสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งปฏิบัติการโจมตีซีเรียโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่จีนระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการโจมตีซีเรียของทั้ง 3 ประเทศ และเรียกร้องให้ใช้วิธีการเจรจายุติสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซีมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องให้ออกแถลงการณ์ประณามและคว่ำบาตรสหรัฐฯ และพันธมิตร

'ซีเรีย รัสเซีย อิหร่าน' เป็นประเทศพันธมิตรในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มกบฎและกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย ขณะที่ 'สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส' ประณามรัฐบาลเผด็จการซีเรียที่ทำสงครามกับประชาชนของตัวเองตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศที่เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองซีเรียแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย และนักวิเคราะห์ประเมินว่าการต่อสู้ในซีเรียเป็น 'สงครามตัวแทน' ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะยังคงดำเนินต่อไปอีกนาน 

นักข่าวสงครามซีเรีย

(ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพเหตุการณ์หลังกองทัพ3 ประเทศร่วมกันโจมตีพื้นที่หลายเมืองในซีเรีย)

แนวโน้ม 'สงครามโลกครั้งที่ 3' เป็นไปได้หรือไม่?

องค์การต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ICAN เปิดเผยว่าสหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่เคยใช้อาวุธนิวเคลียร์ในปฏิบัติการสู้รบในอดีต ทำให้สื่อหลายสำนักเกรงว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศจะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมาได้

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) สื่อฮ่องกง เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่าการโจมตีซีเรียเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยระบุว่านายทรัมป์เป็นผู้นำที่วู่วามและตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ โดยไม่ค่อยฟังคำแนะนำของที่ปรึกษาในรัฐบาล จึงมีแนวโน้มว่าเขาจะออกคำสั่งครั้งใหม่โดยไม่คำนึงถึงผลที่อาจจะตามมา

กรีซประท้วงสหรัฐฯ โจมตีซีเรีย

(กลุ่มผู้ต่อต้านสงครามในกรีซเผาธงชาติสหรัฐฯ ประท้วงคำสั่งโจมตีซีเรียของ ปธน.ทรัมป์)

 

ขณะที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการใช้กำลังทหารแทรกแซงซีเรีย และมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันบทบาทของรัสเซียในการเป็นผู้ยึดกุมอำนาจในตะวันออกกลางแทนสหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่ารัสเซียจะตอบโต้ประเทศพันธมิตร 3 ชาติที่ยืนกรานว่าจะโจมตีซีเรียอีกครั้งหากมีการใช้อาวุธเคมีเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางได้เผยแพร่บทความในอัลจาซีรา ระบุว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 "ไม่มีทางเกิดขึ้น" เพราะสหรัฐฯ ร่วมมือกับรัสเซียในการทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในซีเรียตั้งแต่ปี 2558 และการโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ไม่มีการรุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าซีเรียที่รัสเซียเป็นผู้ดูแลอยู่แม้แต่จุดเดียว

นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ต้องการทำสงครามเพื่อให้รู้ผลแพ้ชนะ จะไม่มีทางปล่อยให้นายทรัมป์ทวีตข้อความขู่โจมตีประเทศต่างๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่จะต้องดำเนินการแบบฉับพลันทันที ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสเตรียมตัวตั้งรับหรือตอบโต้ได้ทันเวลา

ทรัมป์ 'ผิดสัญญา' นำสหรัฐฯ ย้อนสู่ยุค 'จอร์จ ดับเบิลยู บุช'

เว็บไซต์ฟอร์จูน สื่อธุรกิจในสหรัฐฯ รายงานว่าผู้สนับสนุนทรัมป์บางส่วนที่เคยเห็นด้วยกับนโยบายหาเสียงเรื่องการยุติบทบาทของสหรัฐฯ ในการสู้รบต่างแดน ต่างรู้สึกผิดหวังที่ทรัมป์ประกาศโจมตีซีเรีย และไม่ได้ทำตามสัญญาว่าจะไม่ส่งกองทัพอเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ

ทรัมป์

ขณะที่รอยเตอร์รายงานอ้างอิงคำแถลงของนายจอห์น แมคเคน ส.ว.รัฐแอริโซนา พรรครีพับลิกัน อดีตทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านการโจมตีทางอากาศในประเทศซีเรีย โดยระบุว่าวิธีนี้จะไม่ส่งผลให้สงครามกลางเมืองซีเรียยุติลง และถ้าต้องการจะชนะการต่อสู้จริงๆ สหรัฐฯ ต้องมีแผนการระยะยาวและต้องวางกลยุทธ์โจมตีที่ดีกว่านี้

วอชิงตันโพสต์รายงานว่าการแถลงอวดอ้างว่าภารกิจลุล่วงของนายทรัมป์เป็นการบ่งชี้ว่าเขาไม่มีวุฒิภาวะ ทั้งยังทำให้ชาวอเมริกันนึกถึงคำแถลงเดียวกันของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเคยประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายและนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามในอิรัก โดยบุชอ้างว่าเพื่อสืบค้นและกำจัดอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ก่อนที่จะยอมรับในภายหลังว่าอาวุธดังกล่าว "ไม่มีอยู่จริง"

ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ชิลี กรีซ และอิรัก มีการชุมนุมประท้วงการโจมตีซีเรียของรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยผู้ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงระบุว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล ทำให้ประชาชนซีเรียต้องอพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้น ขณะที่กระทรวงกลาโหมอังกฤษเตือนนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ว่าขณะนี้ประเทศยังไม่พร้อมที่จะรับมือสงครามโลกครั้งที่ 3 และจะต้องขอเพิ่มงบกลาโหม-ความมั่นคงด้วย

ประท้วงโจมตีซีเรีย

ไทยจับตาความมั่นคง-ย้ำจุดยืน 'เป็นกลาง'

กระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่ารัฐบาลได้ประกาศจุดยืน "เป็นกลาง" ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งนี้ แต่ก็ได้มีการประกาศเตือนประชาชนไทยที่พำนักหรือทำงานอยู่ในเขตที่ราบสูงโกลันของอิสราเอล ซึ่งมีพรมแดนติดกับซีเรีย ให้เฝ้าระวังคำเตือนจากสถานทูตไทยในอิสราเอล และเตรียมพร้อมอพยพในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่าฝ่ายความมั่นคงของประเทศมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์ในซีเรียอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ แต่ความสูญเสียของประชาชนน่าจะน้อย เพราะสหรัฐฯ มุ่งโจมตีสถานีผลิตศูนย์วิจัยอาวุธเคมี น่าจะไม่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องติดตามอยู่แล้ว 

ส่วนผลกระทบอาจมีบ้างในด้านเศรษฐกิจ เพราะซีเรียถือเป็นประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่ ตลาดหุ้นคงมีตกใจบ้าง และไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ การดำเนินการต่างๆ จะยึดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เห็นด้วยที่จะให้เกิดความรุนแรง อยากให้ทั้งสองฝ่ายอดทนอดกลั้น ถ้ามองแง่ดีไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ประชาชนวิตกจนมากเกินไป แต่อยากขอให้ติดตามสถานการณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook