สตง.ชี้ติดตั้ง ไฟฟ้าพลังโซลาร์ ส่อทุจริต ส่งป.ป.ช.สอบ
สตง.เผยผลตรวจสอบจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ของกฟภ.พบพิรุธใช้อำนาจโดยมิชอบกีดกันยื่นประมูล การติดตั้งไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด แจ้งให้ปรับปรุง ตอบกลับใน 60 วัน
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า สตง.ได้ตรวจสอบการจ้างเหมาพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าด้ายเซลล์แสงอาทิตย์ ตามโครงการเร่งรัดขยายบริหารไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Home System : SHS) จำนวน 6 ประกาศประกวดราคา วงเงิน 3,814.11 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,625.28 ล้านบาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ได้โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกีดกันผู้เสนอราคาบางราย และเอื้อประโยชน์กับผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง ส่งผลทำให้มีการจัดซื้อจัดจ้างในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น มากกว่า 112.84 ล้านบาท ซึ่ง สตง.ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการตรวจสอบขยายผลตรวจสอบไปยังการดำเนินงานโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2550 มีครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องดำเนินการติดตั้งระบบ 203,000 ครัวเรือน ใน 73 จังหวัด โดย กฟภ.เป็นผู้ติดตั้งระบบ SHS และส่งมอบให้ อปท.รับผิดชอบดูแล ซึ่งจากการสุ่มตรวจ อปท. จำนวน 422 แห่ง ในพื้นที่ดำเนินโครงการ 60 จังหวัด ซึ่งมีครัวเรือนที่ได้รับการติดตั้งระบบ SHS จำนวน 72,647 ระบบ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,816.18 ล้านบาท พบว่ามีงานหลายแห่ง ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ขาดการดูแลรับผิดชอบ บางพื้นที่ระบบถูกทิ้งร้างไม่มีการใช้ประโยชน์ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า อีกทั้งยังเสียโอกาสในการสะสมรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบอย่างน้อยปีละ 38.39 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า การติดตั้งระบบ SHS ให้แก่ครัวเรือนก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีการติดตั้งให้กับครัวเรือนที่ใช้ระบบไฟฟ้าปกติได้ หรือติดตั้งกับสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช่บ้านเรือน เช่น คอกสัตว์ โรงรถ ศาลาที่พัก เป็นต้น อีกทั้งยังมีครัวเรือนที่ไม่ได้ใช้งานระบบ SHS เนื่องจากมีระบบไฟฟ้าปกติเข้าถึงภายหลังการติดตั้งเพียงปีเศษ และมีบางแห่งนำระบบไปใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมาก เช่น พัดลม ตู้เย็น ปั๊มน้ำ เป็นต้น ทำให้ระบบจ่ายไฟได้ในระยะสั้นลงและอาจชำรุดเสียหายได้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สตง.ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบแก้ไข ปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความคุ้มค่า รวมถึงเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และให้ทำหนังสือแจ้งกลับมารายงานผลให้ สตง.รับทราบภายใน 60 วัน และจะตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป