ที่ 1 คณะแพทย์ เผยเคล็ด เก่ง

ที่ 1 คณะแพทย์ เผยเคล็ด เก่ง

ที่ 1 คณะแพทย์ เผยเคล็ด เก่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กสพท.ประกาศผลสอบเข้าคณะแพทย์ 12 สถาบัน ผ่านคัดเลือก1,491 คน จาก 22,000 คน เตือนตรวจสอบรายชื่อ วันและเวลาสอบสัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ด้วยตนเอง ส่วนผู้สอบได้ที่ 1 ได้แก่น.ร.จากเตรียมอุดมศึกษา เลือกเข้าเรียนคณะแพทย์ จุฬาฯ ด้านสทศ.สรุปผลคะแนนโอเน็ต เผยนักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยได้ไม่ดีกว่าปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30-40 ขณะที่นักเรียนที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยทำคะแนนได้ดีกว่าร้อยละ 10 ถือว่ายังไม่น่าพอใจ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ศ.พ.ญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการจัดสอบคัดเลือกระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ปีการศึกษา 2552 เปิดเผยว่ากสพท. ได้ประมวลผลการคัดเลือกระบบรับตรงของ กสพท. เรียบร้อยแล้ว และประกาศผลผ่านเว็บไซต์ กสพท. www.cotmes.org และผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยในกลุ่ม กสพท. ทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มม. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพ มหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.เวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งปีนี้มีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 1,491 คน จากผู้สมัครทั้งหมดประมาณ 22,000 คน ทั้งนี้ ขอให้ผู้สมัครสอบทุกคนต้องตรวจสอบรายชื่อด้วยตนเอง เพราะสถาบันแต่ละแห่ง จะกำหนดวันและเวลาสอบสัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ ซึ่งหากผู้มีรายชื่อสอบสัมภาษณ์ไม่ไปแสดงตนตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าสละสิทธิ์การเข้าศึกษาต่อใน กสพท. และจะไม่มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกในรอบที่ 2 หากมีการเปิดรับถ้าสถาบันรับไม่เต็มจำนวนหรือมีผู้สละสิทธิ์ โดยการสอบสัมภาษณ์นั้น มหา วิทยาลัยเกือบทุกแห่ง คาดว่าเริ่มดำเนินการในวันอังคารที่ 7 เม.ย.นี้

"ถ้ารับนักศึกษาไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ กสพท. จะคัดเลือกผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์ และตรวจร่างกายเพิ่มเติมจากผู้สมัครเดิม โดยจะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันใดๆ และเมื่อได้รายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาแล้ว กสพท.จะส่งรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อตัดสิทธิ์จากระบบแอดมิชชั่นเพื่อป้องกันรายชื่อซ้ำซ้อน" ศ.พ.ญ.บุญมี กล่าวและว่า คะแนนในปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ถ้าเปรียบเทียบทั้งหมด ไม่ได้แตกต่างจากปีที่ผ่านมามาก เนื่องจากปีนี้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ต่ำ ซึ่งการสอบคัดเลือกกลุ่ม กสพท. ต้องใช้สัดส่วนคะแนนเอเน็ตร้อยละ 70 ทำให้คะแนนของผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในกลุ่มกสพท.ต่ำไปด้วย ส่วนนักเรียนที่ได้คะแนนสอบสูงสุดอันดับแรก คือ นายสิทธิ์ อัศววรฤทธิ์ นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดม ศึกษา ได้คะแนน 79.1271 จาก 100 คะแนนเต็ม ซึ่งเลือกเข้าเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ด้านนายสิทธิ์ อัศววรฤทธิ์ อายุ 18 ปี นักเรียนร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นผู้สอบได้ที่ 1 ในกลุ่มกสพท.และที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงเคล็ดลับการเรียนว่าเตรียมตัวให้พร้อมสอบเสมอ และเหนือสิ่งอื่นใดการจะทำอะไรก็ตามให้ดีได้ต้อง 1.มีความสุข 2.ทำให้ดีที่สุด และถ้าจะเรียนให้ดี ก็ต้องมีความสุขกับการเรียน และตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด

สำหรับนายสิทธิ์ เป็นบุตรชายของ น.พ.วิชิต อัศววรฤทธิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลสิงห์บุรี และ ทพ.ญ.สุจินดา อัศววรฤทธิ์ มีพี่ชายคือ นายพฤทธิ์ อัศววรฤทธิ์ ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนน้องชาย คือ นายสรรค์ อัศววรฤทธิ์ ปัจจุบัน นักเรียนชั้น ม.5 ร.ร.เทพศิรินทร์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด ของการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ ปีการศึกษา 2552 ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มข. จำนวนรับ 30 คน คะแนนสูงสุด 59.241 คะแนนต่ำสุด 55.3832 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 230 คน คะแนนสูงสุด 79.1271 คะแนนต่ำสุด 63.7365 คณะแพทยศาสตร์ มช. จำนวนรับ 65 คน คะแนนสูงสุด 63.5977 คะแนนต่ำสุด 56.6813 คณะแพทยศาสตร์ มธ. จำนวนรับ 92 คน คะแนนสูงสุด 60.3714 คะแนนต่ำสุด 56.2991 คณะแพทยศาสตร์ มน.จำนวนรับ 30 คน คะแนนสูงสุด 56.3704 คะแนนต่ำสุด 54.4771 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มม. จำนวนรับ 162 คน คะแนนสูงสุด 70.3279 คะแนนต่ำสุด 59.9980 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มม. จำนวนรับ 280 คน คะแนนสูงสุด 75.4859 คะแนนต่ำสุด 61.1929 คณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จำนวนรับ 30 คน คะแนนสูงสุด 56.1792 คะแนนต่ำสุด 52.7669

คณะแพทยศาสตร์ มศว จำนวนรับ 125 คน คะแนนสูงสุด 63.1458 คะแนนต่ำสุด 56.1257 คณะแพทยศาสตร์ มอ จำนวนรับ 42 คน คะแนนสูงสุด 59.6190 คะแนนต่ำสุด 54.9986 วิทยาลัยแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จำนวนรับ 80 คน คะแนนสูงสุด 60.8438 คะแนนต่ำสุด 58.1810 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จำนวนรับ 60 คน คะแนนสูงสุด 63.0155 คะแนนต่ำสุด 54.7018 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (ญ) จำนวนรับ 40 คน คะแนนสูงสุด 60.6632 คะแนนต่ำสุด 55.3927 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวนรับ 70 คน คะแนนสูงสุด 68.6273 คะแนนต่ำสุด 59.8508 คณะทันตแพทยศาสตร์ มม. จำนวนรับ 80 คน คะแนนสูงสุด 63.2952 คะแนนต่ำสุด 56.8508 คณะทันตแพทยศาสตร์ มช. จำนวนรับ 30 คน คะแนนสูงสุด 60.5951 คะแนนต่ำสุด 54.3651 คณะทันตแพทยศาสตร์ มอ. จำนวนรับ 25 คน คะแนนสูงสุด 56.2021 คะแนนต่ำสุด 53.4624 คณะทันตแพทยศาสตร์ มศว จำนวนรับ 20 คน คะแนนสูงสุด 59.5356 คะแนนต่ำสุด 55.7769

วันเดียวกัน นางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สถา บันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวถึงการประกาศผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ผ่านเว็บไซต์ของ สทศ.และอีก 10 เว็บไซต์ว่าปัญหาที่พบส่วนใหญ่นักเรียนจะลืมเลขที่นั่งสอบของตัวเอง จึงต้องสอบถามกลับมายัง สทศ. สำหรับคะแนนสอบปีนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้ว เนื่องจากข้อสอบค่อนข้างง่าย หลังจากนี้จะนำผลคะแนนสอบของนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยมาพิจารณาซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีคะแนนสูงกว่าเด็กที่สอบโอเน็ตทั่วไปประมาณ 10 คะแนน สำหรับนักเรียนที่ทราบผลคะแนนโอเน็ตแล้ว แต่ยังรู้สึกสงสัยในคะแนนสอบ และต้องการขอดูกระดาษคำตอบ สทศ.จะเปิดให้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2552 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ที่ชั้น 36 อาคารพญาไท พลาซ่า คาดว่า สทศ.จะให้ดูกระดาษคำตอบได้ 400 คนต่อวัน ซึ่งผู้ยื่นเรื่องในวันที่ 7 เม.ย. สทศ.จะนัดให้มาดูกระดาษคำตอบได้ ในวันที่ 9 เม.ย. โดยจะให้ดูกระดาษคำตอบพร้อมเฉลย และให้นักเรียนนับคะแนนที่ทำได้เอง

นางอุทุมพรกล่าวว่า ในภาพรวมผลคะแนนเฉลี่ยทั้ง 8 วิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย วิชาสังคม ศึกษา วิชาภาษาต่างประเทศ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา วิชาศิลปะ และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยนักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30-40 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ยกเว้นวิชาสุขศึกษา และพลศึกษาที่นักเรียนทำคะแนนได้เกิน ร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม มีนักเรียนชั้น ม.6 ที่สามารถทำคะแนนวิชาภาษาอังกฤษได้เต็ม และไม่มีใครได้ศูนย์ในวิชาใด

สำหรับวิชาที่นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ วิชาสุขศึกษา เฉลี่ย 56.745 คะแนน รองลงมาคือ ภาษาไทย เฉลี่ย 46.415 คะแนน วิชาศิลปะ เฉลี่ย 43.216 คะแนน วิชาการงาน เฉลี่ย 40.012 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 35.978 คะแนน วิชาสังคมศึกษา เฉลี่ย 34.671 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 33.649 คะแนน และคณิต ศาสตร์ เฉลี่ย 30.643 คะแนน ซึ่งเป็นวิชาที่ได้คะแนนต่ำสุด

ผอ.สทศ. กล่าวต่อว่า ในชั้น ม.6 มีการสอบโอเน็ตปีนี้ เป็นปีที่ 4 เมื่อนำคะแนนทั้ง 4 ปีมาวัด ในหน่วยมาตรฐานเดียวกัน พบว่า คะแนนเฉลี่ยวิชาหลัก 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคม ศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ไม่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแม้แต่วิชาเดียว แสดงว่าเด็กไทยไม่ได้เก่งขึ้นทั้งประเทศ และคะแนนเฉลี่ย 4 ปี ยังต่ำกว่า 50% โดยพบว่า ภาษาไทย เฉลี่ย 49% รองลงมาคือ สังคมศึกษา เฉลี่ย 38.25 วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 34.28% ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 32.12% และต่ำสุดคือ คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 30.28 %

"ค่อนข้างชัดเจนว่าในภาพรวมนักเรียนทำคะแนนโอเน็ตได้ไม่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยนักเรียนในกลุ่มที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยทำคะแนนเฉลี่ยได้ดีกว่าเด็กทั่วไปประมาณ ร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ควรจะมีผลคะแนนดีกว่านี้ จึงยังไม่น่าพอใจนัก" นางอุทุมพรกล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook