เปิดใจ “ไอติม พริษฐ์” นักการเมืองหนุ่มน้อย แห่ง F4 การเมืองไทย

เปิดใจ “ไอติม พริษฐ์” นักการเมืองหนุ่มน้อย แห่ง F4 การเมืองไทย

เปิดใจ “ไอติม พริษฐ์” นักการเมืองหนุ่มน้อย แห่ง F4 การเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเมืองกำลังหวือหวา Sanook! ไม่ขอพลาด พาเหล่านักการเมืองรุ่นใหม่ หัวใจรักประชาธิปไตยมาสัมภาษณ์ ในซีรีส์ชุด เปิดใจนักการเมืองรุ่นใหม่ F4 แห่งเมืองไทย โดยมี "สิงห์" วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นผู้สัมภาษณ์

น้องเล็กสุดใน F4 คนแรกคือ ไอติม หรือ พริษฐ์ วัชรสินธุ ในวัย 25 ปี ไอติมถือเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง เรียกได้ว่า ไอติม อายุน้อยที่สุดในวงการการเมืองในตอนนี้ เขาออกตัวว่าการที่เขาสนใจ ใส่ใจทำการเมืองนั้น ทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเขาเพียงคนเดียว

วรรณสิงห์  
ตอนนี้ในประเทศไทย เรามีนักการเมืองจริงๆ หรือไม่?

พริษฐ์
เรามีรัฐบาล และคนในรัฐบาลก็ออกตัวแล้วว่าเป็นนักการเมือง ทั้งที่อดีตเคยเป็นอาชีพอื่น แต่เมื่อมาเป็นนักการเมือง ก็ต้องบริหารบ้านเมือง ทั้งในระบบประชาธิปไตย หรือในระบบอื่น

วรรณสิงห์  
ส่วนนักการเมืองที่มาจากระบบประชาธิปไตยนี่ จากเดิมไม่ครึกครื้นเลย แต่ตอนนี้เริ่มครึกครื้นบ้าง แต่ยังไม่ถึงจังหวะที่จะกลับมาเป็นนักการเมืองเต็มตัวใช่ไหมครับ?

sxitim

พริษฐ์  
ผมอยากเห็นการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำหน้าที่ได้อย่างเร็วที่สุด เพราะแน่นอนสิ่งที่สำคัญก็คือพรรคการเมืองก็จะทำนโยบายด้าน การศึกษา แล้วก็พัฒนานโยบาย ที่เราจะมานำเสนอกับประชาชน ซึ่งตอนนี้เราไม่สามารถพูดคุยได้อย่างเต็มที่ในเรื่องนโยบาย

วรรณสิงห์
แสดงว่ากำลังก้าวเข้าสู่งานทางการเมืองอย่างจริงจัง?

พริษฐ์
ผมสนใจเรื่องการเมืองมานานแล้วเพราะว่าผมก็เรียนปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ เรียนมาโดยตรง แต่ว่าผมตัดสินใจไปทำอาชีพอื่นมาก่อนประมาณ 2 ปีครึ่ง แล้วตอนนี้ก็รู้สึกว่างานการเมืองเป็นงานที่ผมสนใจจะทำต่อไป

วรรณสิงห์
ในเมืองไทยคนก็คงรู้จักคุณพริษฐ์ ในฐานะหลานของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สื่ออื่นก็ถามเรื่องนี้มามาก  กับน้าหลานนี้เป็นยังไงบ้าง เราก็พูดให้ทราบไว้ แต่เราจะมาเจาะที่เรื่องของคุณพริษฐ์มากกว่า

พริษฐ์
โอ้ ขอบคุณมากครับ

วรรณสิงห์
คงเบื่อแล้วใช่ไหมครับคุยเรื่องน้าเนี่ย

พริษฐ์
หัวเราะ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุยกับ "ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ" นักการเมืองรุ่นใหม่กับความฝันพัฒนาสังคมไทย
ไอติม พริษฐ์ หลานชายอภิสิทธิ์ ฝึกเป็นพนักงานเก็บขยะกทม.

วรรณสิงห์
แต่อย่างน้อยสิ่งที่ทำแล้วเกี่ยวข้องแน่นอนคือ ทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์?

พริษฐ์
เริ่มเข้าไปทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์บ้างแล้วครับ

วรรณสิงห์
เมื่อเข้าไปทำงาน พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับอะไรบ้าง?

พริษฐ์
ผมมองว่าต้องปรับ 3 ด้าน อย่างแรกเลยต้องชัดเจนขึ้นในประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์เนี่ยก็ออกตัวว่าสนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตยมานานมาก

แต่ผมก็สังเกตเห็น ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมือง และเรื่องสู้กับคอร์รัปชันทุจริตต่างๆ เนี่ย ทำให้มันเริ่มมีข้อสงสัยแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ตกลง คิดยังไงกันแน่กับประชาธิปไตย

สองผมมองว่ามันมีโอกาสดีที่พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถปฏิรูปตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตัดสินใจ เพราะในสมัยก่อนยอมรับว่าพรรคมีความเป็นประชาธิปไตยสูง คือใครจะพูดอะไรก็พูดได้ ไม่จำเป็นต้องมาปรึกษากันก่อน  

อย่างเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อก่อนก็มีการแข่งขันกันมาโดยตลอดมีสมาชิกพรรค 2.5 ล้านคน แต่ข้อเสียของการเป็นประชาธิปไตยก็คือการจัดการ การจะตัดสินใจมันค่อนข้างจะล่าช้า

แต่ตอนนี้มันมีตัวช่วยมาก็คือเทคโนโลยี และอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้แล้วในยุคใหม่ของประชาธิปัตย์ คือเราสามารถนำประชาธิปไตย บวกกับเทคโนโลยี ให้นำไปสู่การตัดสินใจที่รวดเร็วได้

ยกตัวอย่างก็คือการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคสมัยก่อนจะเลือกจากอดีต ส.ส. หรือประธานที่ปรึกษาพรรค แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามา เราสามารถให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศ เลือกตั้งหัวหน้าพรรคได้โดยตรง เพราะถ้าไม่มีเทคโนโลยีมันก็จะแพงเกิน

itim3

วรรณสิงห์
อันนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หรือเป็นไอเดียในหัวเรา

พริษฐ์
กำลังเกิดขึ้นครับ ประกาศไปแล้วโดยพรรคนะครับ ส่วนเรื่องพรรค เรื่องที่สามก็คือเรื่องนโยบายนะครับ คือผมมองว่าโลกมันเปลี่ยนมานานมากแล้ว ตั้งแต่รัฐประหารที่ผ่านมา อัตราการเปลี่ยนมันรวดเร็วกว่าสมัยก่อน ดังนั้นนโยบายเนี่ยมันต่อยอดนโยบายเดิมๆ ไม่พอ สภาพเศรษฐกิจมันเปลี่ยนไปแล้ว

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งเลยก็คือว่าเราจะได้ยินรัฐบาลนี้ พูดเสมอว่าดีใจที่เห็น GDP หรือตัววัดเศรษฐกิจเนี่ยดีขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผมมองว่ามาตราวัดตรงนี้ เวลารัฐบาลประกาศว่ามันสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเนี่ย แต่ประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น เขาไม่ได้กินดีอยู่ดีขึ้น ผมว่ามันมีปัญหาตรงตัววัด

ผมมองอย่างง่ายๆ เลย GDP เรายังใช้อยู่ นั่งรถกลับบ้านแล้วรถติด 2 ชั่วโมงเนี่ย GDP ขึ้น เศรษฐกิจโตขึ้น ถ้ามลพิษในกรุงเทพเนี่ยแย่จนกระทั่งผมต้องไปซื้อหน้ากากมาใส่ GDP ขึ้น แต่ถ้าผมมีเวลาส่วนตัวมากขึ้นที่จะได้เล่นกับลูกผม ซึ่งก็ยังไม่มี(หัวเราะ) หรือว่าเล่นกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งผมก็ยังไม่มีเหมือนกัน GDP กลับไม่ขึ้น

แต่ถ้าจิตอาสามารวมตัวกันทำงานโดยไม่เอารายได้ GDP ไม่ขึ้น ดังนั้นมันอาจจะแปลกๆ ที่เอาค่า GDP มาวัดชีวิต เราต้องหาตัวเลือกอื่นแล้ว

วรรณสิงห์
ขอกลับมาที่เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนพรรคนี้คนรักก็รักมาก คนเกลียดก็เกลียดมาก แล้วการเข้ามาเป็นคนรุ่นใหม่ มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง จะสามารถยื่นมือไปคุยกับคนที่เขาไม่ชอบพรรคเราเลยได้อย่างไรบ้าง เพราะว่าคนที่เขาชอบอยู่แล้วเนี่ยยังไงมันก็คุยง่ายอยู่แล้ว

พริษฐ์
ผมมองว่ามันเป็นสองขั้นตอน ก่อนที่เราจะยื่นมือไปหาคนที่ไม่ชอบพรรคเรา เราต้องปรับตัวเองก่อน ประเมินตัวเองว่าทำไมคนถึงไม่เห็นด้วยกับทิศทางของพรรคเราที่เราเป็นมาในอดีต การที่ผมจะไปปรับพรรคให้เป็นรุ่นใหม่ เพียงตัวผมคนเดียวคงเป็นไปไม่ได้ แต่มีทิศทางที่ดีครับคือ 1 ผมไม่ใช่คนเดียวที่หน้าใหม่ในพรรค ที่อยากเห็นพรรคเปลี่ยนไป 3 ด้านในแบบที่ผมพูดถึง มีคนหน้าใหม่ที่อยากเข้ามาช่วยปรับพรรค อย่างที่ 2 คือ มีคนในนั้นที่อยากช่วยปรับพรรค เพราะเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับทิศทางพรรคเหมือนกัน  

ถ้ามีสองส่วนนี้ ผมมั่นใจว่าประชาธิปัตย์จะเข้าสู่ยุคใหม่ พอเรามียุคใหม่แล้ว เราก็นำอุดมการณ์ที่เรามีไปนำเสนอได้เป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน

วรรณสิงห์
อุปสรรคใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คืออะไรครับ?

พริษฐ์
แน่นอนคนชอบบอกว่าถ้าคุณมีอุดมการณ์แบบนี้ ทำไมคุณไม่ไปตั้งพรรคใหม่เอง ทำไมคุณจะต้องเข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์

วรรณสิงห์
มาอยู่ตรงนี้มันไม่พ้นเงาของน้าแน่นอน

new2

พริษฐ์
คือพูดตรงๆ เลยนะครับ ผมเคยคิดว่าผมจะไม่ทำงานทางการเมือง จนกระทั่งคุณน้าผม ไม่ทำแล้ว เพราะว่ามันมีกระแส ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมตัดสินใจไปทำงานในต่างประเทศก่อน แต่ความท้าทายก็คือว่า เราต้องทำงานกับคนรุ่นก่อนที่อาจจะอยู่กับพรรคมานานมาก อาจจะมีมุมมองแตกต่างจากเรา มันเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ทว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นไหม ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะว่าถามว่าจุดประสงค์ของพรรคการเมืองคืออะไร พรรคการเมืองต้องการเข้าไปบริหารประเทศ พรรคการเมืองเมื่อเข้าไปบริหารประเทศแล้ว ทำงานเองไม่ได้ ต้องไปบริหารกับข้าราชการ กระทรวง หรือองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งก็เป็นคนที่มีประสบการณ์ในแวดวงตรงนั้นมาอยู่แล้ว

มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนเนี่ย ต้องมีคนหน้าใหม่ และคนที่มีประสบการณ์แล้วมาทำงานร่วมกัน เป็นทางเลือกที่อาจจะยากกว่า หรือท้าทายกว่า แต่มันน่าจะเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน

 

วรรณสิงห์
เราจะรวบรวมคนที่มีความคิดใหม่ๆ เข้าไป เพื่อร่วมมือกันในพรรคประชาธิปัตย์ หาทางเปลี่ยนแปลงด้วยกัน

พริษฐ์
ใช่ครับ ผมยกตัวอย่าง ผมเคยพูดคุยกับคุณหมอคนหนึ่ง เขาเป็นเพื่อนร่วมงานกับคุณพ่อคุณแม่ผม เขาบอกว่าโรงพยาบาลของเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จะไม่มีแล้วกระดาษ จะเป็นดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ผมก็บอกว่า ผมยินดีด้วยครับ เพราะผมเห็นว่าประหยัด และมีข้อมูลคนไข้มานั่งวิเคราะห์ได้

แต่เขากลับบอกว่ามายินดีกับผมทำไม ผมจะลาออกแล้ว ผมก็ตกใจว่าทำไม แกก็บอกว่าตอนนี้ต้องปรับตัวเร็วมาก ต้องทำหลายอย่างเข้าคอมพิวเตอร์หมด คือสำหรับผม ผมมองว่ามันไม่น่าจะยาก แต่สำหรับเขาเนี่ย มันเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคย แล้วพอมีการปรับตัวเร็วออกไปเนี่ย กับเพื่อนร่วมงานเขาที่ทำงานร่วมกันมานานแล้วก็อาจจะลาออก

ผมก็เลยมองว่าในมุมมองของคนรุ่นใหม่แบบผมเนี่ย เราก็ต้องรับฟังมุมมองของคนกลุ่มนั้นเหมือนกัน เพราะไม่เช่นนั้นประเทศเราก็จะเสีย เหมือนที่โรงพยาบาลนั้นเสียความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ไป ดังนั้นนโยบายก็ต้องสะท้อนถึงคนทุกเพศทุกวัยครับ

new3

วรรณสิงห์
เราพักเรื่องพรรคไว้สักพักหนึ่ง  ตอนนี้ขอมารู้จักตัวคุณพริษฐ์ที่ตอนนี้อายุ 25 ปี เท่ากับจบมาตอนอายุ 22 ปี ทำงานมา 3 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อกี้บอกว่าทำงานภาคเอกชนมาก่อน เหตุผลที่ทำเอกชนมาแล้วสักพักหนึ่ง แล้วอยากมาทำงานการเมืองจริงจังทำไมครับ

พริษฐ์
ผมต้องการพัฒนาประเทศไทย ส่วนที่ผมตัดสินใจไปทำงานบริษัทเอกชนที่ต่างประเทศก่อน ขออธิบายก่อนว่าบริษัททำอะไร บริษัทเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ กับรัฐบาล หรือบริษัทเอกชนอื่นๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ รัฐบาลประเทศหนึ่งต้องการจะเพิ่มจำนวนคนที่จะไปใช้รถเมล์ เขาอาจจะมาให้บริษัทผมช่วยวิเคราะห์ว่ายังไงดี หรือมีบริษัทขายน้ำอัดลมต้องการจะไปขายน้ำอีกประเทศหนึ่ง เขาอาจจะมาจ้างบริษัทผมไปช่วยดูว่าไปประเทศไหนดี

ผมทำโปรเจกต์ ส่วนมากจะเป็นโปรเจกต์ของรัฐบาล ก็จะมีออฟฟิศทั่วโลก ดังนั้น 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาเนี่ย ผมใช้เวลา 6 เดือนอยู่ศรีลังกา อยู่เกือบ 1 ปี อยู่มาเลเซีย 2 เดือน อยู่ที่อังกฤษ 2 เดือน อยู่ที่สิงคโปร์ มันช่วยพัฒนาทักษะผม 2 ด้าน อย่างแรกเลยคือ มันมีการเปลี่ยนโปรเจกต์ทุกๆ 2 เดือน เพราะฉะนั้นทุกๆ 2 เดือน ผมจะได้ทำงานที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดสองปีครึ่งที่ผมอยู่ ผมได้ทำงานโปรเจกต์เกี่ยวกับการศึกษา เกี่ยวกับการพัฒนาโรงพยาบาล เกี่ยวกับนโยบายการท่องเที่ยว

มีอีกโปรเจกต์หนึ่งที่ผมชอบมากที่ติดใจเลยคือ โปรเจกต์ที่ผมทำที่ศรีลังกา คือได้ไปลงพื้นที่จริงแล้วก็ช่วยแก้ปัญหาว่า ณ เวลานั้นเนี่ย ผู้หญิงที่ท้องที่ศรีลังกา ที่จะมารับเงินที่รัฐบาลให้ ต้องเดินทางไกลมากเพื่อมาที่สำนักงานเขต เสี่ยงต่ออันตรายของลูก แล้วก็ของแม่ แต่ปัญหาคือที่ศรีลังกาเนี่ย คนหลายคนไม่มีบัญชีธนาคาร งั้นทำยังไงให้รัฐสามารถโอนเงินไปให้คนเหล่านั้นได้โดยที่ไม่มีบัญชีธนาคาร

ในที่สุดเราก็หาทางออกได้ ให้บริษัทโทรคมนาคมเนี่ยมาช่วย คือบริษัทมือถือเนี่ยแหละ มาช่วยให้โอนเงินจากรัฐบาลมาเข้าสู่มือถือของแม่ที่ท้องได้ ถึงแม้ไม่มีบัญชีธนาคารแต่ก็มีเบอร์มือถือ

สิ่งที่ได้จากการไปทำงานที่บริษัทนั้นจริงๆ คือ 1 ได้องค์ความรู้ หรือประสบการณ์จากหลายอุตสาหกรรม  2 คือโมเดลของบริษัท รูปแบบของบริษัท ที่เขาเอาเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมาเนี่ย ที่เขามองว่าอาจจะไม่ได้รู้ลึกถึงเรื่องต่างๆ แต่มีทักษะของการคิดวิเคราะห์ที่ดีเนี่ยเข้ามาทำงาน

ความท้าทายของผมคือที่ผ่านมา ผมทำงานกับระดับปลัดกระทรวง ระดับ CEO บริษัท วันแรกเราต้องเจอคำถามว่าเด็กพวกนี้อายุ 22 จะมาให้คำปรึกษาอะไรที่มันมีคุณค่า มันเป็นความท้าทายที่ต้องเจอทุกครั้งที่เปลี่ยนโปรเจกต์ ก็เลยถือเป็นประสบการณ์ ที่ได้ทำงานกับผู้มีประสบการณ์ ผมมองว่า 2 อย่างนี้จะมาช่วยการเมืองไทย

วรรณสิงห์
นี่เรากำลังพูดถึงความพร้อม แน่นอนการทำงานทุกชนิดต้องเพิ่มทักษะการทำงานให้เรา ทำให้เราทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อสักครู่ คุณพริษฐ์ บอกว่าอยากพัฒนาประเทศ ผมอยากเจาะไปก่อนหน้านั้นอีก อะไรเป็นแรงบันดาลใจ ให้เราอยากพัฒนาประเทศ เพราะว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่พูดคำนี้ออกมา แต่ทุกคนที่มายุ่งกับการเมืองจะพูดคำนี้หมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันเป็นความจริง แรงจูงใจมาจากไหน

new4

พริษฐ์
มันมาตั้งแต่ตอนอายุ 13 ตอนนั้นผมได้สอบชิงทุนไปที่อังกฤษ ก็เลยมีโอกาสได้ไปเรียน พอเปิดเทอมอยู่อังกฤษ ปิดเทอมอยู่ไทย มันเริ่มมีการเปรียบเทียบแล้ว สิ่งที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ ที่อังกฤษกับที่ประเทศไทยเนี่ย ระบบการปกครองเหมือนกันคือ เป็นประชาธิปไตย มีรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์ นะครับ แต่ผลลัพธ์ที่มันออกมาในสภาพเศรษฐกิจ สังคม มันต่างกันมาก คือที่อังกฤษความเหลื่อมล้ำมันน้อยมาก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือว่าสมมติว่าคุณพ่อคุณแม่มีลูกเนี่ย เขาจะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนประถมใกล้บ้าน ไม่สบายก็จะไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน คุณภาพโรงเรียนกับโรงพยาบาลทั่วประเทศเขาเหมือนกันหมด แต่ที่ประเทศไทยเนี่ย เวลาผมกลับมาตอนปิดเทอมมีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพเปิด คนนี่รุมเข้ามา เวลาผมไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯเนี่ยก็จะเจอคนไข้ที่เสียค่าใช้จ่ายเยอะมากที่จะมารักษา แต่เขามาเพราะเขาคิดว่าจะเจอแพทย์ที่ดีกว่า

มันก็เลยตั้งคำถามตั้งแต่เด็กๆ ว่า เอ๊ะ ทำไมระบบการปกครองมันก็เหมือนกันถอดรูปแบบรัฐสภาเขามา ทำไมความเหลื่อมล้ำมันถึงต่างขนาดนี้ นั่นคือจุดประกายแรก ทำให้ผมตัดสินใจไปเรียน ปรัชญาการเมืองเศรษฐศาสตร์ ก็เปิดมุมมองในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว

วรรณสิงห์
ครับ มาอีกคำถาม แน่นอนคำถามนี้ ทุกคนต้องถามว่า อายุ 25 ปี เด็กไปหรือเปล่าสำหรับการเมือง ถึงแม้ว่าอาจจะทำงานมาก่อน แต่แน่นอนว่า 3 ปี ยังเป็นประสบการณ์ที่ยังน้อยมากสำหรับหลายๆ คน เราหวังอะไรจากการที่เรามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในอายุเท่านี้ แล้วมองอนาคตไว้ยังไงบ้าง แล้วเราพร้อมจริงหรือเปล่า

new5

พริษฐ์
ถ้าถามว่าเด็กไปไหม ถ้าถามเรื่องอายุ ผมก็ต้องยอมรับว่าผมอายุแค่ 25 ครับ แต่อย่างที่ผมบอกก็คือว่า ผมก็เรียนมาโดยตรง และพยายามหาประสบการณ์ที่จะมาช่วยทำงานทางการเมืองได้ การที่รัฐธรรมนูญก็ระบุไว้แล้วว่า คุณสามารถสมัครเป็นผู้แทนราษฎร์ได้ ตอนอายุ 25 และผมก็เชื่อว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่อายุเท่านี้ ที่สนใจงานทางการเมืองในประเทศนี้

ไม่ว่าจะพรรคใดก็ตาม การที่มีคนรุ่นผมอยากเข้ามาทำงานทางการเมือง ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าถ้าคนอายุอย่างผมไม่สนใจงานทางการเมืองเลยเนี่ย ก็จะไม่มีผู้แทนที่จะเข้าไปอยู่ในรัฐสภา ที่เป็นเยาวชน

แล้วก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เยาวชนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผมไปคุยกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเนี่ย ก็จะเป็นเรื่องสุขภาพจิต เรื่องรักร่วมเพศที่สามารถแต่งงานกันได้ ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นผมเนี่ยให้ความสำคัญมากกว่าคนรุ่นอื่น และก็จะมีทักษะมากกว่าคนรุ่นอื่น ผมว่าผมก็น่าจะใช้เฟซบุ๊กเก่งกว่าคุณพ่อคุณแม่ผม คุณพ่อคุณแม่ผมก็ต้องรักษาคนไข้เก่งกว่าผม มันมีความสนใจกับทักษะที่ไม่ตรงกัน การที่มีตัวแทนเข้าไปอยู่ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี

วรรณสิงห์
เมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจไปแล้ว ย้อนกลับมาที่เรื่องพรรคนิดหนึ่ง คิดว่าตัวเองเป็นเสรีนิยมใช่ไหมครับ แต่พรรคประชาธิปัตย์เนี่ยถูกโยงเข้าสู่การเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างเยอะในประเทศไทย

ถึงแม้จุดเริ่มต้นจะเป็นคนละอย่างก็ตาม แต่หลายคนก็มองว่าพรรคเป็นตัวแปรให้ คสช. เข้ามามีอำนาจได้ หลายคนก็มองว่าการกระทำตรงนั้นขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลที่เสียงส่วนใหญ่เลือกเข้ามา กลับไม่ได้ทำตำแหน่งรัฐบาลให้ครบวาระตรงนั้น คิดยังไงกับตรงนี้ครับ

new6

พริษฐ์
คืออย่างที่ผมบอกว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์เขาก็มีมุมมองของเขาที่อยู่ในช่วงนั้น ผมไม่ได้ถูกใจทุกอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นนะครับ เอาทีละเรื่องนะครับ เรื่องส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารครั้งที่แล้ว ถ้าไปถามคนในพรรค มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เขาไม่ได้เกี่ยวข้อง มองเป็นคนๆ ไป

 คนก็จะมองเรื่อง กปปส. เชื่อมโยงกับพรรค แต่คนในพรรคเขาก็มองว่าแยกกัน แต่ผมเข้าใจแหละ คนภายนอก มองเข้าไปก็เอ๊ะ! สมาชิก กปปส. หลายคนก็เคยเป็น ส.ส. ของพรรค มันก็ดูมีความเชื่อมโยงกันอยู่

แต่อย่างที่ผมบอกว่า ผมไม่ถูกใจกับทุกอย่างของคนที่เคยอยู่ในพรรค

อย่างถ้าเราย้อนกลับเข้าไปในเหตุการณ์เนี่ย หลังจากเลือกตั้ง 54 เนี่ย พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำงานเป็นฝ่ายค้านมา 2 ปี ถึงแม้จะมีโครงการที่พรรคไม่เห็นด้วย อย่างเช่น โครงการจำนำข้าว เรื่องรถคันแรก ก็เป็นฝ่ายค้านมาตลอด จุดประกายมันเกิดขึ้นที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งตอนนั้นผมอยู่ที่อังกฤษ ถ้าตอนนั้นผมอยู่เมืองไทย ผมก็คงไปเดินประท้วงเหมือนกัน แล้วผมว่า ผมก็ไม่ใช่คนเดียว หรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่พรรคเดียว ที่ตอนนั้นไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะประชาชนมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินเหตุ

แต่ว่าพอตรงนั้นจบไปแล้ว ถ้าผมอยู่เมืองไทย ผมก็คงกลับบ้าน ผมไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐบาลนอกระบบรัฐสภา ประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่คนข้างนอกก็สงสัยได้ ไม่รู้แหละว่ายังไง แต่ผมไม่รวมกับตรงนั้น

วรรณสิงห์
แน่นอนว่าเราพูดในฐานะเราได้ แต่ถ้าเราเข้ามาในพรรคจริงๆ ทำยังไงคนถึงจะฟังเรา การพูดคุยมักจะรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เรามักจะมีสิ่งที่ชอบ สิ่งที่เกลียด การที่จะเข้าไปคุยกับคนที่ต่างความคิด ต่างสถานะ ต่างพรรคกันได้นี่มันยากมากจริงๆ ครับ แล้วนี่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้คนหวังจากนักการเมืองรุ่นใหม่ คือสามารถที่จะทำลายกำแพงแห่งความเกลียดชังของสังคมได้สักที เรามีแผนไหมครับ หรือเรามองว่ามันยากมากเลยในเรื่องนั้น

new7

พริษฐ์
มันเป็นความท้าทายอยู่แล้ว แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ผมต้องยอมรับนิดหนึ่งว่า สองสามเดือนที่ผ่านมา ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาแสดงความชัดเจนขึ้นว่าจะเป็นประชาธิปไตย ผมถึงกล้ามาในวันนี้ในฐานะพรรค เพราะไม่เช่นนั้นผมคงไม่มาเหมือนกัน แน่นอนหลายคนคงยังตั้งข้อสงสัย เพราะยังเป็นแค่คำพูดอยู่ การกระทำจะเป็นการพิสูจน์ แน่นอนต้องรอเวลา

itim2 “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ในวัย 25 ปี

แต่เรื่องอนุรักษนิยม หรือเสรีนิยม ผมว่ามันต้องอยู่ที่นโยบาย ซึ่งนโยบาย หนึ่งในนั้นที่ผมพยายามจะผลักดันในพรรคและก็ได้รับ การตอบสนองจากพรรคเนี่ย ก็คือนโยบาย เช่น การที่ทำให้คนร่วมเพศมาแต่งงานกันได้ หลายคนก็จะมองว่านี่คือเสรีนิยมอย่างแท้จริง ไม่ใช่อนุรักษนิยม เพราะฉะนั้นถ้าเราดูการเมืองต่างประเทศเราก็จะเห็นว่าพรรคอนุรักษนิยมบางพรรคก็จะมีแรงต่อต้าน หรืออย่างน้อยไม่ได้เป็นผู้นำในการนำเสนอนโยบาย ผมมองว่านโยบายจะเป็นตัวพิสูจน์

วรรณสิงห์
เล่าบรรยากาศในพรรคให้ฟังหน่อยครับ สมมติเราเป็นคนอายุ 25 อย่างนี้ มีความคิดอยากไปบอกคนอายุ 60 มันเป็นยังไงหรอ กระบวนการตรงนั้น บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

พริษฐ์  
คือต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองยังทำงานเต็มที่ไม่ได้ ก็มีข้อจำกัดอยู่เกี่ยวกับการทำงาน แน่นอนพรรคไม่ได้มีแต่คนอายุ 25 อันนี้ต้องยอมรับ ผมมองว่าอย่างที่ผมพูดไปแล้ว ว่านี่เป็นโมเดลที่น่าจะยั่งยืนที่สุด แต่สิ่งที่ผมไม่เคยรู้สึกเลย ก็คือว่าเสียงของผมนั้นดังน้อยกว่าคนอายุ 60 หรือคนอายุ 25 ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ความเป็นประชาธิปไตยเท่ากัน

ประชาธิปไตยในตัวของพรรคประชาธิปัตย์นี่แหละมันดีอยู่ และผมก็หวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราดูประวัติเราก็จะเห็นว่าค่อนข้างให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่พอสมควรในอดีต ไม่ว่าในฐานะผู้สมัคร ส.ส. หรือแม้กระทั่งหัวหน้าพรรค ซึ่งอย่างคุณชวน (ชวน หลีกภัย) หรือคุณอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็ขึ้นมาตอนอายุเรียกได้ว่า 40 กว่าๆ ก็เท่าๆ กับหัวหน้าพรรค หรือคนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วม F4 ของรายการนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่ามันเป็นอะไรที่มันมีมาตลอด

 

วรรณสิงห์
กลับมาเรื่องส่วนตัวบ้างครับ นอกจากการเมืองแล้วสนใจอะไรบ้าง สมมติไม่ใช่คุณพริษฐ์ เป็น น้องไอติม ชอบเล่นอะไรบ้าง

พริษฐ์
น้องไอติมเรียกว่าเป็น น้องไอติมสองรส ก็คือว่าเวลาผมทำงาน หรือตอนเรียนผมจะจริงจังมาก เพื่อนผมกับแฟนผมยังยอมรับเลยว่า ผมจริงจังมาก เพื่อนผม กับแฟนก็จะล้อตลอด

วรรณสิงห์
อ้าวมีแฟนแล้วนะครับ สรุปนะฮะ!

พริษฐ์
แฟนสมัยก่อนนะฮะ! (หัวเราะ)

วรรณสิงห์
อ๋อสรุปไม่มี! (หัวเราะ)

พริษฐ์
ผมเกรงใจฮะ เดี๋ยวผมเป็นทหาร 6 เดือน เดี๋ยวเขาจะไม่รอครับ (หัวเราะ)

วรรณสิงห์
อะยังไงต่อสมัยก่อน (ยิ้ม)

พริษฐ์
คือจะโดนล้อบ่อยมาก เมื่อก่อนพอมีโทรศัพท์ผมจะลุกขึ้นไปพูดแล้ว ลุกไปเดินแล้ว แล้วก็หน้าซีเรียส

วรรณสิงห์
มีเสียงสองใช่มะ เสียงสอง

พริษฐ์
ใช่ครับ คือจะจริงจังมาก แต่พอผมอยู่กับเพื่อนเนี่ย ผมจะเฮฮามาก เป็นคนที่กวนมาก บางทีคนที่เข้ามารู้จักกับผมจากการทำงานก่อน ตอนแรกเขาจะเข้ามาสารภาพกับผมว่า ถ้าเขาจะมาคุยกับผมให้รู้เรื่องเนี่ย เขาจะต้องไปอ่านหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเศรษฐกิจมาก่อนว่าเออวันนี้มีเรื่องอะไร ก่อนที่จะมาคุยกับผมรู้เรื่อง แต่พอเข้ามาสนิทกับผมแล้ว ก็จะเห็นว่าผมสนุกสนาน ผมบ้าบอลมาก ทั้งเตะ ทั้งเล่น ทั้งดู

วรรณสิงห์
ทั้งพนัน! (หัวเราะ)

พริษฐ์
เอ้ยไม่ใช่ครับ (หัวเราะ) ทั้งเล่นเกมฟีฟ่า หรือในแฟนตาซี แต่ผมไม่อยากโม้ว่าผมอยู่ในท็อป 200 ของประเทศ

วรรณสิงห์
โอ้โฮ!

พริษฐ์
ทุกวันเสาร์ผมจะเครียดมาก ว่าจะดูหรือจะเล่นบอลดี เพราะผมก็ต้องมานั่งทำทีมของแฟนตาซี (ยิ้ม)

วรรณสิงห์
นี่เป็นเรื่องสำคัญมากของชีวิตเลยใช่ไหมครับ (ยิ้ม)

พริษฐ์
ใช่ครับใช่ (ยิ้ม)

วรรณสิงห์
เราก็มีแง่มุมเด็กทั่วไปอยู่ ก็ไม่ได้ทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป แค่มีความจริงจัง

พริษฐ์
งานการเมือง หรืองานอะไรก็ตาม ผมก็คิดว่ามันจริงจังเพราะมันมีผลกระทบต่อคนหลายคน

itim

วรรณสิงห์
คุณพริษฐ์จบจาก มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เคยดูคลิปนะฮะ ก็เคยสัมภาษณ์คนดังระดับโลกหลายคนเหมือนกัน หนึ่งในนั้นที่คนสนใจอย่างมากคือ กษัตริย์ จอฟฟรีย์ จากซีรีส์เรื่องเกมออฟโทรน ทำไมเราถึงมีโอกาสอย่างนั้นได้ครับ ทั้งๆ ที่นักเรียนในอ็อกซ์ฟอร์ดก็เยอะไปหมด

พริษฐ์
ผมทำหน้าที่ในฐานะประธานอ็อกซ์ฟอร์ดยูเนียน สมัยก่อนเลยเมื่อ 200 ปีที่แล้ว อ็อกฟอร์ดยูเนียนก่อตั้งเนี่ยมันเป็นแค่ชมรมโต้วาทีเล็กๆ ซึ่งมันมีขึ้นมาเพราะสมัยนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันถูกจำกัด ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่นักเรียนสามารถเมาท์เรื่องอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีตำรวจมาจับ พอ 200 ปีถัดมาเนี่ย มันเติบโตขึ้นมาใหญ่มากเป็นเหมือนกับว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนหรือหมื่นกว่าคนเป็นสมาชิกแล้วก็มีรายได้ปีละ 50 ล้านบาท

เอกลักษณ์ของมันก็คือคณะกรรมการบริหารองค์กรนี้ ทุกคนคือเป็นนักเรียน นักศึกษาหมด ไม่มีผู้ใหญ่เลย ไม่มีคนของมหาวิทยาลัยเลย แล้วมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น สมัยก่อนเป็นชมรมโต้วาทีก็จริง แต่ในฐานะผู้บริหาร หรือประธานเนี่ยไม่ได้โต้วาทีเลยคนจะมองว่าพริษฐ์เก่งเรื่องโต้วาทีรึเปล่า ผมบอกในฐานะประธานผมแทบไม่ได้โต้วาทีเลย เป็นบริหารไอเดีย หน้าที่บริหารมันก็มี 3 ด้าน

ด้านแรกก็คือเราจะจัดงานที่เชิญวิทยากรมาในฐานะประธาน ผมก็สัมภาษณ์ แน่นอนเรายึดมั่นในหลักการ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถามคำถามที่มันหนักๆ หน่อยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี หรือกษัตริย์จอฟฟรีย์ (ยิ้ม)

อย่างที่สองก็คือมันมีหน้าที่ในการบริหารรายได้รายจ่ายอยู่ เพราะว่ารายได้ 50 ล้านบาท มันก็มีรายจ่ายสูงเหมือนกัน ผมก็ยังเครียดเลย ตอนที่ผมเป็นประธาน ถ้าผมพลาดไปนิดหนึ่ง ผมจะทำให้องค์กรที่มีประวัติศาสตร์ 200 ปีนี่ล้มละลาย ผมก็รู้สึกผิดเหมือนกันนะ

itim4

วรรณสิงห์
ก่อนหน้านั้นประธานก็มีทุกชาติมาก่อนแล้ว

พริษฐ์
ครับ เป็นคนทุกชาติ

วรรณสิงห์
แต่ส่วนมากน่าจะเป็นคนอังกฤษ

พริษฐ์
ใช่ครับ ส่วนมากจะเป็นคนอังกฤษ ความจริงคนที่เป็นเอเชียตะวันออกอย่าง จีน ญี่ปุ่น คนแรกในประวัติศาสตร์เลยเนี่ยคือคนก่อนผม ตอนเขาเลือกตั้ง เขาก็ใช้วิธีว่าเป็นคนเอเชียในการเลือกตั้ง พอตาผมก็ใช้เรื่องนั้นไม่ได้แล้ว ก็ต้องหาวิสัยทัศน์เรื่องอื่น

วรรณสิงห์  
แล้วเราเรียนอังกฤษ ตอนมัธยมเราอยู่เมืองนอกไหม

พริษฐ์
ครับ ผมเรียนเมืองนอกเพราะได้ทุนไปเรียนตอนอายุ 13

วรรณสิงห์
แน่นอนว่าการเดินทางทำให้เรามีประสบการณ์ที่ดีหลายอย่าง แต่อีกแง่หนึ่งคนก็จะถามว่าคุณรู้จักเมืองไทยดีแค่ไหน คุณเคยไปอยู่แบบชาวบ้านชาวช่องจริงๆ ไหม หรือเข้าใจวัฒนธรรมไทยดีขนาดไหน ในแบบที่คนอื่นเขาเป็นกัน เพราะอันนี้ก็เป็นหนึ่งในคำวิจารณ์ที่คุณอภิสิทธิ์เองก็เคยโดนเหมือนกัน แล้วจะตอบเขาว่ายังไงครับ

พริษฐ์
อย่างแรกเลยก็คือตอนผมอยู่ต่างประเทศ ผมก็กลับมาเมืองไทยอยู่เรื่อยๆ อยู่เมืองไทยผมก็ใช้ชีวิตปกติ ไปไหนมาไหนไม่มีทีมงาน ไปไหนมาไหนก็ไป Taxi ไปวินมอเตอร์ไซค์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook