มาร์ค ประกาศคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ ยันไม่เกี่ยว สนธิ ถูกถล่มยิง
นายก ให้เปิดประชุม2สภาวาระพิเศษเรื่อง เสื้อแดง ครม.ตั้งกก.เยียวยา-ศึกษาม็อบ ช่วยเจ็บ-ตายรายละ 2 หมื่น-4 แสน สธ.ออกค่ารักษาให้เหยื่อบาดเจ็บ ปชป.ท้าตรวจสอบเหตุสลายม็อบถ้ามีคนตายศพต้องโผล่แล้ว เกียรติกร อ้างขึ้นเวทีเพื่อ มาร์ค เล็งอุทธรณ์ศาลรธน.ถ้าโดนขับ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าววันนี้ (17 เม.ย.) ภายหลังการประชุมครม.นัดพิเศษ ว่า ครม.ยังไม่ประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะพยายามให้สั้นที่สุด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมาอย่างแท้จริง แม้ลักษณะปัญหาที่พบเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ปรากฎในขณะนี้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการอำนาจในบางส่วนของพ.ร.ก.ฉุกเฉินปรับสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่ยกเลิก แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
"เพื่อให้มีรูปธรรมในการเดินหน้าแก้ปัญหา วันนี้มี 3 เรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ 1. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ยังมีความพยายามเผยแพร่ข่าวสาร ซึ่งต้องชี้แจงต่อไป 2.เงื่อนไขทางการเมืองหลังจากที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุ ข้อตกลงของฝ่ายค้านเดินหน้าปฏิรูปทางการเมืองได้ วันนี้ให้รัฐมนตรีทุกท่านไปเร่งรัดเพื่อให้กระบวนการให้ทุกพรรคการเมืองสามารถมาพูดคุย ตกลง แนวทางได้ ปลดชนวนความขัดแย้ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เกี่ยวกับกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกถล่มยิงเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า 3. ที่มีข้อสงสัยปัญหาการใช้ 2 มาตรฐานหรือไม่ ยืนยันจะไม่มีการใช้ 2 มาตรฐาน ข้อสงสัยทำไมกรณีปัจจุบันมีการออกหมายจับ คดีในอดีตไม่ได้ออกหมายจับ ขอเรียนว่าที่ต้องคัดค้านการประกันตัวออกหมายจับ หรือใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากมีเหตุเชื่อได้ว่า หากไม่ดำเนินการเช่นนี้ บุคคลที่เกี่ยวข้องก็จะไปดำเนินการในลักษณะอย่างที่ผ่านมา ผู้ใดที่เกี่ยวข้องกันเมื่อปีที่แล้ว มีพฤติกรรมแบบเดียวกันจะใช้มาตรฐานเดียวกัน
"มาร์ค"ให้เปิดประชุม2สภา
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 16.45 น. ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 เมษายน มีวาระพิเศษคือ เรื่องการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยจะแจ้งให้ ครม.รับทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจร่วมกับรัฐมนตรีบางส่วน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุม ครม.พ.ศ. 2548 นอกจากนี้จะตกลงแนวทางในการทำงานร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม อาจมีวาระอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย อาทิ การพิจารณาอายุพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากจะหมดอายุในวันที่ 19 เมษายน ส่วนการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ต้องประเมินว่าหมดความจำเป็นเมื่อไร ซึ่งขอย้ำว่าภายหลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบและปราศจากอาวุธสามารถทำได้ แต่การยุยงปลุกปั่น ทำไม่ได้
"ผมมีโอกาสพูดคุยกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อเรียนว่าหลังการประชุม ครม. วันที่ 17 เมษายน ผมจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการ เพื่อขอให้ประธานเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกทั้ง 2 สภา ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยคาดว่าในวันที่ 22-23 เมษายน จะเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทั่วไปได้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ครม.ตั้งกก.เยียวยา-ศึกษาม็อบ
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการประชุม ครม.วันที่ 17 เมษายน ว่าคงจะมีการหยิบยกขึ้นหารือ ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลง แต่ยังพบความเคลื่อนไหวตามจังหวัดต่างๆ ประมาณ 7-8 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน โดยใช้รูปแบบปลุกปั่นผ่านสถานีวิทยุชุมชน จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดำเนินการเอาผิดตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญา
นายถาวรกล่าวว่า ครม.นัดพิเศษอาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุม และ 2.คณะกรรมการอิสระศึกษาเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่ข้อเรียกร้อง ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว และบทสรุปในการชุมนุม
สธ.ออกค่ารักษาให้เหยื่อบาดเจ็บ
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อยู่ระหว่างการรวบรวมยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมคนเสื้อแดงทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา เพื่อประเมินความเสียหายและค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดย สธ.จะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ได้รับที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล หรือไม่มีประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนผู้บาดเจ็บที่มีสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ให้ต้นสังกัดเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะมีการรายงานผลการดำเนินการทั้งหมดให้ที่ประชุม ครม.รับทราบในวันที่ 17 เมษายนนี้
"จะขอหารือ ครม.เพื่อเสนอขอมอบการประกาศเกียรติคุณให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมอย่างเต็มที่ตลอด 1 สัปดาห์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์" นายวิทยากล่าว
ช่วยเจ็บ-ตายรายละ2หมื่น-4แสน
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.ได้จัดตั้งศูนย์เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบช่วงวันที่ 8-14 เมษายน โดยการช่วยเหลือเร่งด่วน แยกเป็นบาดเจ็บเล็กน้อย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่ไม่นอนพัก รับเงินช่วยเหลือ 20,000 บาท นอนพักที่โรงพยาบาลไม่เกิน 20 วัน ได้รับ 60,000 บาท บาดเจ็บสาหัสโดยเข้ารับการรักษาและนอนพักที่โรงพยาบาลเกิน 20 วัน ได้รับ 1 แสนบาท ทุพพลภาพ ได้รับ 2 แสนบาท และเสียชีวิตได้รับ 4 แสนบาท
"นอกจากนี้ยังให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง กรณีทุพพลภาพจะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 1,000-3,000 บาท ตามระดับความพิการ และช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบปริญญาตรี โดยอนุบาล-ประถมศึกษา 1,000บาทต่อเดือน การศึกษานอกโรงเรียน-มัธยมศึกษา 1,500 บาทต่อเดือน และอุดมศึกษา 2,500 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบรวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหาย เพื่อขอรับการช่วยเหลือเยียวยาได้ที่สำนักงานรัฐมนตรี และที่ พม.ซึ่งจะเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือโทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 0-2659-6420-4 ตลอด 24 ชั่วโมง" นายอิสสระกล่าว
ปชป.ท้าตรวจสอบเหตุสลายม็อบ
นพ.วรงค์ เดชกิจกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองโฆษกพรรค กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริงและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่ายินดีให้ความร่วมมือ และท้าให้ตรวจสอบ เพราะช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิดไม่มิดอยู่แล้ว แต่พรรคเพื่อไทยต้องพร้อมแสดงหลักฐานยืนยันในสิ่งที่พูด โดยเฉพาะการกล่าวหาว่ามีคนตายจำนวนหลายสิบคน เพราะเหตุการณ์วันดังกล่าว สื่อมวลชนจำนวนมากก็อยู่ในที่เกิดเหตุ และมีถ่ายทอดสดอยู่โดยตลอด หากมีคนตายต้องมีคนเห็นแล้ว และเท่าที่พูดคุยกับนักวิชาการที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ ได้บอกว่า ถ้ามีคนตายจริงต้องมีประชาชนเห็นเป็นจำนวนมาก และพูดกันปากต่อปากแล้ว ไม่ใช่พูดอยู่ฝ่ายเดียวแบบนี้
"ผมยังอยากเตือนน้องๆ นิสิตนักศึกษาของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่ออกมาบอกว่า มีคนตาย 60 คน ว่าอย่าตกเป็นเครื่องมือให้กับนักการเมือง เพราะผมได้รับเอสเอ็มเอส และอี-เมลจากอาจารย์ซึ่งอยู่คณะเดียวกับน้องคนที่มาแถลงข่าว ที่ใช้ชุดคำพูดเดียวกับที่คนเสื้อแดง และ ส.ส.เพื่อไทยใช้ " นพ.วรงค์กล่าว
"เกียรติกร"อ้างขึ้นเวทีเพื่อ"มาร์ค"
นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ ปชป.เตรียมกำหนดมาตรการลงโทษในที่ประชุมพรรควันที่ 21 เมษายน หลังขึ้นปราศรัยบนเวที นปช.ว่า ไม่เป็นไร แต่ยืนยันว่าการขึ้นเวที นปช. เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่ได้รับจ้างแต่อย่างใด แต่ต้องการช่วยชาติและช่วยนายกรัฐมนตรีจริงๆ เพราะก่อนขึ้นเวทีในวันนั้นได้ประสานงานกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส. พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย และประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ว่า ขอให้นำกลุ่มคนเสื้อแดงกลับมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด อย่าปิดล้อมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อย่าบุกเข้าไปในสถานที่ประชุมผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ที่พัทยา จ. ชลบุรี ซึ่งได้รับคำยืนยันจากแกนนำว่าจะดำเนินการตามที่ร้องขอ เจตนาการขึ้นเวที นปช.ในวันนั้น จึงเป็นการขอบคุณกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ปรากฏว่า คนเสื้อน้ำเงินได้ทำร้ายคนเสื้อแดงที่นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช.นำไปชุมนุมที่พัทยา
"ขณะนั้นเวลา 19.00 น. ผมอยู่บนเวที นปช.แล้ว ผมกลับไม่ได้ ถ้าลงจากเวที ผมโดนกลุ่มคนเสื้อแดงกระทืบตายแน่ๆ เพราะทุกคนโกรธแค้น ปชป.มาก" นายเกียรติกรกล่าว
เล็งอุทธรณ์ศาลรธน.ถ้าโดนขับ
นายเกียรติกรกล่าวว่า ได้พยายามต่อสายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมตรี และคนแวดล้อม เพื่อขอให้ปล่อยตัวนายอริสมันต์ ที่ถูกควบคุมตัวในวันที่ 11 เมษายน ไม่เช่นนั้นมีกระแสข่าวว่าจะมีการลอบฆ่านายกฯ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อใครได้ ทำให้เกิดเหตุรุนแรงที่กระทรวงมหาดไทย จึงถือเป็นเวรกรรมจริงๆ แต่ต่อมามีการบิดเบือนว่าไปขึ้นเวที นปช. เพราะผิดหวังที่ไม่ได้เป็นรองโฆษก ปชป. ทั้งที่ไม่เคยอยากได้ตำแหน่ง แต่ต้องการทำให้บ้านเมืองสมานฉันท์ ไม่ใช่คอยพูดให้คนทะเลาะกันเหมือนนายเทพไท เสนพงษ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้า ปชป.
"วันที่ 21 เมษายนนี้ ผมจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ก่อนเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุม ส.ส.พรรค ถ้าพรรคจะใช้เสียง 3 ใน 4 ของที่ประชุมกรรมการบริหาร (กก.บห.) และ ส.ส. ขับผมออกจากพรรค ผมก็จะใช้สิทธิตามมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด และจะหาพรรคสังกัดใหม่แน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากหลายพรรค แต่จะไม่สังกัดเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยล้านเปอร์เซ็นต์" นายเกียรติกรกล่าว หวั่นไส้ศึกไม่ให้ประชุมพรรค
รายงานข่าวจาก ปชป.แจ้งว่า ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ได้สั่งการให้นายเกียรติกรเข้าชี้แจงเหตุผลในการขึ้นเวที นปช.ต่อที่ประชุมพรรค แต่ล่าสุดมีความพยายามจากนายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในการสกัดไม่ให้นายเกียรติกรเข้าร่วมประชุม เนื่องจากไม่วางใจในพฤติกรรมไส้ศึก เพราะการประชุมในวันที่ 21 เมษายน มีวาระสำคัญเรื่องการรับทราบการดำเนินการกับกลุ่ม นปช. ในช่วงที่ผ่านมาจากนายกรัฐมนตรี
อนึ่ง บุคคลที่เป็นผู้ส่งเทียบเชิญให้นายเกียรติกรเข้าร่วมงานกับ ปชป. หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) คือ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาธิปัตย์