ลาก่อน บิกินี่-ชุดราตรี ผู้จัดแข่งขัน "มิสอเมริกา" ยกเลิกโชว์เรือนร่าง
ผู้จัดการแข่งขัน "มิสอเมริกา" ของสหรัฐฯ ประกาศว่าปีนี้จะไม่มีการบังคับสวมชุดว่ายน้ำแบบบิกินีและชุดราตรี แต่จะเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันสวมชุด 'อะไรก็ได้' ที่เสริมสร้างความมั่นใจและเป็นตัวเองมากที่สุด
เกรทเชน คาร์ลสัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของมูลนิธิมิสอเมริกา (MAO) ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ กู๊ดมอร์นิง อเมริกา (GMA) ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับมิสอเมริกาเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะเป้าหมายในการจัดงานจะไม่ใช่ "การประกวดความงาม" อีกต่อไป แต่จะเป็น "การแข่งขันความสามารถ" ของผู้เข้าร่วมบนเวทีมิสอเมริกาแต่ละคน
ผู้เข้าร่วมการแข่งขันมิสอเมริกาปี 2019 ซึ่งจะจัดการประกวดในวันที่ 9 กันยายนนี้ จะไม่ถูกบังคับให้สวมชุดบิกินีและชุดราตรีเพื่ออวดเรือนร่าง รวมถึงไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าส้นสูง แต่สามารถสวมชุด 'อะไรก็ได้' ที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันมีความมั่นใจและสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้ร่วมการแข่งขันมากที่สุด
ส่วนการตัดสินความสามารถจะวัดจากการทำกิจกรรม การตอบคำถาม และการมีปฏิสัมพันธ์กับคณะกรรมการและผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ โดยจะไม่เน้นการให้คะแนนรูปลักษณ์ภายนอกหรือคะแนนสัดส่วนของผู้เข้าแข่งขันอีกต่อไป
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกวดมิสอเมริกาในปีนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงจากภายในองค์กรจัดการประกวดที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 100 ปี เนื่องจากเป็นปีแรกที่ผู้บริหาร 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดแข่งขันมิสอเมริกาเป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยนอกเหนือจากคาร์ลสันแล้วยังมี 'เรจินา ฮอปเปอร์' อดีตมิสอาร์คันซอส์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และมาร์จอรี วินเซนต์-ทริปป์ อดีตมิสอเมริกาปี 1991 ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการ
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมของคาร์ลสัน ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงรุ่นใหม่จำนวนมากบอกกับผู้จัดการแข่งขันมิสอเมริกาว่าอยากจะมีส่วนร่วมด้วย แต่พวกเธอไม่ชอบสวมชุดว่ายน้ำหรือใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้การประกวดมิสอเมริกา 2019 พยายามลบล้างแนวคิดเดิมๆ ทั้งหมดทิ้งไป
ความเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันมิสอเมริกา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กระแสต่อต้านการละเมิดทางเพศ #MeToo ที่เริ่มขึ้นจากกลุ่มคนในแวดวงบันเทิงฮอลลีวู้ดได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลาย และคาร์ลสันเองเป็นหนึ่งในผู้เริ่มการต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศเป็นคนแรกๆ
ทั้งนี้ คาร์ลสันเป็นอดีตพิธีกรของฟ็อกซ์นิวส์ แต่ลาออกหลังจากที่เธอตัดสินใจฟ้องร้องอดีตเจ้านายในข้อหาลวนลามและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทำให้ 'โรเจอร์ เอลส์' อดีตผู้ก่อตั้งและประธานบริหารช่องฟ็อกซ์นิวซ์ ยอมลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2016 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา
ส่วนสถานีโทรทัศน์เอบีซี รายงานว่าการแข่งขันมิสอเมริกาเริ่มขึ้นตั้งแต่ 97 ปีที่แล้ว ที่เมืองแอตแลนติกซิตี้ โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกคือการประกวดสาวงามในชุดว่ายน้ำ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังเมืองดังกล่าว แต่ทัศนคติเกี่ยวกับการประกวดความสวยความงามเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละยุค
นอกจากนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อดีตประธานบริหารมูลนิธิมิสอเมริกาที่เป็นผู้ชายทั้งหมดประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพราะตกเป็นข่าวอื้อฉาว หลัง 'เดอะฮัฟฟิงตันโพสต์' สื่อสหรัฐฯ เปิดโปงว่าผู้บริหารเหล่านี้ส่งอีเมลคุยกันโดยวิจารณ์เรือนร่าง ทัศนคติ และความสามารถของผู้เข้าประกวดมิสอเมริกา รวมถึงอดีตมิสอเมริกาหลายคนในเชิงเหยียดเพศ และคาร์ลสันเป็นหนึ่งในคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย