รัฐดัดหลังตร.เกียร์ว่าง-ส่งยธ.สอบสำนวน

รัฐดัดหลังตร.เกียร์ว่าง-ส่งยธ.สอบสำนวน

รัฐดัดหลังตร.เกียร์ว่าง-ส่งยธ.สอบสำนวน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐดัดหลัง ตร.เกียร์ว่าง ให้ ยธ.ตรวจสอบสำนวนสั่งฟ้องก่อนส่งอัยการ ด้านอภิสิทธิ์ เปิดทางนิรโทษกรรมแต่ไม่เว้นโทษอาญา ดึงทุกพรรคระดมแก้ รธน.ใน 2 สัปดาห์ แฉ เติ้ง ออกโรงเองจับมือพรรคร่วมบีบปล่อยผีนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ มท.2 ปัดนัดถกตัดสัญญาณเอเอสทีวี

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมป้องกันปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจเกียร์ว่าง โดยวิธีการทำสำนวนสืบสวนสอบสวนไม่แน่นหนาพอ จนเป็นเหตุให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี โดยในเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์เตรียมให้กระทรวงยุติธรรม โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะตรวจสอบสำนวนคดี เพื่อให้มีความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อเมื่อส่งสำนวนถึงอัยการแล้วจะไม่มีปัญหาในการพิจารณาสั่งฟ้อง

นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ถึงความคิดเห็นที่ประชาชนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายๆ เรื่องว่า ในทุกเรื่องรัฐบาลก็พร้อมที่จะเร่งให้การแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ติดต่อให้มีคนกลางเข้ามาดูแลในเรื่องนี้แล้ว แต่ในเรื่องดังกล่าวนี้ฝ่ายค้านเองก็ยังไม่ได้รับการขานรับ ซึ่งอาจมีความระแวงว่า สถาบันที่เข้ามาที่เข้ามาดูแลมีความเป็นกลางจริงหรือไม่ ในวันนี้ตนและ ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีข้อสรุปให้พรรคการเมืองต่างๆ ไปทำการสรุป ว่าปัญหาที่ไม่ได้รับความเป็นในบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีเรื่องใดบ้าง โดยให้รวบรวมให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะนำมาดู และจะให้สังคมให้ฉันทามติได้อย่างไรบ้าง

"แม้แต่ในประเด็นที่มีการพูดถึงว่า ความผิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สมควรจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ตรงนี้ผมก็เปิดใจกว้างพร้อมที่จะรับฟัง แต่ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เราต้องแยกความทางการเมืองออกจากความผิดทางอาญา เช่น การก่อการจลาจล การยุยงปลุกปั่นที่อยู่นอกเหนือจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ รวมถึงความผิดอื่นๆ เช่น การใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้อง การทุจริต คอรัปชั่น เป็นต้น เหล่านี้ต้องแยกออกมา และไม่ควรนำมารวมกัน เพราะว่าในส่วนหลังนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด" นายอภิสิทธิ์กล่าว

แจงความจำเป็นต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทราบเป็นอย่างดีว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จะต้องส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมาได้ปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน และได้อธิบายให้มีความเข้าใจ ว่า รัฐบาลยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ ก็มีความเข้าใจในการตัดสินใจของรัฐบาล

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเฉพาะหน้าในเวลานี้ คือ อยากจะเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายขอให้อยู่ในความสงบ และขอให้มีความมั่นใจว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้จะไม่มีการไปไล่ล่า หรือจะไปรุกคืบ ในการที่จะเอาชนะคะคานในทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ใครก็ตามที่พยายามจะสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง โดยมีการพูดข่มขู่ คุกคาม โดยเฉพาะพูดว่า จะมีการปฏิบัติการจากบนดินลงไปในใต้ดิน สิ่งนี้อยากจะเรียกร้องให้ทุกฝ่ายควรจะเรียกร้องและบอกเขาเหล่านั้นว่า สิ่งที่พวกเขากำลังคิดนั้นเป็นการทำร้ายประเทศชาติ และทำร้ายประชาธิปไตย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีความพยายามที่จะให้ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และบางเรื่องก็เอาเรื่องอื่นๆ เข้ามาโยง เช่น เมื่อมีการพบศพ 2 ศพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีความพยายามที่จะบอกว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของการชุมนุม แต่ปรากฏชัดเจนจากการสืบสวนสอบสวนว่า บุคคลทั้งสองที่เสียชีวิตนั้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการต่างๆ ในการสลายหรือเปิดการสัญจรคมนาคมไปแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ จนถึงเลยเที่ยงคืน คือเข้าสู่วันที่ 14 เมษายนไปแล้ว และที่สำคัญคือว่าบุคคลที่อยู่กับคนทั้งสองครั้งสุดท้าย ยืนยันว่าคนทั้งสองไม่ได้บอกว่าจะไปชุมนุมแต่ประการใด

ยันจะสะสางคดีอย่างตรงไปตรงมา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดความพยายามที่จะลอบสังหารแกนนำกลุ่มพันธมิตร ทำให้หลายฝ่ายมีความห่วงใย และหลายฝ่ายเกิดมีความรู้สึกขึ้นมา ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายได้ ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจว่าคดีนี้ จะได้รับการสะสางอย่างตรงไปตรงมาโดยเร็วที่สุด และขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางด้านพันธมิตรนั้น ตั้งอยู่ในความสงบ อย่าได้นำเรื่องนี้ไปเป็นปัญหาที่จะขัดแย้งบานปลายรุนแรง

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงประเด็นที่ค้างคาใจประชาชนว่า รัฐบาลใช้สองมาตรฐานในการดำเนินคดีกับการชุมนุมหรือไม่ โดยเฉพาะมีการเปรียบเทียบกับการชุมนุมในปีนี้กับปีที่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า อยากให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจนะครับว่า เราไม่มีสองมาตรฐาน แต่ว่าเราจะแก้ไขสิ่งที่ยังค้างคาใจของพี่น้องประชาชนอยู่

พรรคร่วมบีบออกก.ม.นิรโทษกรรม

รายงานข่าวจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยว่าในการหารือระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่บ้านนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมานั้น พรรคร่วมรัฐบาลอาศัยช่วงจังหวะที่รัฐบาลถูกปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะปัญหาการจัดการกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออายุของรัฐบาลได้ โดยก่อนหน้านี้ในพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าจะร่วมมือกันประคองสถานการณ์ทางการเมืองไปจนกว่าจะมีการผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ไปก่อน จนถึงราวเดือนกันยายน รัฐบาลอาจจะมีความเป็นไปได้ในการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนในการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งหลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นปัญหาในรัฐบาล จึงเกรงว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ถึงเดือนกันยายน จึงได้ร่วมมือกับระหว่างพรรคชาติไทยพัฒนา กับพรรคภูมิใจไทย พยายามบีบให้นายอภิสิทธิ์เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทั้งของพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ คือนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย

แฉ"เติ้ง"ออกโรงเองจับมือ"ชวรัตน์"

เนื่องจากขณะนี้นายบรรหาร ไม่สามารถที่คุมเสียง ส.ส.ในพรรคชาติไทยพัฒนาได้ โดยอำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาพรรคชาติไทย สั่งผ่านนายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นมือขวาของ พล.ต.สนั่น ดังนั้น นายบรรหารจึงต้องการกลับมามีอำนาจในพรรคชาติไทยพัฒนาอีกครั้ง ด้วยการเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ลงไปเลือกตั้งและกลับเข้ามาเป็น ส.ส.อีกครั้ง และยังเปิดโอกาสให้นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชาย ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้เข้ามาสานต่องานการเมืองด้วย

นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า นายบรรหารได้พยายามจับมือกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการวางมือทางการเมืองเช่นเดียวกัน แต่ต้องการเปิดทางให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชาย อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กลับเข้ามาเล่นการเมืองอีกครั้ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวไปสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย จึงได้เสนอเงื่อนไขนี้ขึ้นมาบีบนายอภิสิทธิ์ เพื่อต่อรองกับการทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลให้มีเสถียรภาพและอายุยาวขึ้น

จี้ปลด"กอร์ปศักดิ์"ขวางทางงบ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การจับมือระหว่างพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทย นอกจากเสนอเงื่อนไขเรื่องการนิรโทษกรรมแล้ว ยังต้องการให้ปรับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงบประมาณ ออกจากเก้าอี้ด้วย เนื่องจากทั้งสองพรรคไม่พอใจการทำงานของนายกอร์ปศักดิ์ที่คอยท้วงติงการของบประมาณจากกระทรวงในโควตาทั้งสองพรรครับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กระทรวงได้รับอนุมัติไปกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ได้รับไปเพียง 1,000 ล้านบาทเท่านั้น และยังมีโครงการโรดโชว์เรื่องการท่องเที่ยวในประเทศอีกหลายโครงการ แต่นายกอร์ปศักดิ์เบรกเอาไว้ เนื่องจากขณะนี้มีงบประมาณไม่เพียงพอ สร้างความไม่พอใจให้แก่นายบรรหารเป็นอย่างมาก

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่พอใจนายกอร์ปศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการระบายข้าวโพดในสต็อกของรัฐบาล จำนวน 4.5 แสนตัน จากทั้งหมด 8 แสนตันให้แก่ผู้ส่งออก ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการตลาดที่มีนางพรทิวา เป็นประธานเสนอ จนทำให้ต้องสั่งระงับการประมูลไว้ก่อน เนื่องจากนายกอร์ปศักดิ์เห็นว่าราคาการประมูลที่ต่ำจนเกินไป

นอกจากนี้ยังมีโครงการถนนปลอดฝุ่นของกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่เสนอของบประมาณ แต่ถูกนายกอร์ปศักดิ์ตรวจสอบและท้วงติงอย่างละเอียด จนทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุให้พรรคร่วม โดยเฉพาะนายบรรหาร เสนอให้มีปรับนายกอร์ปศักดิ์ออกจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีที่คุมสำนักงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเตรียมงบประมาณในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

มท.2 ปัดนัดถกตัดสัญญาณเอเอสทีวี

มีรายงานข่าวจากรัฐบาลแจ้งว่า เวลา 14.00 น. วันที่ 20 เมษายนนี้ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย จะมีการประชุมร่วมกับสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คาดว่าจะเป็นการเจรจาให้มีการตัดสัญญาณสถานีเอเอสทีวี ของกลุ่มพันธมิตร ภายหลังแกนนำพันธมิตรตั้งข้อสังเกตว่ามีขบวนการเกสตาโปอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านเมือง โดยเฉพาะการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยมีการพาดพิงไปถึงนายเนวิน ชิดชอบ ด้วย

อย่างไรก็ดีนายบุญจงได้ปฏิเสธว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง การเดินทางไปประชุมที่กฟภ.เป็นเพราะมีการใช้เสาไฟฟ้า ในการตั้งสายเคเบิลเถื่อนพาดโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงจำเป็นต้องหารือกับสมาคมเคเบิลเพื่อดำเนินการจัดการให้มีความถูกต้อง

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการของนายบุญจง อาจเป็นการตั้งเงื่อนไขให้แก่บรรดาเคเบิลเถื่อน ไม่ให้มีการปล่อยสัญญาณเอเอสทีวีก็เป็นได้ ขณะเดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า อาจจะมีการปล่อยสัญญาณดีสเตชั่นอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเป็นดีสเตชั่น ของนายเนวิน ชิดชอบ แทนที่ช่องสัญญาณของมวลชนเสื้อแดง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook