ผู้บริหาร "เฟซบุ๊ก" ยอมรับ “แชร์ข้อมูลผู้ใช้” ให้บริษัทจีน
ผู้บริหารเฟซบุ๊กยอมรับ ได้เปิดเผยข้อมูลบัญชีผู้ใช้ให้แก่บริษัทผลิตเครื่องมือสื่อสารของจีน 4 บริษัทที่เป็นลูกค้าของเฟชบุ๊ก ท่ามกลางความกังวลว่าข้อมูลในเครือข่ายสังคมออนไลน์จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และอาจถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทรกแซง
เมื่อวันอังคาร (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า บริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารของจีน อย่าง Huawei, บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เลโนโว กรุ๊ป (Lenovo Group) และผู้ผลิตสมาร์ทโฟน OPPO และทีซีแอล กรุ๊ป สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีของผู้ใช้งานเฟชบุ๊กบางส่วนจากทางบริษัท รวมไปถึงบริษัททางด้านเทคโนโลยีอีกว่า 60 บริษัทก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้เช่นกัน
มาร์ค วอร์เนอร์ รองประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ด้านข่าวกรอง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความอันตรายอย่างยิ่งที่เฟชบุ๊กแชร์ข้อมูลของผู้ใช้งานกับบริษัทผลิตเครื่องมือสื่อสารของจีน อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่อง Huawei เกิดขึ้นจากปี 2012 ทางคณะกรรมการหน่วยงานข่าวกรองของสภาคองเกรสได้รับรายงานถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารอย่าง Huawei
พฤติกรรมการแชร์ข้อมูลบางส่วนผู้ใช้ของเฟชบุ๊กสร้างความกังวลให้แก่ทางวุฒิสมาชิกฯ ซึ่งต้องการความแน่ใจและการรับประกันจากทางเฟชบุ๊กว่า ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จะไม่ถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลกลางของรัฐบาลจีน
ขณะที่ฟรานซิสโก วาเรลา รองประธานด้านลูกค้าสัมพันธ์ของเฟชบุ๊ก กล่าวว่า เฟชบุ๊กเป็นคู่สัญญาและทำธุรกิจร่วมกับบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ รวมไปถึงผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารของจีน ทางเฟชบุ๊กขอประกาศว่าข้อมูลทุกอย่างที่เฟชบุ๊กแชร์ร่วมกับ Huawei นั้นเป็นในเรื่องของอุปกรณ์การสื่อสารเท่านั้น และข้อมูลของผู้ใช้ไม่ได้อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของ Huawei แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ (3 มิ.ย.) ที่ผ่านมา นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า เฟชบุ๊กแชร์ข้อมูลของผู้ใช้บางส่วนจากการกดไลค์ การส่งข้อความ รวมไปถึงข้อมูลที่อยู่ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กให้แก่บริษัทเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่เป็นลูกค้าของเฟชบุ๊ก รวมกว่า 60 บริษัททั่วโลก โดยปราศจากความยินยอมจากทางผู้ใช้ แม้ว่าทางบริษัทจะเคยประกาศว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลบัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กให้แก่บุคคลภายนอกอีกต่อไป
นิวยอร์กไทม์สยังเปิดเผยอีกว่า เฟชบุ๊กอนุญาตผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีบางรายให้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟชบุ๊กได้แม้ว่าทางผู้ใช้จะปิดกั้นการเข้าถึงจากผู้ผลิตดังกล่าวแล้วก็ตาม
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟชบุ๊ก ถูกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซักถามและตำหนิหลายข้อเกี่ยวกับกรณีที่ข้อมูลผู้ใช้งานของเฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านคนรั่วไหล จากกรณีของเคมบริดจ์ อนาไลติกา บริษัทวิจัยทางการเมืองของอังกฤษ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ได้ และข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงใช้แทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 จนทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง
อิม อาร์ชิบอง รองประธานด้านผลิตภัณฑ์ของเฟชบุ๊กกล่าวว่า ข้อมูลที่ทางเฟชบุ๊กเปิดเผยให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารนั้นเป็นการนำข้อมูลเพื่อไปพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลของผู้ใช้เท่านั้น และกรณีดังกล่าวนี้มีความแตกต่างจากการเข้าถึงข้อมูลจากบุคคลที่สามอย่างกรณีของเคมบริดจ์ อนาไลติกา
>> ซักเคอร์เบิร์กยอมรับเฟซบุ๊กทำพลาด ข้อมูลผู้ใช้รั่วไหลกว่า 50 ล้านคน
>> เหยื่อข้อมูลเฟซบุ๊กรั่วไหลเพิ่มจาก 50 เป็น 87 ล้านคน
>> ซัคเคอร์เบิร์ก แจงสภาฯ กรณีข้อมูลรั่ว เผยรัสเซียย่องแฮกเน็ตช่วงเลือกตั้ง