งัดมาตรา 44 ช่วย "ทีวีดิจิทัล" พร้อมไฟเขียว "ช่อง 11" หารายได้จากโฆษณา

งัดมาตรา 44 ช่วย "ทีวีดิจิทัล" พร้อมไฟเขียว "ช่อง 11" หารายได้จากโฆษณา

งัดมาตรา 44 ช่วย "ทีวีดิจิทัล" พร้อมไฟเขียว "ช่อง 11" หารายได้จากโฆษณา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คสช.ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้พักชำระค่าใบอนุญาตได้ไม่เกิน 3 ปี รัฐช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่ายร้อยละ 50 ในเวลา 2 ปี และให้ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์มีโฆษณาได้เท่าที่จำเป็น

 

วันนี้ (23 พ.ค.61) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ทีวีดิจิทัล) โดยสรุปว่า หลังจากคสช.มีคำสั่งที่ 36/2559 ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม จึงไม่อาจชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันในเวลาที่กำหนด

โดยในปัจจุบันภาวะดังกล่าวยังปรากฏอยู่ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจ ในขณะที่ส่วนแบ่งรายรับจากการประกอบกิจการลดลง อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป เกินความคาดหมายทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม (Technological Disruption)

นอกจากนั้น หากปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่นักลงทุน หรือผู้ประกอบกิจการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากรัฐในกิจการที่การลงทุนมีมูลค่าสูง และเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ก่อให้เกิดการจ้างงานและอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกเป็นอันมาก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หัวหน้า คสช.จึงมีคำสั่ง ดังนี้

  1. ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาการ พักชำระค่าธรรมเนียมให้ใช้คลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาต แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี
  2. กสทช. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจัทัล หรือ MUX อัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี
  3. ให้กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณา เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ โดยต้องไม่มุ่งแสวงหากำไรทางธุรกิจ

 

ช่อง 7 จ่ายงวดที่ 5 มูลค่า 372 ล้านบาทแล้ว ส่วน TNN-True4U แจ้งใช้สิทธิขยายเวลา

 

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้มี ช่อง 7 หรือ ช่อง 35HD ได้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 5 มาชำระแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 372 ล้านบาท โดยไม่ใช้สิทธิตามมาตรการช่วยเหลือ 

ขณะที่ ช่อง 16 ทีเอ็นเอ็น (TNN) และช่อง 24 ทรูฟอร์ยู ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อขอใช้สิทธิขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวดที่ 5 ตามประกาศมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57/2559 ซึ่งให้สิทธิขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลจาก 3 งวด เป็น 6 งวด แม้ว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ช่อง 16 และ 24 ไม่ได้ใช้สิทธิขยายระยะเวลาชำระค่าประมูลก็ตาม

สำหรับผู้ประกอบการทีวิดิจิทัลรายอื่นๆ หากไม่มาชำระค่าประมูลภายใน 5 วัน (นับจากวันครบกำหนด 23 พ.ค. 61) กสทช.จะทำหนังสือแจ้งให้มาชำระครั้งที่ 1 จะให้เวลา 30 วัน หากยังไม่ชำระอีก ก็จะแจ้งเตือนครั้งที่ 2 และให้เวลาอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มาชำระอีก จะทำหนังสือแจ้งเตือนครั้งที่ 3 และให้เวลาอีก 30 วัน รวมทั้งสิ้น 90 วัน และหลังจากนั้นจะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการ กสทช. เพื่อออกคำสั่งทางปกครอง พักใช้ใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะใช้เวลาอีก 30 วัน 

ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่ยอมมาจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตภายใน 120 วัน กสทช.จะสั่งให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ระงับการส่งสัญญาณทันที

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายนำเงินค่าประมูลมาชำระ กสทช. ครบ จะได้เงินสำหรับงวดนี้รวม 4,808 ล้านบาท จาก 22 ช่อง โดยมี 5 ช่องที่ชำระเต็ม ไม่รับสิทธิการผ่อนผันตามประกาศ คสช. เมื่อปี 2559 ได้แก่ ช่อง 35 (ช่อง 7), ช่อง 19 สปริงนิวส์, ช่อง 16 ทีเอ็นเอ็น, ช่อง 24 ทรูฟอร์ยู และช่อง 23 เวิร์คพอยท์ 

สำหรับค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ที่ผู้ประกอบการต้องชำระกับ กสทช. ในวันที่ 23 พ.ค. มีรายการดังนี้

ช่อง 13 หรือ ช่อง 3 แฟมิลี่ จำนวน 59 ล้านบาท

ช่อง 15 อสมท จำนวน 59 ล้านบาท

ช่อง 16 ไบรท์ ทีวี จำนวน 118 ล้านบาท

ช่อง 19 สปริงนิวส์ จำนวน 219 ล้านบาท

ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี จำนวน 122 ล้านบาท

ช่อง 22 เนชั่น ทีวี จำนวน 122 ล้านบาท

ช่อง 23 เวิร์คพอยท์ จำนวน 395 ล้านบาท

ช่อง 24 ทรูฟอร์ยู จำนวน 387 ล้าทบาท 

ช่อง 25 จีเอ็มเอ็ม จำนวน 210 ล้านบาท

ช่อง 26 NOW จำนวน 201 ล้านบาท

ช่อง 27 อาร์เอส (ช่อง 8) จำนวน 207 ล้านบาท

ช่อง 28 หรือ 3SD จำนวน 208 ล้านบาท

ช่อง 29 โมโน จำนวน 206 ล้านบาท

ช่อง 30 อสมท จำนวน 258 ล้านบาท

ช่อง 31 วัน จำนวน 256 ล้านบาท

ช่อง 32 ไทยรัฐทีวี จำนวน 260 ล้านบาท

ช่อง 33 หรือ ช่อง 3HD จำนวน 277 ล้านบาท

ช่อง 34 อมรินทร์ทีวี จำนวน 256 ล้านบาท

ช่อง 35 หรือ ช่อง 7 จำนวน 372 ล้านบาท 

ช่อง 36 พีพีทีวี จำนวน 270 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook