แถลงการณ์ครส.ร้องแกนนำรบ.-แม้ว คุยสันติ-ไม่รุนแรง

แถลงการณ์ครส.ร้องแกนนำรบ.-แม้ว คุยสันติ-ไม่รุนแรง

แถลงการณ์ครส.ร้องแกนนำรบ.-แม้ว คุยสันติ-ไม่รุนแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตือนก่อนถึงวิกฤติ ให้หยุดสถานการณ์นองเลือด ร่วมกันปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตย แนะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้ออกแถลงการณ์ คำเตือนก่อนวิกฤติ : หยุดสถานการณ์นองเลือด ร่วมกันปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตย โดยมีข้อความดังนี้

สืบเนื่องจากการชุมนุมครั้งใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และประชาชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในนามของ มวลมหาประชาชนคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเรียกร้องให้มีการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงใหม่ โดยให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธุ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี รวมถึงเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้มีการสร้างประชาธิปไตยใหม่ตามแถลงการณ์ฉบับที่หนึ่งของ นปช.นั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และเครือข่าย ได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกรณีดังกล่าวมาโดยตลอด มีข้อห่วงใย ความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1.การชุมนุมโดยสงบ โดยปราศจากอาวุธและไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเกินสมควร ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่สามารถกระทำได้ ในสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เราขอสนับสนุนสิทธิการชุมนุมโดยสันติของพลเมืองเพื่อไห้ข้อเรียกร้องของตนเองได้รับความสนใจจากสังคมและรัฐบาล และสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ใช้มาตรการรุนแรงหรือการปราบปรามในการแก้ไขปัญหาและหลีกเลี่ยงการยั่วยุเผชิญหน้า ซึ่งจะนำมาสู่สถานการณ์ความรุนแรง ที่ก่อความเสียหายต่อประชาชนและสังคมอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีสติ ไม่ก่อความรุนแรงเพื่อเอื้อผลประโยชน์ตามอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองและเปิดโอกาสให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

2.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายผู้ชุมนุมยึดแนวทางสันติอหิงสาโดยเคร่งครัด โดยแกนนำจะต้องรับผิดชอบผู้ชุมนุมของตนเอง ไม่ให้ก่อความรุนแรงหรือเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น เราขอตำหนิการที่ส่วนหนึ่งของกลุ่ม นปช. ใช้กำลังข่มขู่ คุกคามหรือกลุ้มรุมจะทำร้ายนายกรัฐมนตรีดังที่เกิดขึ้นที่พัทยา หรือกับบุคคลอื่นใด และขอประนามแผนการลอบสังหารบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะองคมนตรี ของกลุ่มผู้ฉกฉวยประโยชน์จากความขัดแย้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะของกลุ่มตน รวมทั้งการก่อวินาศกรรม ระเบิด การก่อจราจล การปิดกั้นเพื่อให้เกิดการปั่นป่วนระบบจราจร หรือวิธีการนอกกรอบกฎหมายและสิทธิทางการเมือง กลุ่มผู้ที่แอบอิงการชุมนุมจะต้องไม่ใช้ผู้ชุมนุมเป็นเครื่องมือและประชาชนเป็นเหยื่อและเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม

3.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ร่วมหาหนทางเพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและบานปลายเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยกำหนดให้เป็นแนวทางแห่งรัฐ ที่ทุกรัฐบาล, พรรคการเมืองต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เช่น การลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนยากจน การเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า การปฏิรูปที่ดินโดยการจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุดและกระบวนการยุติธรรม และการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพอย่างแท้จริง และป้องกันบุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มการเมืองแอบอ้างสถาบันสูงสุดของชาติเพื่อประโยชน์ของตน เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในยะยาว

เพื่อการดังกล่าว อาจกระทำได้โดยร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อการปฏิรูปประเทศและสังคมที่ประกอบด้วยตัวแทนที่สามารถเป็นปากเสียงแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่การรอมชอมดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้นำของคู่ขัดแย้งเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นตัวแทนในการเจรจาโดยตรง ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวต้องออกไปนอกวงของการเจรจา อย่างไรก็ตามการเจรจารอมชอมจะต้องไม่เป็นไปเพื่อลบล้างความผิดหรือยกประโยชน์เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีคดีความผิดทางอาญาติดตัวอยู่

ขอให้ทุกฝ่ายโปรดตระหนักว่าการรอมชอมดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว อาจเกิดขึ้นได้ยากหากความขัดแย้งขยายตัวบานปลายถึงขั้นแตกหักหรือเกิดเหตุการณ์นองเลือด เพราะเหตุการณ์เช่นนั้นจะก่อให้เกิดการเสียดุลยภาพ ดังนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) และเครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้แกนนำที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หยุดใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ หรือสร้างภาวะอนาธิปไตยให้เกิดสงครามกลางเมือง เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากันอย่างสันติ บนวิถีแห่งสันติภาพ

9 เมษายน 2552
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook