“Google” ไม่ต่อสัญญาพัฒนาเทคโนโลยีให้ “เพนตากอน” หลังพนักงานประท้วงรุนแรง
กูเกิลไม่ต่อสัญญาพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้ “เพนตากอน” หลังพนักงานประท้วงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่วมงานกับกองทัพ
สำนักข่าว CNN รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงใน ระบุว่า ไดแอน กรีน ซีอีโอของกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) กล่าวกับพนักงานในบริษัทกูเกิลว่า ภารกิจการทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน (Pentagon) ภายใต้โครงการรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “มาเวน” (Maven) จะยังคงดำเนินต่อไปตามแผนเดิมจนกระทั่งเดือนมีนาคม 2019 เท่านั้น
โครงการมาเวนคือโครงการที่นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) เข้ามาใช้พัฒนาโดรนคุณภาพสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อจุดประสงค์หลักในการใช้ตรวจตรารักษาความปลอดภัยที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา
โดยมีหลักในการทำงานง่ายๆ ก็คือการที่กูเกิลจะช่วยพัฒนาโดรนของเพนตากอนด้วยเทคโนโลยี Image Classification หรือการแยกแยะสิ่งของต่างๆ จากการถ่ายภาพด้วยโดรน เช่น การระบุว่าสิ่งนี้คืออาคาร สิ่งนี้คือรถเข็น และสิ่งนี้คือรถยนต์ เป็นต้น
ความคืบหน้าล่าสุดชี้ว่า ภายหลังจากการหมดสัญญาลงในช่วงเดือนมีนาคม 2019 บริษัทกูเกิลจะไม่ขอต่อสัญญาเพื่อทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อีกต่อไป เนื่องจากต้องทนกับแรงกดดันจากสาธารณะและพนักงานของบริษัทอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่มีพนักงานของกูเกิลหลายคนลาออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับเพนตากอนไปเรียบร้อยแล้ว
โครงการดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักทั้งในด้านของการขัดต่อจริยธรรม และใช้สิทธิทางการทหารสอดส่องประชาชน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างสงครามได้ในอนาคต เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากน้อยเพียงใดในวงการทหาร เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตการโจมตีด้วยโดรนอาจถูกสั่งการโดยหุ่นยนต์เอไอก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นก้าวที่เสี่ยงอย่างมากของการร่วมมือกันระหว่างบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกกับกองทัพสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การที่กูเกิลร่วมมือกับเพนตากอนนั้น ได้ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกภายในองค์กรอย่างรุนแรง พร้อมยังทำให้พนักงานราว 4,000 คน ลงนามยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านจดหมายเปิดผนึกให้ทางบริษัทกูเกิลและเพนตากอนห้ามกระทำการใดๆ ร่วมกันที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการทำลายล้างอันจะนำไปสู่การก่อให้เกิดสงครามเป็นอันขาด และขอให้กูเกิลยกเลิกสัญญาดังกล่าวโดยเร็ว โดยพนักงานจำนวนมากเล็งเห็นว่าการร่วมมือกับเพนตากอนนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะนำเทคโนโลยีที่พวกเขาผลิตขึ้นมาไปใช้ในทางที่ผิด
ในด้านของรายได้ ผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ Gizmodo สื่อแรกที่นำเสนอข่าวนี้ชี้ว่าสัญญาครั้งนี้มีมูลค่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับรายได้หลักจากการให้บริการปกติของกูเกิล เพราะมีการคาดการณ์ว่ากูเกิลน่าจะได้รับค่าจ้างจากเพนตากอนเป็นเงินประมาณ 15 ล้านดอลลาร์ หรือราว 480 ล้านบาทเท่านั้น แต่แหล่งข่าวเชื่อว่าเม็ดเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กูเกิลตอบตกลงร่วมงานกับเพนตากอน แต่เป็นโอกาสที่จะได้ร่วมงานในโปรเจกต์ที่ใหญ่กว่าในอนาคต