ทะลัก! ขยะอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงปีละกว่า 2 หมื่นตัน นอภ.หวั่นชาวบ้านตายผ่อนส่ง

ทะลัก! ขยะอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงปีละกว่า 2 หมื่นตัน นอภ.หวั่นชาวบ้านตายผ่อนส่ง

ทะลัก! ขยะอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงปีละกว่า 2 หมื่นตัน นอภ.หวั่นชาวบ้านตายผ่อนส่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีอธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องขยะรีไซเคิล หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่แหล่งใหญ่เนื่องจากมีประชาชนประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

(6 มิถุนายน 2561) นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้นายประสูตร หอมบรรเทิง นายอำเภอฆ้องชัย พ.ต.อ.บุญฤทธิ์ ชวีวัฒน์ ผกก.สภ.ฆ้องชัย นายศิริศักดิ์ บุญไชยแสน สาธารณสุขอำเภอฆ้องชัย นายวิจิตร มูลเอก นายก อบต.โคกสะอาด พร้อมเจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนลงพื้นที่ให้ความรู้และตรวจสอบปัญหาการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กับชาวบ้านใน ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์

หลังจากพบข้อมูลมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 1,200 ตันต่อเดือน เฉลี่ยตกปีล่ะกว่า 2 หมื่นตัน เนื่องจากส่วนใหญ่ชาวบ้านยึดอาชีพตระเวนรับซื้อของเก่า โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วนำมาทำการคัดแยกชิ้นส่วนขาย  แต่กลับประสบปัญหาการกำจัดขยะเหลือและขยะที่ไม่มีค่าไม่ถูกวิธี และขาดสถานที่จัดเก็บมานานหลายสิบปี จนทำให้บ่อเก็บขยะเล็กทรอนิกส์ของทาง อบต.โคกสะอาดล้นและเกินขีดความสามารถในการกำจัด

นายประสูตร หอมบรรเทิง นายอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ ต.โคกสะอาดมีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะยึดอาชีพตระเวนรับซื้อของเก่าทั่วประเทศ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ แล้วนำมาคัดแยกชิ้นส่วนขาย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ต.โนนศิลาเลิง ที่รับซื้อของเก่าที่เป็นจำพวกเครื่องจักรและรถจักรยานยนต์มาแยกชิ้นส่วน ซึ่งหากรวม 2 พื้นที่ทำให้แต่ละเดือนมีขยะจำพวกเหล่านี้มาเข้าในพื้นกว่า 1,200 ตันต่อเดือน หรือเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นตันต่อปี

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เข้ามาให้ความรู้ในการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะวิธีการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเข้ามาดูแลและตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวัง ซึ่งปัจจุบันเท่าที่ติดตามสถานการณ์พบว่าปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนนั้นยังไม่พบว่ามีใครล้มป่วยจากการได้รับสารเคมีในการคัดแยกขยะ

แต่เพื่อเป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสุขภาพทุกปี และเฝ้าระวังการใช้ชีวิตอยู่กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเด็ก แต่มีปัญหาในการคัดแยกขยะที่ไม่มีค่าแล้วนำไปกำจัดไม่ถูกวิธี บางรายลักลอบเผา รวมทั้งสถานที่เก็บขยะหรือบ่อขยะนั้นไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะทะลักเข้ามาในแต่ละปี

ดังนั้นทางอำเภอจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการรณรงค์ประชาชนสัมพันธ์ให้กับประชาชนที่คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เสร็จแล้วให้นำไปทิ้งไว้ที่บ่อขยะ ห้ามคัดแยกโดยการเผาอย่างเด็ดขาด โดยขยะจำพวกโฟม พลาสติกและสายไฟ เพื่อไม่ให้กระทบในด้านสิ่งแวดล้อม

นายประสูตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เท่าที่ตรวจสอบขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ชาวบ้านนำมาคัดแยกชิ้นส่วนนั้น จะเป็นการรับซื้อของเก่ามาจากครัวเรือนจากทั่วสารทิศ ไม่ได้เป็นการนำมาจากการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะการคัดแยกขยะในพื้นที่ ต.โคกสะอาด นั้นจะทำกันเป็นการสร้างอาชีพในครัวเรือน ไม่ได้ใหญ่โต และเป็นโรงงาน อีกทั้งสภาพหมู่บ้านก็ไม่ได้แออัดจึงยังไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก

ด้านนายวิจิตร มูลเอก นายก อบต.โคกสะอาด กล่าวว่า ชาวบ้านใน ต.โคกสะอาด ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มานานแล้ว และส่วนใหญ่ยึดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว เพราะการไปรับซื้อขยะแล้วนำมาคัดแยกนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี จนมีการขยายและสืบทอดการคัดแยกขยะไปยังลูกหลาน แต่ปัจจุบันกลับประสบปัญหาการกำจัดขยะที่เหลือจากการนำไปขายไม่ถูกวิธี และมีความปลอดภัยในชีวิต

โดยเฉพาะการกำจัดโฟม พลาสติก เหล็ก และเศษกระจก เพราะมีการลักลอบเผาและทำลายโดยไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ เนื่องจากสถานที่ทิ้งขยะหรือบ่อขยะของ อบต.ที่มีเนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ นั้นไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่ถูกนำเข้ามาจำนวนมากในแต่ปี ทำให้ปริมาณขยะล้นและเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในอนาคต เพราะอาจจะค่อยๆ ได้รับสารพิษเข้าร่างกายเรื่อยๆ สะสมจนล้มป่วยเป็นโรคต่างๆ ซึ่งเป็นการตายผ่อนส่ง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้บริหารระดับประเทศหลายกระทรวงลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบหลายครั้งแล้ว บางกระทรวงยังรับปากว่า จะจัดหาเตาเผาและดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพบ่อขยะให้แต่ก็เงียบหายไป ไม่มีวี่แววที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ทำให้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้หมักหมมมานานหลายสิบปี แต่ชาวบ้านก็ยังยึดอาชีพนี้ต่อไป เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร

ขณะที่นายต๋อง  อายุ 35 ปี ชาวบ้านหนองบัว ต.โคกสะอาด ซึ่งยึดอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ครอบครัวยึดอาชีพนี้มานานหลายปีแล้ว โดยจะรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แล้วมาแกะชิ้นส่วนส่งขาย ซึ่งทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น พอได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งนี้ที่ผ่านการคัดแยกขยะเหล่านี้ตนและครอบครัวก็ได้สวมหน้ากากอนามัยและถูกมือเพื่อป้องกันสารปนเปื้อน และขณะนี้คนในครอบครัวก็ไม่ได้ล้มป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งยังคงยึดอาชีพนี้ต่อไป

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ทะลัก! ขยะอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงปีละกว่า 2 หมื่นตัน นอภ.หวั่นชาวบ้านตายผ่อนส่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook