“ฮุน เซน” อ้างภัยกบฏ ขอเป็นนายกฯ อีก 10 ปี

“ฮุน เซน” อ้างภัยกบฏ ขอเป็นนายกฯ อีก 10 ปี

“ฮุน เซน” อ้างภัยกบฏ ขอเป็นนายกฯ อีก 10 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาแล้วกว่า 33 ปี เปรยผ่านสื่อว่าจะขออยู่ต่ออีก 2 สมัย เพราะไม่อยากให้ 'กลุ่มกบฏ' ทำลายประเทศ ตั้งเป้า 'กัมพูชา' เป็นประกาศรายได้ปานกลางจึงจะยุติบทบาท

หนังสือพิมพ์ขแมร์ไทม์ส รายงานว่า "ฮุน เซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวปาฐกถาเนื่องในพิธีจบการศึกษาซึ่งจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ วันนี้ (5 มิ.ย.) โดยระบุว่า เขามีเป้าหมายจะยุติบทบาททางการเมืองแล้ว แต่กลับมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีความคิดเป็นกบฏต่อชาติบ้านเมือง จึงเห็นความจำเป็นว่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 2 สมัย หรืออีก 10 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มกบฏทำลายประเทศ

ฮุน เซน ระบุด้วยว่า "เขายังไม่แก่เกินไป" ที่จะปกครองประเทศ ทั้งยังต้องการบรรลุเป้าหมายสำคัญที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งก็คือการผลักดันให้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี พ.ศ. 2571

ขแมร์ไทม์ส รายงานด้วยว่า ฮุน เซน อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วกว่า 33 ปี ส่วนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีแนวคิดกบฏ ได้แก่ เกิม เสิกขา หัวหน้าพรรคกู้ชาติหรือซีเอ็นอาร์พี ฝ่ายค้านของกัมพูชา ซึ่งถูกจับกุมตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกับต่างชาติ กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ทำให้ศาลกัมพูชาตัดสินใจยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี และสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ถ้าไม่ถูกจับกุมก็หลบหนีออกนอกประเทศไป

อย่างไรก็ตาม สื่อกัมพูชารายงานคำยืนยันของพรรคฝ่ายค้าน ระบุว่าพวกเขาถูกใส่ร้ายป้ายสีโดยรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของฮุน เซน

ขณะที่ วอยซ์ออฟอเมริกา หรือ VOA ประจำกัมพูชา รายงานว่ากระทรวงสารสนเทศ, กิจการภายใน และไปรษณีย์ของกัมพูชา ออกประกาศเตือนสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างๆ ให้ระมัดระวังการนำเสนอข่าวไม่ให้เป็นการยุยงปลุกปั่นหรือทำให้เกิดความไม่สงบ ก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งใหญ่ทั่วกัมพูชาในวันที่ 29 ก.ค. นี้ หากพบสื่อมวลชนใดมีการกระทำเข้าข่ายดังกล่าว จะถือว่ามีความผิด และอาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหาเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อความอันเป็นเท็จสื่อระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ กัมพูชาเพิ่งจะประกาศบังคับใช้กฎหมายปราบปรามข่าวปลอม และกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์กัมพูชา เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้สื่อต่างประเทศหลายสำนัก และองค์การด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประเมินว่ากัมพูชากำลังใช้อำนาจทางกฎหมายปิดปากประชาชน

ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐอาจถูกตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีได้ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายโดยตีความอย่างกว้างขวาง และส่วนใหญ่จะเป็นการตีความที่เข้าข้างรัฐบาลกัมพูชามากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook