ความสำเร็จโครงการเน็ตประชารัฐ
พล.อ.อ.ประจินฯ ประกาศความสำเร็จเน็ตประชารัฐ เฟสแรก 24,700 หมู่บ้าน เดินหน้า ขยายผลการใช้ประโยชน์ เปิด OPEN Access เพื่อลดค่าใช้บริการให้ประชาชน พร้อมเร่งขยายเน็ตประชารัฐอีก 15,732 หมู่บ้าน คาดสิ้นปีครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บึงละหาน ต.ละหาน อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานงานความสำเร็จโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน และการขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมงคล อดทน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และนางพิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.ทีโอที พร้อมผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหาร ทีโอที และหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมงานจำนวนมาก
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ขยายติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟสที่ 1 เสร็จตามเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้าน และในปี 2561 นี้ รัฐบาลจะขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟสที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก 15,732 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณที่ประหยัดได้จำนวนมากจากการดำเนินการโครงการเฟสแรก ซึ่งจะทำให้โครงข่ายเน็ตประชารัฐเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ และเมื่อนำโครงการเน็ตประชารัฐทั้ง 2 เฟส รวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้ว 30,635 หมู่บ้าน และโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบอีกจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่ กสทช. ดำเนินการซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561จะถือได้ว่าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศทั้ง 74,987 หมูบ้าน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐทั้ง 24,700 หมู่บ้าน รัฐบาลได้เปิดให้ผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. สามารถเชื่อมต่อจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังบ้านเรือนของประชาชน โดยผู้ให้บริการไม่ต้องจ่ายค่าใช้หรือเชื่อมต่อ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้สามารถให้บริการประชาชนได้ในราคาที่เหมาะสม
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลยึดประชาชนทั่วประเทศเป็นศูนย์กลาง และมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีการบูรณาการ ทั้งในระดับนโยบายรัฐบาล ระดับกระทรวง และระดับพื้นที่ รัฐบาลจึงได้มี ”โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อให้การบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนคนไทย โดยมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดกับประชาชนในทุกพื้นที่ถึงโครงการสำคัญ ๆ ของรัฐบาล รวมถึงการสร้างการรับรู้และการขยายผลการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐทุกหมู่บ้านในประเทศไทย ขยายโอกาส และเสริมศักยภาพในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การค้าขายออนไลน์ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงข่ายเน็ตประชารัฐเป็นโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมหลักของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างประโยชน์จากเน็ตประชารัฐทั้ง ๒๔,๗๐๐ หมู่บ้าน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมบูรณาการการทำงานในการวางกลไกการสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐโดยจัดอบรมวิทยากรแกนนำ คุณครู กศน. จำนวน 5 รุ่น รวม 1,033 คน จัดอบรมให้กับผู้นำชุมชน หมู่บ้านละ 4 คน จำนวน 100,000 คน
ในปี 2561 นี้ กระทรวงยังคงเน้นการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิคม ยั่งยืน” ซึ่งกระทรวงฯ ได้รับหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนในข้อ 8 “การรู้เท่าทันเทคโนโลยี” โดยมีกลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับจังหวัด อำเภอ ไปจนถึงระดับตำบล เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับครู กศน. ระดับจังหวัดจำนวน 20 ทีม ประมาณ 100 คน เพื่อร่วมเป็นทีมงานระดับตำบล โดยมีคู่มือในการถ่ายทอดความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนประมาณ 8,400 คนทั่วประเทศ โดยขยายความรู้ไปสู่ประชาชนเพื่อให้มีทักษะด้านดิจิทัลตามแผนโครงการฯ เป้าหมายจำนวน 1 ล้านคน รวมถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ work shop ในเชิงลึกให้กับประชาชนผู้สนใจ ผู้ประกอบการ และกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐที่มีความพร้อม อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ครั้ง
สำหรับจังหวัดชัยภูมิได้ติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐ 637 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งาน เน็ตประชารัฐประมาณ 2.6 ล้านคน โดย จังหวัดที่มีปริมาณการเข้าใช้งานมากสุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สกลนคร และกาฬสินธุ์ สำหรับช่วงเวลาใช้งานมากที่สุดคือ เวลา 16.00-24.00 น. คิดเป็นร้อยละ 79.6 และใช้งานน้อยต่ำสุดคือช่วงเวลา 24.00-04.00 น. คิดเป็นร้อยละ 5.05
[Advertorial]