ขรก.กลุ่มเสี่ยงได้เฮ ก.พ.ให้เงินพิเศษ

ขรก.กลุ่มเสี่ยงได้เฮ ก.พ.ให้เงินพิเศษ

ขรก.กลุ่มเสี่ยงได้เฮ ก.พ.ให้เงินพิเศษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก.พ.ประกาศใช้ระเบียบจ่ายเงินพิเศษให้ "ข้าราชการกลุ่มเสี่ยง" ต้องทนอยู่ในสภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ ยากลำบาก เสี่ยงภัย เครียดกดดัน รวมทั้งสาขาขาดแคลน เสี่ยงสมองไหลง่าย รับเพิ่มเดือนละ 1,000-15,000บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน ว่า ระเบียบข้าราชการพลเรือนว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา หลักการคือเป็นการให้เงินเพิ่มพิเศษสำหรับข้าราชการพลเรือนผู้ที่ปฏิบัติงานในบางตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษจากสภาพการทำงานซึ่งสมควรได้รับตั้งแต่ 1,000-15,000 บาทต่อเดือน โดย ก.พ.จะประกาศกำหนดตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษสมควรได้รับเงินเพิ่มพิเศษตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบ

สาระสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ ข้อ 4 "เหตุพิเศษ" หมายความว่า การทำงานที่มีสภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ ยากลำบาก ตรากตรำ เสี่ยงภัย เคร่งเครียด กดดัน หรือเป็นการทำงานที่มีสภาพการทำงานเสี่ยงอันตรายทั้งต่อชีวิตร่างกาย อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคจากการปฏิบัติงาน การสูญเสียอวัยวะ หรือเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูง ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน มีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจำนวนมาก ข้อ 5 ในกรณีที่ข้าราชการผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มหลายอัตรา ให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับเงินเพิ่มในอัตราที่สูงที่สุดเพียงอัตราเดียว ข้อ 6 ข้าราชการผู้ใดปฏิบัติงานไม่เต็มเดือนในเดือนใด ให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับเงินเพิ่มสำหรับเดือนนั้นตามส่วนของจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าในเดือนใดข้าราชการผู้ใดมิได้ปฏิบัติงาน ข้าราชการผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

1.กรณีลาป่วย ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณหนึ่งไม่เกินหกสิบวันทำการ เว้นแต่เป็นการป่วยอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ก.พ.อาจกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มเกินหกสิบวันทำการได้ตามควรแก่กรณี

2.กรณีลาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ไม่เกินเก้าสิบวัน

3.กรณีลากิจส่วนตัว ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณหนึ่งไม่เกินสี่สิบห้าวันทำการ แต่สำหรับในปีแรกที่รับราชการ ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณนั้นไม่เกินสิบห้าวันทำการ

4.กรณีลาพักผ่อนประจำปี ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ไม่เกินระยะเวลาที่ผู้นั้นมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ

5.กรณีลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือลาไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมิใช่เป็นการลาภายในระยะเวลาสิบสองเดือนแรกที่เข้ารับราชการ และตั้งแต่เริ่มรับราชการยังไม่เคยลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือยังไม่เคยลาไปประกอบพิธีฮัจญ์ ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน

6.กรณีลาไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน แต่ถ้าพ้นระยะเวลาที่ลาดังกล่าวแล้วผู้นั้นไม่ไปรายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งภายในเจ็ดวัน ให้งดจ่ายเงินเพิ่มหลังจากนั้นไว้จนถึงวันเข้าปฏิบัติหน้าที่หลัก 7.กรณีลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน

ข้อ 7 ข้าราชการผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษและได้รับเงินเพิ่มอยู่แล้วในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าข้าราชการผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษและมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามระเบียบนี้จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นหรือจนกว่า ก.พ. จะประกาศกำหนดเป็นอย่างอื่น

สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนท้ายระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 กำหนดไว้ ดังนี้ ก.การกำหนดอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน ให้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่หนึ่ง การทำงานที่มีสภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ ยากลำบาก ตรากตรำ เสี่ยงภัย เคร่งเครียด กดดัน หรือเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูง ให้กำหนดระดับคะแนนตามลักษณะการทำงานและอัตราเงินเพิ่มเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 สภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ 1,000-2,000 บาท

ระดับที่ 2 สภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ ยากลำบากตรากตรำ เสี่ยงภัย มากกว่า 2,000-3,000 บาท ระดับที่ 3 สภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ ยากลำบากตรากตรำ เสี่ยงภัย เคร่งเครียด กดดัน ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์สูง มากกว่า 3,000-6,000 บาท

กลุ่มที่สอง การทำงานที่มีสภาพการทำงานเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคจากการปฏิบัติงาน การสูญเสียอวัยวะต่างๆ หรือเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูง ให้กำหนดระดับคะแนนตามลักษณะการทำงานและอัตราเงินเพิ่มเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 3 เสี่ยงอันตราย การสูญเสียอวัยวะต่างๆ 3,000-6,000 บาท

ระดับที่ 4 เสี่ยงอันตราย อาจมีผลกระทบต่อร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคจากการปฏิบัติงาน มากกว่า 6,000-10,000 บาท

ระดับที่ 5 เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ต้องใช้ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์สูง มากกว่า 10,000-15,000 บาท

กลุ่มที่สาม การทำงานที่มีลักษณะของงานต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูงซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน มีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจำนวนมาก มีอัตราการเข้าออกรุนแรง มีความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทนสูง ให้กำหนดระดับคะแนนตามลักษณะ การทำงานและอัตราเงินเพิ่มเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 3 ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูงซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน มีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจำนวนมากมีอัตราการเข้าออกค่อนข้างรุนแรง (20-30%) มีความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทนสูง (50-60%) 3,000-6,000 บาท

ระดับที่ 4 ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูงซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน มีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจำนวนมากมีอัตราการเข้าออกรุนแรง (มากกว่า 30-40%) มีความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทนสูง (มากกว่า 60-80%) 6,000-10,000 บาท ระดับที่ 5 ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูงซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน มีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจำนวนมาก มีอัตราการเข้าออกรุนแรงมาก (มากกว่า 40%) มีความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทนสูง (มากกว่า 80%) มากกว่า 10,000-15,000 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook