ชีวิตวิบากกรรม "เผ่าซาไก" เกิดมายังไม่เคยแม้ได้รับเบี้ยคนจน
ล้วงลึกเข้าป่าเยี่ยมชนเผ่าซาไก อ.ปะเหลียน อยู่ในหุบเลวลึกกลางเขา กว่า 30 ชีวิตไม่เคยได้รับเงินจากงบประมาณช่วยเหลือใดๆ ใช้วิถีชีวิตคนป่าดั้งเดิม ลูกหลานก็ไม่ได้เรียน เพราะต้องทำมาหากิน
(10 พ.ค.) นายสมโชค หนูวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พร้อมด้วยเพื่อนบ้านเดินทางไปเยี่ยม ชนเผ่าเงาะป่าซาไกในพื้นที่ป่าใกล้เคียงหมู่บ้าน ซึ่งการเดินทางจะต้องอาศัยรถจักรยานยนต์ขับขี่ไปตามเส้นทางขึ้นลงภูเขาคดเคี้ยว บนแนวเขาบรรทัดติดช่วงรอยต่อกับ จ.สตูล
โดยคณะผู้ใหญ่บ้านได้เดินทางไปเยี่ยม นายบ่าว ศรีสันติราษฎร์ อายุ 32 ปี หัวหน้าเผ่าเงาะป่าซาไกในพื้นที่หมู่ที่ 14 ต.ปะเหลียน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราวๆ 30 คน และยังคงใช้ชีวิตแบบซาไกดั้งเดิม อาศัยเอาใบไม้ กิ่งไม้ มาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย หรือเรียกว่า ”ทับ” ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า หาเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่ามากิน เผาหมกย่าง-เผือกมัน และล่าสัตว์ป่า หากมีเวลาว่าง ชาวซาไกก็จะออกหาของป่านำไปขาย หรือนำไปแลกอาหารกับชาวบ้าน
ผู้นำชนเผ่าซาไก บอกว่ามาตั้งทับที่นี้นานกว่า 10 ปี ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากหน่วยงานราชการ ยกเว้นแต่ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ซึ่งอยู่ใกล้กับที่อยู่ของพวกตนมากที่สุด โดยเข้าใจว่าถนนหนทางค่อนข้างลำบาก ต้องอาศัยการเดินเท้าระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร หรือใช้รถจักรยานยนต์ที่ต้องให้คนที่ชำนาญเส้นทางเท่านั้น เพราะบางช่วงบางตอนถนนจะเท่ากับทางรถจักรยานยนต์และขนานไปกับเหวลึก จึงทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้
นายบ่าว ศรีสันติราษฎร์ หัวหน้าเผ่าเงาะป่าซาไก เล่าว่า ชุมชนของตนมีทั้งหมดกว่า 30 คน ไม่เคยมีหนังสือทางราชการมาถึงหรืองบประมาณใดๆ มาถึงพวกตน โดยเฉพาะงบประมาณจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ตรัง พวกตนต้องหารายได้จากการหาของป่ามาขายเพื่อนำไปแลกมา แต่ก็ไม่เคยได้สักครั้ง
ส่วนเงินช่วยเหลือคนจนนั้น เคยได้ยินชาวบ้านเขาพูดให้ฟัง แต่พวกตนก็ไม่เคยได้รับ หากจะให้มาใช้ชีวิตเหมือนคนเมืองหรือไม่นั้นยังต้องคิดดูก่อน โดยยอมรับว่าลูกๆ และในคนชนเผ่าไม่มีใครได้เรียนหนังสือ เพราะต้องใช้เวลาไปกับการทำมาหากิน จนไม่มีเวลารับส่งลูกไปโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล จึงวอนขอความช่วยเหลือกับคุณภาพชีวิตด้วย
ขณะที่ นายสมโชค หนูวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 ต.ปะเหลียน กล่าวว่า เผ่าเงาะป่าซาไกที่นี่ยังไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ตรัง แม้แต่ครั้งเดียว และยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เดินทางมาติดต่อให้การช่วยเหลือ แต่ก็มีความหวังในเรื่องเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ที่หลังจากทำบัตรประชาชนแล้ว ผู้สูงอายุในพื้นที่แห่งนี้จะได้เข้าโครงการเป็นปีแรก คาดว่าเดือนตุลาคมนี้น่าจะได้รับเงินผู้สูงอายุช่วยเหลือ