ครูไทยจะเอาตัวรอดอย่างไร ใน “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)”

ครูไทยจะเอาตัวรอดอย่างไร ใน “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)”

ครูไทยจะเอาตัวรอดอย่างไร ใน “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง” คำเปรียบเปรยที่เราได้ยินกันมาเนิ่นนานนี้ดูเหมือนจะยังใช้ได้ดีในปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ให้ความรู้เพื่อส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งเท่านั้น แต่ยัง “อัพเกรด” ภาระทั้งจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และความคาดหวังของรัฐ ในการสร้างพลเมืองที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ พร้อมธำรงคุณภาพการศึกษาไปด้วยในเวลาเดียวกัน เรือจ้างทุกวันนี้จึงต้องแบกภาระหนักอึ้ง ฝ่ากระแสโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเข็มทิศที่เรียกว่า “หลักสูตรการศึกษา” เป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม เข็มทิศหลักสูตรการศึกษากลับไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะถูกจัดทำขึ้นอย่างไร้ทิศทาง แถมยังปรับเปลี่ยนระหว่างทางตลอดเวลา โดยเฉพาะหลักสูตรล่าสุดอย่าง “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)” ที่เกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน เพื่อเตรียมเด็กให้ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมีทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร และความร่วมมือ ก็ทำเอาเรือจ้างงงกันเป็นแถบ ดังนั้น เหล่าครูไทยจึงมารวมตัวกันในงานเสวนา “ชำแหละหลักสูตรฯ ปรับปรุง 60” ที่จัดขึ้นโดยสาขาวิชานิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมวิพากษ์หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ล่าสุดนี้ ใน 4 สาระการเรียนรู้ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศึกษา (ภูมิศาสตร์) และหาทางออกร่วมกันว่า ครูไทยจะเอาตัวรอดอย่างไร ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอันไร้ทิศทางเช่นนี้

หน้าตา (เกือบ) เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเนื้อหา
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) มีการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการตัดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน การเพิ่มเติมและปรับปรุงเพื่อความทันสมัย และการเลื่อนไหล ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนจากการสอนในชั้นหนึ่ง ลงไปสอนอีกชั้นหนึ่งที่ต่ำกว่า และส่วนใหญ่เป็นการเลื่อนไหลข้ามช่วงชั้น แต่ในภาพรวมดูเหมือนจะยังไปไม่ถึงการปลูกฝังทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แต่อย่างใด เพราะหลักสูตรฉบับปรับปรุงนี้ยังคงยึดติดอยู่กับ “เนื้อหา” มากกว่าการเสริมทักษะ

“สิ่งสำคัญอย่างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเริ่มมีตัวตนครั้งแรกในหลักสูตรปี 44 เป็นสาระหนึ่งในมาตรฐาน 6 ข้อ พอเป็นหลักสูตรแกนกลาง ปี 51 ก็เป็น 1 สาระ ในมาตรฐาน 1 ข้อ แต่พอเป็นฉบับปรับปรุง กลับไม่ได้ถูกระบุไว้ แต่ก็มีอยู่ในเล่มฉบับปรับปรุง การเขียนหลักสูตรครั้งนี้ ผมไม่ค่อยเห็นคำที่แสดงความคำนึงว่าการจัดการเรียนรู้ต้องมีการบูรณาการตัวทักษะและกระบวนการเข้าไปอย่างเด่นชัด เพราะนี่น่าจะเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตคนอย่างที่ว่าไว้” ผศ.ดร.จิณดิษฐ์ ละออปักษิณ จากสาขาวิชาการศึกษาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความคิดเมื่อได้อ่านหลักสูตรดังกล่าว พร้อมระบุว่า แม้การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปตามที่ระบุในหลักสูตรฉบับปรับปรุงนี้ จะช่วยให้นักเรียนสามารถหาคำตอบได้สะดวกสบายขึ้น แต่นักเรียนจะไม่สามารถมองเห็นความงามของการให้เหตุผลว่าทำไมจึงได้คำตอบเช่นนี้

ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา ระบุว่า การเขียนหลักสูตรแบบแยกส่วนเป็นวิชาต่างๆ ทำให้ทุกวิชาต้องใช้เนื้อหาเป็นตัวตั้ง แทนที่จะเป็นสมรรถนะของผู้เรียนว่าผู้เรียนจะได้ทักษะอะไร จากนั้นก็เพิ่มเนื้อหาเข้าไปเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เยอะขึ้น ทว่าวิธีนี้ดูเหมือนจะไม่ตรงกับเป้าหมายแต่อย่างใด

“ขณะที่เราส่งเสริมการศึกษาแบบ STEM บูรณาการวิทย์ คณิต วิศวกรรม เทคโนโลยี รวมไปถึง สังคมศาสตร์ซึ่งตัวมันเองเป็นบูรณาการ เราพยายามทำสิ่งที่ตรงกันข้าม คือพยายามฉีกมันออกจากกัน ประวัติศาสตร์นี่ฉีกออกไปแล้วเพราะว่ากลัวไม่ชัดเจน ก็ต้องมีสัปดาห์ละคาบ ตอนนี้ก็มาแตะที่ภูมิศาสตร์ ซึ่งก็เป็นคำถามถึงคนที่เข้ามาทำหลักสูตร ว่าตอนนี้เรากำลังทำหลักสูตรเพื่ออะไรกันแน่ ถ้าเพื่อเด็กเป็นตัวตั้ง เป็น Competency-based ก็ต้องบูรณาการ แต่ตอนนี้เราไม่ชัดเจนว่าทำเพื่อเป้าหมายอะไร ก็เลยถอยไปที่การเอาตัวเนื้อหามาเป็นฐานคิดในการปรับปรุงหลักสูตร ก็กลายเป็นการเอาหลักสูตรเดิมมาเป็นตัวตั้ง แล้วก็ปลั๊กอินเรื่องใหม่ๆ เข้าไป” ผศ.อรรถพลกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่างในการใช้หลักสูตรให้เกิดประสิทธิภาพก็คือ “การสื่อสารหลักสูตร” ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกัน และสามารถเตรียมการรับมือกับหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากทุกวันนี้ มีนักการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตครู เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรน้อยมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตครูที่สามารถตอบสนองจุดประสงค์ของหลักสูตรใหม่ได้ทันเวลา ซึ่ง ผศ.อรรถพล กล่าวว่าที่ผ่านมา ขณะที่คณะศึกษาศาสตร์กำลังเตรียมนิสิตปี 4 อยู่ เพื่อฝึกสอนในโรงเรียน แต่กลับไม่มีโอกาสได้รับรู้อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับหลักสูตรที่กำลังจะเขียนขึ้น มีเพียงการบอกต่อกันในเครือข่ายครู ส่วนคณะศึกษาศาสตร์ก็ได้รู้พร้อมโรงเรียนว่ามีการปรับปรุงหลักสูตรเกิดขึ้น

ทักษะและกระบวนการคิดยังสำคัญ
ท่ามกลางเนื้อหาที่อัดแน่นในทุกวิชา เมื่อถามว่านักเรียนจะได้อะไรจากการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ แน่นอนว่าต้องได้เนื้อหาและข้อมูล ทว่าครูทั้ง 4 ท่าน เห็นว่านักเรียนสามารถเรียนรู้กระบวนการและสร้างทักษะผ่านเนื้อหาในตำราเรียนได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งครูวิทยาศาสตร์อย่าง ดร.ฐาปนา จ้อยเจริญ จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ มองว่าครูยังไม่ต้องกังวลกับเนื้อหาที่เพิ่มมากขึ้น แต่ควรคำนึงถึงทักษะ กระบวนการ วิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผล ที่อาจจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงเป็นลายลักษณ์อักษร แต่แฝงอยู่ในเนื้อหาของหลักสูตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะติดตัวนักเรียนไปได้ในอนาคต

ส่วน ผศ.ดร.จิณดิษฐ์ ให้มุมมองของสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีตัวช่วยทางคณิตศาสตร์ว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าการรู้คำตอบก็คือ การรู้ว่าทำไมจะต้องตอบแบบนี้ และการใช้เทคโนโลยีอาจลดทอนการฝึกฝนการคิดเพื่อหาคำตอบ

“การสอนคณิตศาสตร์ยังคงต้องเป็นนามธรรมอยู่ หลายครั้งการปรับปรุงหลักสูตรก็มีการแนะนำว่าควรจะทำให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจง่าย แต่ความเป็นนามธรรมเป็นคุณสมบัติพิเศษของวิชาคณิตศาสตร์ และการเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรม แม้มันจะยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถฝึกกระบวนการคิดได้เป็นอย่างดี” ผศ.ดร.จิณดิษฐ์กล่าว

และอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในเวทีนี้ คือการแปลงเนื้อหาข้อมูลมหาศาลให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ สร้างห้องเรียนที่มีชีวิต และให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ไม่ใช่การบอกเนื้อหาให้ท่องจำ โดยนายวีระพจน์ รัตนรัตน์ ครูจากโรงเรียนดรุณาราชบุรี ซึ่งใช้กิจกรรมมาผนวกกับการสอนวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี และวิชาวิทยาการคำนวณ กล่าวว่า เนื้อหาในวิชาจะทำให้เด็กรู้จักและเข้าใจทฤษฎี รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนที่จะนำทฤษฎีและอุปกรณ์เหล่านั้นมาสร้างนวัตกรรมขึ้นเอง โดยให้เด็กตั้งคำถามเองและลงมือทดลอง ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกให้เด็กคิดตลอดเวลา

“ทั้งวิชาการออกแบบเทคโนโลยีและวิทยาการคำนวณ เด็กต้องได้เล่น ในการเล่นต้องมีการออกแบบ เราไม่ได้สอนให้เด็กเป็น User แต่เราสอนให้เป็นนักออกแบบ การออกแบบเทคโนโลยีคือเด็กจะต้องออกแบบได้ ถ้าคุณทำกิจกรรมไม่ถึงตรงนั้น มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนวิชาวิทยาการคำนวณ ต้องมีการเดินทางของความคิดและการตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กเล่นจนได้นวัตกรรมขึ้นมา สุดท้ายเด็กต้องสะท้อนความคิดออกมา ใช้ทฤษฎีอะไรถึงได้แบบนี้ และถามเพื่อนด้วยว่าเขาจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ต้องถามตัวเอง ถามเพื่อน ถามครู ไม่ใช่ครูมัวแต่ไปถามเขา ทุกสิ่งที่เด็กเรียนไปต้องถูกนำมาใช้ในปลายทางหมดเลย แล้วเด็กจะรู้ว่านวัตกรรมที่เขาคิดมามันมีความสำคัญจริงๆ ไม่ใช่ให้คะแนนเสร็จแล้วก็หายไป สิ่งประดิษฐ์จะต้องถูกนำมาพัฒนาให้มีคุณค่าต่อสังคมได้ ไม่ใช่ทิ้งถังขยะ” นายวีระพจน์กล่าว

หลักสูตรปรับ ครูต้องเปลี่ยน
นอกจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แล้ว ตัวครูเองก็จำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง ทั้งการอัพเดตความรู้ด้านต่างๆ และความกล้าที่จะเป็นครูมืออาชีพด้วยตัวเอง โดยการคิดค้นและออกแบบวิธีการสอนของตัวเองให้เหมาะสมกับผู้เรียน โดยมุ่งที่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่ง ผศ.อรรถพลมองว่า หลักสูตรการศึกษาหลายฉบับในบ้านเราไม่เคยใช้ทฤษฎีใดๆ ในการจัดทำ ในขณะที่ครูซึ่งผ่านการเรียนในคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ มีความรู้ในการจัดการศึกษาและวิธีการสอนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ครูจึงควรเลิกยึดติดกับเนื้อหา และใช้วิธีการสอนแบบองค์รวม โดยต้องไม่ลืมว่าความรู้สมัยใหม่เปลี่ยนแปลงทุกวัน สิ่งสำคัญที่เด็กต้องมีคือพัฒนาการที่เกิดขึ้นผ่านเนื้อหาการสอน

“ถ้าคุณครูยังกอดเนื้อหาอยู่ อาจจะออกแบบกิจกรรมสนุกมาก แต่ถึงเวลาจริงกลับแค่ทบทวนบทเรียนก่อนสอบ นี่ก็จบเห่แล้ว มันขัดแย้งในตัวเอง ในทางพระพุทธศาสนามีคำกล่าวว่า ธรรมะเหมือนแพพาข้ามน้ำ พอข้ามแม่น้ำแล้ว ไม่ต้องแบกแพไป ความรู้ทางสังคมศาสตร์ก็เช่นกัน เรียนเยอะแยะมากมายเพื่อสุดท้ายจะทิ้งมันเอาไว้ แล้วไปต่อในอนาคต ไม่ต้องท่องทุกอย่างที่โรงเรียนสอนไป แต่มันเป็นแบบฝึกหัดที่ทำให้คุณคิดเป็น ทบทวน ทำความเข้าใจได้ และวันหนึ่งเมื่อคุณต้องการข้อมูล คุณมีทักษะนี้ติดตัวไว้แล้ว คุณจะค้นคว้าข้อมูลเป็น” ผศ.อรรถพลกล่าว

ทางรอดของครูและโรงเรียน
ในขณะที่ครูกำลังกังวลกับเนื้อหามากมายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษา ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกในระยะยาว แต่กลับไม่มีจุดหมายปลายทางที่แท้จริง ผศ.อรรถพล ได้ยกตัวอย่างการสอนแบบองค์รวมในวิชาสังคมศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ธรรมชาติของวิชาสังคมศึกษาคือเนื้อหาที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของประเทศและของโลก จุดประสงค์ของวิชานี้จึงเป็นการเตรียมพลเมืองผ่านสาระความรู้ที่หลากหลาย เช่น ผ่านมิติเวลาในวิชาประวัติศาสตร์ ผ่านมิติพื้นที่ในวิชาภูมิศาสตร์ ผ่านการถกเถียงโดยตรงในวิชาหน้าที่พลเมือง กฎหมาย การปกครอง และวัฒนธรรม หรือจะผ่านเรื่องการจัดการทรัพยากรในวิชาเศรษฐศาสตร์ ผ่านสาระความรู้ศาสนาว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน และไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไร ก็ต้องกลับมาที่จุดประสงค์หลัก คือเรื่องพลเมือง

นอกจากนี้ ผศ.อรรถพล ยังมองว่า ครูไม่จำเป็นต้องกลัวการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ หากมีความเชื่อมั่นในวิธีการสอนของตัวเอง มีแบบเรียนที่เขียนขึ้นเองในฐานะที่เป็นเจ้าของวิชาและผู้ที่รู้จักนักเรียนมากที่สุด ส่วนหนังสือหลักสูตรเป็นเพียงเอกสารประกอบการสอน และคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในหลักสูตรนั้นก็ถือว่าเป็นความท้าทายให้ตัวครูได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม นั่นหมายความว่า ครูต้องมีความกระตือรือร้น และเติบโตไปพร้อมกับนักเรียน ผ่านกระบวนการตั้งคำถามและถกเถียงกัน รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สังคมศึกษาไม่ควรถูกสอนโดยครูที่พยายามควบคุมชั้นเรียนให้คิดแบบเดียวกัน แต่ต้องใช้แพลตฟอร์มที่คนพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ มีเนื้อหาเป็นพาหนะพาไปให้คิดเป็น ให้คิดหลากหลายได้ ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ และเห็นตัวเองในมิติพลเมือง หัวใจสำคัญคือการฝึกและการคิด และเป็นการคิดที่ไม่ได้มีคำตอบเดียวด้วย แต่ต้องมีเหตุผลเป็นของตัวเอง และต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องพร้อม unlearn เพื่อ relearn ต้องพร้อมทิ้งความรู้เดิมที่ถูกหักล้างด้วยทฤษฎีใหม่ทางสังคมศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ และก็พร้อมจะเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา เพราะหัวใจของมันคือการเตรียมคนให้อยู่กับปัจจุบันและอนาคต แต่ต้องเรียนรู้อดีตด้วย”

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติวงการครูไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ควรมีเครือข่ายครูอาจารย์จากหลายสาขา เพื่อร่วมมือกันสร้างบทเรียนที่หลากหลาย รูปแบบการสอนที่แตกต่าง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งเครือข่ายนี้จะช่วยสนับสนุนโรงเรียนให้อยู่รอดในกระแสหลักสูตรใหม่ที่โผล่มาแบบฉุกเฉิน นอกจากนี้ เครือข่ายครูยังสามารถส่งเสียงสะท้อนไปยังผู้ที่ออกแบบหลักสูตรได้ด้วย

ผมเชื่อเรื่องของการทำงานเป็นทีมของครูมากกว่าการฝึกอบรมนอกห้องเรียน ถ้าโรงเรียนเข้มแข็ง แรงกระแทกจากภายนอกเข้ามาแค่ไหน ก็ยังไปต่อได้ แต่ถ้าโรงเรียนอ่อนแอ ไม่มีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ต่อให้หลักสูตรดีแค่ไหนก็พังที่โรงเรียนได้ ครูหลายคนก็ทำหลักสูตรและทำให้ห้องเรียนมีชีวิต มันคือหน้าที่และความเป็นมืออาชีพของพวกเรา แล้วก็ส่งเสียงกลับไปบ้าง ให้คนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่กระทบห้องเรียนของเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้มันไม่กระแทกห้องเรียนหรอก ถ้าครูเป็นมืออาชีพมากพอในการทำงานร่วมกัน ทั้งระดับห้องเรียนของตัวเอง และเครือข่ายของครูในโรงเรียนเดียวกันและระหว่างโรงเรียน”

“อย่าเอาแต่บ่นเลย มันไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้ความเป็นมืออาชีพกลับมาหาเราให้ได้ ทำให้เสียงของนักการศึกษามีความหมาย อย่าปล่อยให้การศึกษาถูกทำร้ายโดยคนที่ไม่รู้เรื่องนโยบายการศึกษา แล้วทำให้ห้องเรียนของเราได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าต่อไปหลักสูตรใหม่จะเป็นอย่างไร มันก็ต้องการความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากในการช่วยกันทำ” ผศ.อรรถพลสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook