“ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร” เรียนรู้ความหลากหลาย เพื่อความเข้าใจและสันติภาพ

“ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร” เรียนรู้ความหลากหลาย เพื่อความเข้าใจและสันติภาพ

“ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร” เรียนรู้ความหลากหลาย เพื่อความเข้าใจและสันติภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายปีที่ผ่านมานี้ คนไทยมีประเด็นให้ถกเถียงกันมากมาย และหนึ่งในประเด็นที่สร้างวิวาทะอันดุเดือดได้ทุกครั้งก็คือ “ปัญหาผู้ลี้ภัย” โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่หนีภัยการกวาดล้างมาจากประเทศเมียนมา เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย และรอเวลาที่จะถูกส่งไปประเทศที่สาม ซึ่งนอกจากจะจุดประเด็นให้ถกเถียงกันในโลกออนไลน์แล้ว ยังเป็นที่มาของวาทะเด็ดของผู้นำประเทศของเรา ที่ให้ผู้ที่สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญารับชาวโรฮิงญาไปอยู่ที่บ้าน รวมทั้งหลายความเห็นที่มองว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะเข้ามาเป็นภาระให้กับประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไม่ทำงานและรอคอยแต่ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ภาพจำแง่ลบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 ไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย รวมทั้งไม่มีนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีสถานะเป็น “คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมือง นั่นคือการได้รับอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่แค่ชั่วคราว แต่ไม่ได้เป็นพลเมือง รวมทั้งสามารถถูกจับกุม กักกัน และส่งกลับไปยังประเทศต้นทางได้ ซึ่งสถานะดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่สามารถเข้าเรียนหรือประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารรับรอง จึงเป็นที่มาของความเข้าใจผิดว่าผู้ลี้ภัยไม่ทำงานทำการและเป็นภาระสังคม

ชาวโรฮิงญาที่ลอยเรือหนีภัยการกวาดล้างโดยรัฐบาลเมียนมาAFPชาวโรฮิงญาที่ลอยเรือหนีภัยการกวาดล้างโดยรัฐบาลเมียนมา 

ผู้ลี้ภัยคือใครกันแน่
ในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 คำว่า “ผู้ลี้ภัย” หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม และสมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย สำหรับผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย-พม่า และกลุ่มผู้ลี้ภัยในเขตเมือง (Urban Refugee) ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเรา และใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบซ่อนในสังคมของเรานี่เอง

“ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองขณะนี้มีอยู่ประมาณ 8,000 คน ปีที่แล้วมีประมาณ 10,000 คน แต่ลดลงเพราะว่าถูกส่งกลับประเทศ ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศปากีสถาน ศรีลังกา กัมพูชา เวียดนาม ซีเรีย อิสราเอล อัฟกานิสถาน โซมาเลีย คองโก เอธิโอเปีย” คุณเพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หรือ เมย์ ผู้ประสานงานฝ่ายนักกิจกรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เล่าให้ฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ที่ส่วนใหญ่จะอพยพออกมาจากบ้านเกิดเมืองนอนด้วยเหตุผลอย่างความแตกต่างทางศาสนา แนวคิดทางการเมือง รวมทั้งปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง เช่นในประเทศศรีลังกา

“ชาวทมิฬในศรีลังกาหนีสงครามกลางเมือง 32 ปี ระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ มาที่ประเทศไทย เพราะเป็นที่ที่สามารถอพยพมาได้เร็วและง่ายที่สุด ทำให้มีชาวทมิฬอาศัยอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก เพราะย้ายมาทั้งครอบครัว แม้ว่าสงครามจะจบแล้วตั้งแต่ปี 2009 ปิดเคสแล้ว กลับบ้านได้ แต่เขารู้สึกว่ากลับบ้านไม่ได้ เพราะต้องเป็นเชลยสงคราม ก็เลยไม่กลับ สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือพอปิดเคสแล้ว ก็เลยไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยรองรับแต่อย่างใด” คุณเมย์เล่า

และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการลี้ภัย เด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ลี้ภัยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตด้วย โดยคุณเมย์เล่าให้ฟังว่า เด็กบางคนอพยพตามพ่อแม่มาตั้งแต่ยังเล็ก เท่าที่ทราบตอนนี้ ผู้ลี้ภัยที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 19 ปี ซึ่งย้ายมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบ เด็กและเยาวชนบางส่วนไม่สามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้ และไม่กล้าออกไปข้างนอก เพราะกลัวตำรวจจับ จึงอาศัยเรียนตามโรงเรียนสอนศาสนา สำหรับชาวมุสลิม หรือชาวคริสต์ก็จะเรียนในโบสถ์ รวมทั้งการเรียนออนไลน์ รวมทั้งพยายามสอบ GED ของสหรัฐอเมริกา หรือ IGCSE ของ British Council เพื่อให้มีวุฒิการศึกษาก่อนที่จะย้ายไปประเทศที่สาม ทว่าเด็กที่จะสอบได้นั้นมีเพียงเด็กที่มีพาสปอร์ตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคด้านการศึกษาของเยาวชนผู้ลี้ภัยยังมีมากกว่านั้น

“ในขณะที่คนที่มีวีซ่าสามารถเรียนหนังสือไปเรื่อยๆ ได้ จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ไปต่างประเทศได้ แต่คนที่ไม่มีวีซ่า ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้ และเนื่องจากพูดไทยไม่ได้ หรือเรียนหนังสือได้ แต่สอบไม่ได้ บางคนที่อยู่มาเป็นสิบปีก็พยายามคุยกับมหาวิทยาลัยเป็นการส่วนตัว ก็จะได้เรียนหนังสือเพื่อให้มีความรู้ แต่ไม่มีใบจบ ก็ไม่มีวุฒิการศึกษาไปทำงาน ถ้าจะไปโรงเรียนไทย บางโรงเรียนก็รับ แต่ขณะที่เดินทางจากบ้านไปโรงเรียน จะโดนจับเมื่อไรก็ไม่รู้ พ่อแม่ก็เลยไม่อยากให้ไปเรียน เพราะหน้าตาไม่เหมือนคนไทย” คุณเมย์อธิบายความยากลำบากของเยาวชนที่เป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนยากจน แต่ต้องหลบหนีมาอยู่อย่างแร้นแค้น เพราะความขัดแย้งในบ้านเกิดของตัวเอง

นอกจากอุปสรรคด้านการศึกษาแล้ว สิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องรับมืออีกประการหนึ่งคือ การขาดสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เนื่องจากไม่มีวีซ่าและไม่มีเงิน ถึงแม้ว่าจะมีองค์กรที่ดูแลด้านสุขภาพคอยลงพื้นที่ตรวจร่างกายเดือนละครั้ง และให้ยา แต่ก็ไม่สามารถดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้อย่างทั่วถึง ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ลี้ภัยจากสงคราม มักจะมีอาการทางจิตจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีบริการด้านจิตเวชคอยรองรับแต่อย่างใด ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องเยียวยาตัวเอง พยายามลืม และอยู่ในโลกให้ได้ต่อไป และคนที่จะคอยดูแลผู้ที่มีอาการทางจิตเหล่านี้ก็คือเด็กและเยาวชนนั่นเอง

ชายชาวปากีสถาน ที่ปัจจุบันทำงานเป็นเชฟในร้านอาหารที่ประเทศฝรั่งเศสAFPชายชาวปากีสถาน ที่ปัจจุบันทำงานเป็นเชฟในร้านอาหารที่ประเทศฝรั่งเศส

ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร
Sanook! News ได้พูดคุยกับหญิงสาววัย 28 ปี ผู้ลี้ภัยมาจากประเทศปากีสถานเมื่อ 4 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในทีมงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจระหว่างเยาวชนไทยและผู้ลี้ภัย แม้ว่าเธอจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ เธอขอให้เราใช้ชื่อย่อ A.S. แทนชื่อจริงของเธอ

“ในฐานะที่เป็นผู้ลี้ภัย และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเรียบร้อยแล้ว ฉันรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบในการช่วยเหลือชุมชนของตัวเอง เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ไม่มีเสียงที่ดังพอที่จะพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง ดังนั้นฉันจึงต้องเป็นผู้ริเริ่ม” A.S. เริ่มเล่าถึงที่มาของการทำกิจกรรมเพื่อผู้ลี้ภัย โดยการเดินทางไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสื่อสารให้คนไทยรับรู้และเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้ลี้ภัย

“พวกเขาไม่ใช่ตัวประหลาด ไม่ใช่คนที่จะมาเป็นภาระของสังคม แต่ที่จริงแล้ว ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการคือการปกป้อง เนื่องจากพวกเขาถูกกำจัดออกจากประเทศ และต้องการเพียงแค่พื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR แล้ว เรายังต้องการเพื่อนชาวไทยที่จะมาช่วยให้พวกเขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน” A.S. กล่าว

ปัจจุบัน A.S. เรียนจบปริญญาตรีและมีใบประกอบวิชาชีพครู ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีแต่เธอเท่านั้นที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทย เพราะผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ก็เคยเป็นหมอ พยาบาล ครู วิศวกร เชฟ เมื่อครั้งอยู่ในประเทศของตัวเอง แต่ปัญหาก็คือ พวกเขาถูกบังคับให้ทิ้งชีวิตในประเทศของตัวเอง และหนีออกมา เพื่อที่จะมานั่งอยู่ในห้องแคบๆ ไม่มีทางเลือก ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต และทิ้งความสามารถไปเปล่าๆ A.S. จึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทย หากรัฐบาลไทยใช้ประโยชน์จากทักษะความสามารถของผู้ลี้ภัย ไทยจะมีวิศวกรเพิ่มขึ้น มีครูสอนภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอารบิก และภาษาทมิฬ ที่มีค่าจ้างไม่แพง รวมทั้งการเรียนรู้วัฒนธรรม เช่น อาหาร เป็นต้น

“ฉันเชื่อว่าทุกคนคงรู้ว่าไอน์สไตน์ก็เคยเป็นผู้ลี้ภัย เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่ง ผู้ลี้ภัยที่มาอยู่ในประเทศไทยก็อาจจะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกร หรือครู ที่ทำประโยชน์ให้สังคมโลกก็ได้ ถ้าประเทศไทยให้โอกาสและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพวกเขา ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาขึ้นได้” A.S. กล่าว

Amnesty International Thailand

เรียนรู้เพื่อเข้าใจความหลากหลาย
จากจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างความเข้าใจระหว่างคนไทยและผู้ลี้ภัย คุณเมย์ และ A.S. รวมทั้งทีมงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้เยาวชนไทยและผู้ลี้ภัยได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเสริมพลังให้เยาวชนที่มีศักยภาพ สร้างการเรียนรู้เรื่องความหลากหลาย และสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนทั้งสองกลุ่ม โดยคัดเลือกผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 35 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีการเปิดรับความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง และเป็นคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ โดยกิจกรรมประกอบด้วยการทัศนศึกษาที่ชุมชนกุฎีจีน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม รวมทั้งกิจกรรมเวิร์กช็อป เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

“ตอนแรกมีน้องคนหนึ่งบอกว่าไม่ชอบหน้าเพื่อนเลย มันคือเรื่องการตีตราและเหมารวมแหละ หลังจากนั้นก็เริ่มเปิดใจคุยกันว่า ถ้าเรามองคนเป็นคน ไม่ได้มองเป็นผู้ลี้ภัย มันจะต่างกันมากเลย การที่เราไปตีตราเขาตั้งแต่แรกว่าเป็นผู้ลี้ภัย เราจะมองเขาอีกอย่าง แต่ถ้าเรามองเขาเป็นคน เป็นเพื่อน เราก็จะมองเขาอีกอย่าง คืนนั้นก็นั่งคุยกัน แล้วเขาก็บอกว่าขอโทษที่คิดแบบนั้น เพราะว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ ผู้ลี้ภัยก็ขอโทษที่คิดว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราว่ามันเป็นอะไรที่นำไปใช้ได้” คุณเมย์กล่าว

กิจกรรมทัศนศึกษาของผู้ลี้ภัยและเยาวชนไทย ที่ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานครAmnesty International Thailandกิจกรรมทัศนศึกษาของผู้ลี้ภัยและเยาวชนไทย ที่ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร

ผู้ลี้ภัยก็คือคนคนหนึ่ง
“ผมไม่มีความรู้เรื่องผู้ลี้ภัยเลยว่าคืออะไร มีแค่ความคิดเก่าๆ ว่า ผู้ลี้ภัยเป็นพวกที่หนีคดีหรือทำผิดกฎหมายมาก่อน เขาถึงอยู่ในบ้านของเขาไม่ได้ พอมาค่ายนี้มันทำให้เราเข้าใจว่ามันไม่ใช่แบบนั้น คำว่าผู้ลี้ภัยมันมีอะไรหลายๆ อย่างที่เรายังไม่รู้ และคนไทยก็ควรได้รับรู้ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือ มองเขาเป็นคนคนหนึ่ง ที่ถึงจะมีเขาเป็นอีกสิบคนก็ไม่เหมือนเขา ทุกสังคมมันมีทั้งคนที่ดีและไม่ดี ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปตัดสินเขา เรียนรู้เขาก่อน นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ อย่าเพิ่งมองว่าเขาเข้ามาสร้างปัญหา” คุณศุภนิมิตร สุขอินทร์ หรือ โบ๊ท นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป เล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมกิจกรรม และสิ่งที่เขาได้รับ ซึ่งนำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย

“บางคนอาจจะมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัว ผมอยากจะทำให้คนไทยมีความรู้สึกร่วม เพื่อให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ถ้าอยู่ดีๆ เขากลายเป็นผู้ลี้ภัย อยู่ในประเทศตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องรีบออกจากประเทศ วีซ่าก็ไม่มี เราต้องทำให้เขารู้สึกร่วมให้ได้ เพื่อจะได้เข้าใจผู้ลี้ภัยเหล่านี้” คุณโบ๊ทกล่าว

ดูเหมือนว่าความหวังในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัยจะอยู่ไม่ไกลอีกต่อไป เมื่อคนรุ่นใหม่หลายคนมีความเข้าใจและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้จากการเวิร์กช็อปครั้งนี้ไปสู่คนอื่นๆ ซึ่ง A.S. ก็มั่นใจในพลังของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนไทย หรือผู้ลี้ภัยเชื้อสายต่างๆ

“ฉันเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่และเชื่อในพลังของเสียง เมื่อคนรุ่นใหม่มารวมตัวกันและเปล่งเสียงพร้อมกัน เสียงเหล่านี้ก็จะเดินทางไปถึงผู้ที่กำหนดนโยบาย และผู้ใหญ่จะฟังพวกเขา ที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์โลก เราไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความรุนแรง สงคราม หรือการประท้วง แต่เราเปลี่ยนโลกได้ด้วยพลังบวก วัยรุ่นไทยกับวัยรุ่นที่เป็นผู้ลี้ภัยไม่ได้แตกต่างกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี และนำมาซึ่งสันติสุขได้ในที่สุด และจะไม่มีใครหยุดพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเขตแดนระหว่างประเทศก็ตาม” A.S. ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook