คนสนิทผู้นำอาเซียนโวยไทยไม่เข้มแข็ง! ปล่อยม็อบบุก รอยเตอร์ ชี้ มาร์ค อ่อนแออาจนองเลือดได้
ต่างชาติโวยไทยไม่เข้มแข็งปล่อยม็อบบุกถึงสถานที่ประชุม เผยการประชุมสุดยอด-ประเทศคู่เจรจาทุลักทุเลตั้งแต่หัววัน รัฐมนตรีเกาหลีใต้-จีน-ญี่ปุ่น พบหารือกันไม่ได้ต้องใช้โทรศัพท์แทน เลขาฯยูเอ็นเสียใจสุดซึ้ง เรียกร้องให้เจรจาโดยสันติหวังให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รอยเตอร์ วิเคราะห์ สถานะ อภิสิทธิ์ อ่อนแอลงและอาจนำไปสู่การนองเลือดในที่สุด
สำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลกพากันรายงานเหตุกลุ่มคนเสื้อแดงบุกเข้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและประเทศคู่เจรจา จนเป็นเหตุให้ต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินและยกเลิกการประชุม เมื่อวันที่ 11 เมษายน ออกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นรายงานเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดการทุกลักทุเลในการประชุมต่างๆ ที่กำหนดจะมีขึ้น จนถึงกับต้องเจรจากันผ่านโทรศัพท์แทน เรื่อยไปจนถึงการนำตัวผู้นำประเทศต่างๆ หลบออกจากโรงแรม เพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ความทุลักทุเลเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสายวันเดียวกันเมื่อ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไม่สามารถพบหารือกันได้ตามกำหนด หลังจากกลุ่มเสื้อแดงนำรถเท็กซี่ราว 100 คัน ไปจอดขวางการจราจรในสี่แยกใจกลางเมือง เป็นเหตุให้ไม่สามารถเดินทางมายังสถานที่ประชุมที่กำหนดไว้ได้ หลังจากรอคอยให้การประท้วงซาลงกว่า 1 ชั่วโมงแล้วไม่เป็นผล นายฮิโรฟูมิ นากาโซเน่ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจใช้โทรศัพท์เป็นหนทางในการเจรจาแทน โดยโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายหยาง เจียฉี รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะติดต่อไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้เป็นลำดับต่อมา อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีเวิน เจีย เป่า ของจีน และนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะ ของญี่ปุ่น กับประธานาธิบดีลี เมียง บัก แห่งเกาหลีใต้ ก็สามารถพบหารือกันในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแสดงท่าทีต่อเกาหลีเหนือและประเด็นทางเศรษฐกิจได้หลังจากที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว โดยอาศัยช่วงเวลาที่ทุกอย่างอยู่ในความสงบพบหารือกันดังกล่าวและกลายเป็นกลุ่มผู้นำกลุ่มหลังสุดที่เดินทางกลับจากประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ การปิดถนนส่งผลให้นายทาโร่ อาโสะ ไม่สามารถเดินทางจากโรงแรมอมารีที่พักเข้าสู่ที่ประชุมได้ และทำให้การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนและจีนต้องล้มเลิกไปเช่นเดียวกัน เพราะนายเวิน เจีย เป่า ไม่สามารถเดินทางสู่ที่ประชุมได้เช่นกัน
เอเอฟพี ระบุด้วยว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์การบุกรุกสถานที่ประชุมนั้น ได้มีการอพยพบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนที่พักอยู่ในโรงแรมดังกล่าวออกจากสถานที่ด้วยเฮลิคอปเตอร์ โดยนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย่ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากหลังคาโรงแรม ส่วนนายเทียน เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า ก็ใช้วิธีเดียวกันเดินทางไปลงยังสนามบินอู่ตะเภา เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี เหงียน ทันดุง ของเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม นายบัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เพิ่งเดินทางถึงสนามบินอู่ตะเภาก็ตัดสินใจเดินทางกลับทันที เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ ของออสเตรเลีย ที่อยู่ระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบินของทางการอยู่ห่างจากพัทยาราว 2ชั่วโมง ก็ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศแล้วเช่นเดียวกัน ส่วนนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เดินทางถึงกรุงเทพฯ และได้รับคำแนะนำให้ชะลอการเดินทางไปยังสถานที่ประชุมไว้ก่อน จนกระทั่งมีการยกเลิกการประชุมและเดินทางกลับในที่สุด
สำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซีย รายงานว่า ดะโตะ ซรี นาจิบ ตุน ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียปลอดภัยดีแม้ว่าจะมีความพยายามบุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟฯ ที่ผู้นำมาเลเซียพำนักอยู่
รอยเตอร์ รายงานว่า นายบัน คีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีกำหนดพบหารือกับผู้นำอาเซียนและประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกันกล่าวแสดงความเสียใจอย่างลึกซึ้งต่อการยกเลิกการประชุมสุดยอดของบรรดาผู้นำในเอเชียนครั้งนี้ ในถ้อยแถลงของนายบันระบุว่า เข้าใจสภาวะแวดล้อมที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ยากลำบากของรัฐบาลไทยในการยกเลิกการประชุมดังกล่าว และหวังว่าประเทศไทยจะสามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการทำความตกลงความแตกต่างทางความคิดกันด้วยการเจรจาและวิธีการสันติ
เอเอฟพี รายงานในเวลาต่อมาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นคนแรกที่เดินทางออกจากโรงแรมด้วยเฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตามนักการทูตรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่าการหลบออกไปก่อนดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้พวกตนไม่สบายใจแต่อย่างใด เพราะเข้าใจดีว่านายกรัฐมนตรีไทยคือ เป้าหมายของผู้ประท้วง ถ้าหากยังอยู่จะยิ่งทำให้ผู้นำคนอื่นๆเป็นอันตรายตามไปด้วย
เอเอฟพี ระบุว่า นางเจเนต โรดริเกวซ ภริยาของเอกอัครราชทูตฟิลลิปปินส์ประจำประเทศไทย ยังตัดสินใจกินซูชิมื้อเที่ยงของตนจนแล้วเสร็จ โดยบอกว่า เคยชินกับการประท้วงในเมืองไทยแล้ว แต่การปล่อยให้ผู้ประท้วงบุกเข้ามาในโรงแรมเช่นนี้ก็ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเจ้าภาพแต่อย่างใด ในขณะที่คนสนิทของผู้นำอาเซียนรายหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องรีบเช็คเอาท์คณะจำนวน 50 คนเพื่อตามไปสมทบผู้นำของตนเดินทางกลับประเทศให้เร็วที่สุด ตำหนิอย่างตรงไปตรงมาว่า ไทยไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ปล่อยให้ผู้ประท้วงลามปามเข้ามาถึงที่นี่ได้อย่างไร ควรจะบล็อกไว้ก่อนที่จะมาถึงด้วยซ้ำ
ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์เผยแพร่ออกไปทั่วโลก โดยระบุว่า เหตุการณ์การประกาศภาวะฉุกเฉินและการยกเลิกการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ทำให้ทางเลือกของนายอภิสิทธิ์ ในการจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงเหลือน้อยลง โดยระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้สถานะของนายอภิสิทธิ์อ่อนแอลง ทั้งสืบเนื่องจากความผิดพลาดในการประเมินกลุ่มเสื้อแดงต่ำ และการปล่อยให้เข้าถึงสถานที่ประชุมได้ ซึ่งแสดงถึงการขาดความเด็ดขาดในการตัดสินใจแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อเลี่ยงการนองเลือดก็ตามที นอกจากนั้นจะทำให้สถานะของนายอภิสิทธิ์ ในพรรคประชาธิปัตย์พลอยอ่อนแอลงไปด้วย
รอยเตอร์ ระบุว่าหากมีการยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็เสี่ยงต่อการจะทำให้กลุ่มสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการตัดสินใจใช้ไม้แข็งเพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง ก็อาจจะนำไปสู่การนองเลือดและอาจทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ ที่เดินทางออกจากโรงแรม เนื่องจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้เดินทางไปยังสนามบินอู่ตะเภา เพื่อส่งผู้นำชาติต่างๆ เช่นเดียวกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางออกจากโรงแรมทางเรือ ไปสมทบกับนายอภิสิทธิ์ เพื่อส่งผู้นำประเทศต่างๆ
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินอู่ตะเภาภายหลังส่งผู้นำของแต่ละประเทศเดินทางกลับด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า ภารกิจของตนคือ การดูแลและส่งผู้นำแต่ละประเทศกลับประเทศ ซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม และขอทำงานก่อน
เมื่อถามว่า จะชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แน่นอน
ด้านนายกษิต กล่าวเพียงสั้นๆว่า "ผู้นำทุกคนไม่ตกใจ คิดว่าประเทศไทยยังสามารถจัดการประชุมอีกครั้งได้ เพราะประเทศไทยน่ารักจะตาย"
เมื่อเวลา 19.18 น. สำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซีย ระบุว่า ดะโต๊ะ ซรี นาจิบ ตุน ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าเดินทางกลับประเทศยืนยันว่า ไทยไม่จำเป็นต้องสละตำแหน่งประธานอาเซียนแต่อย่างใด แม้ว่าจะยกเลิกการประชุมสุดยอดครั้งที่ 14 และการประชุมสุดยอดอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องไปแล้วก็ตาม แต่ควรหาโอกาสจัดการประชุมดังกล่าวเหล่านั้นใหม่
"ผมมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนประธานอาเซียน รัฐบาลไทยควรได้รับโอกาสให้ตัดสินใจว่าการประชุมสุดยอดนี้ควรจะมีขึ้นใหม่ในไทยอีกครั้งหรือไม่"ผู้นำมาเลเซียระบุ แต่เสริมด้วยว่า ถ้าหากจะจัดขึ้นในไทยอีก รัฐบาลควรให้หลักประกันแก่ผู้ที่เดินทางเข้าร่วมว่าการประชุมจะดำเนินไปอย่างราบรื่น