กกต. สอย "ดอน" พ้น รมว.ต่างประเทศ จากกรณีคู่สมรสถือหุ้นต้องห้าม
มติที่ประชุม กกต. ชี้ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" ส่อขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี ปมให้คู่สมรสถือครองหุ้นสัมปทาน เป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เตรียมส่งคำร้องให้ ศาล รธน.ตีความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ต่างรายงานข่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าการถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือในกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นที่ถือครอง ให้แจ้งประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้โอนหุ้น จนอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 และขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักกฎหมายของทางสำนักงาน กกต. ดำเนินการยกร่างคำร้องเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
โดยเรื่องดังกล่าวมาจากการที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือครองหุ้นสัมปทานของ 9 รัฐมนตรี ประกอบด้วย
- นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
- นายอดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง
- นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัล
- นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม
- นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์
- นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
- นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น
- ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการในขณะนั้น และ
- พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานในขณะนั้น
โดยระบุว่า หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย. 2560 จะเข้าข่ายเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดหรือไม่
ทั้งนี้ กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นตรวจสอบ และมีรายงานว่าคณะอนุกรรมการได้เสนอรายงานผลการตรวจสอบ ต่อ กกต.ว่า การถือครองหุ้นของรัฐมนตรี 8 คนนั้นไม่มีปัญหา เห็นควรที่ กกต.จะยุติเรื่อง
มีเพียงของนายดอนที่อาจมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคู่สมรสถือครองหุ้นในธุรกิจอยู่เกินกว่าร้อยละ 5 และไม่มีการแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด