“เซ็กส์ทอย” สิ่งของเพื่อความสุขทางเพศหรือปีศาจทำสังคมเสื่อม

“เซ็กส์ทอย” สิ่งของเพื่อความสุขทางเพศหรือปีศาจทำสังคมเสื่อม

“เซ็กส์ทอย” สิ่งของเพื่อความสุขทางเพศหรือปีศาจทำสังคมเสื่อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในบรรดาดราม่าในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่ดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวเน็ตก็เห็นจะเป็น “กระทรวงวัฒนธรรม” ที่ล่าสุดมีผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเรื่องการทำให้ “เซ็กส์ทอย” เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยกล่าวว่า ในวัฒนธรรมไทย การมีอารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด และการทำให้เซ็กส์ทอยถูกกฎหมาย ก็ต้องมีงานวิจัยรับรองว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม แต่ประเด็นที่สะกิดต่อมชาวเน็ต จนต้องหยิบยกมาโจมตีผู้พูดอย่างเผ็ดร้อนก็คือประโยคที่ว่า “อารมณ์ทางเพศนั้นสามารถยับยั้งชั่งใจได้โดยการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การนั่งสมาธิ เล่นกีฬา กลายเป็นดราม่าครั้งใหญ่อีกครั้ง จนสุดท้ายกระแสตีกลับ สำนักข่าวถูกโจมตีจากการเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเสียหายต่อแหล่งข่าว ต้องแก้ไขเนื้อหาในกราฟิก พร้อมออกแถลงการณ์ขอโทษในที่สุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใหญ่ท่านนี้ให้สัมภาษณ์ก็สะท้อนถึงหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมุมมองที่มีต่อเรื่องเพศในสังคมไทย ซึ่งน่าจะนำมาขบคิดกันต่อ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้ว “เซ็กส์ทอย” เป็น “ปีศาจ” ที่ทำลายศีลธรรมอันดีงามจริงหรือ

ทำไมเซ็กส์ทอยจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ประเด็นแรกๆ ที่ถูกหยิบยกมาสกัดดาวรุ่งเซ็กส์ทอยก็คือเรื่องกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ระบุว่า ผู้ที่มีวัตถุลามก ซึ่งเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้คนเกิดความรู้สึกทางกามารมณ์ และนำมาจำหน่ายในที่สาธารณะโดยมีจุดประสงค์ทางการค้า หรือทำให้แพร่หลาย จะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นั่นหมายความว่า กฎหมายรองรับว่าห้ามมีวัตถุลามกไว้เพื่อจำหน่าย และเซ็กส์ทอยก็ถือว่าเป็นวัตถุลามก

“ความผิดในหมวดนี้เป็นมาตรฐานทางศีลธรรม เพราะว่าประเทศไทยเราสมัยก่อนรู้สึกว่าการนำวัตถุลามกมาจำหน่าย มันก็เท่ากับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรในทางศีลธรรม คล้ายๆ กับเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ไม่ควรเอามาเปิดเผย ถ้ามีอันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมเสื่อม แต่อีกมุมก็คือ ถ้าสิ่งลามกพวกนี้มีเยอะ มันก็จะมีการเร่งเร้าให้คนที่มีไว้ในครอบครองเกิดมีอารมณ์แล้วก็ไปล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงหรือเด็กอื่นๆ เขาก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน มีจุดตรงกลางเรื่องความเป็นส่วนตัว จะซื้อมาเก็บ จะดูเอง จะแบ่งให้เฉพาะเพื่อนแบบไม่เป็นสาธารณะ หรือไม่กระจายไปทั่ว กฎหมายไม่เอาผิด แต่ถ้าเป็นเรื่องเอามาแจกจ่าย เอามาโพสต์ในเว็บไซต์ ก็ผิดตามมาตรา 287ศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรายละเอียดทางกฎหมายของเซ็กส์ทอย ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศ ที่มีการอนุญาตให้คนที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ซื้อเซ็กส์ทอยได้ ในขณะที่กฎหมายประเทศไทยห้ามจำหน่ายเซ็กส์ทอยในทุกกรณี

อารมณ์ทางเพศแก้ได้ด้วยการเตะบอลจริงหรือ
การระงับอารมณ์ทางเพศด้วยการเตะฟุตบอลถือเป็นมุกระดับคลาสสิกในโลกออนไลน์ และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในการให้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และยิ่งโหมกระพือดราม่าให้หนักหนายิ่งกว่าเดิม เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา อย่าง ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การสร้างฮอร์โมนและมีอารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่เรื่องที่ผิด

การเกิดอารมณ์ทางเพศไม่ใช่อาการของโรค ไม่เหมือนความดันที่ขึ้นสูงแล้วลงยาก มันเป็นเรื่องของระดับฮอร์โมนในร่างกายซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นระดับของฮอร์โมนมันขึ้นลงได้เอง ถ้าปกติเรามีความต้องการทางเพศ แล้วมีเพศสัมพันธ์ต่อไป มันก็เป็นไปในทิศทางหนึ่ง ถ้าไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ มันก็จะลดลงเอง หรือเบี่ยงเบนความสนใจโดยการนั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง มันก็ลดลงได้ ถ้าเล่นกีฬาก็จะเป็นไปในลักษณะการใช้ฮอร์โมนในร่างกายเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น มันก็ลดระดับฮอร์โมนลงได้เช่นกัน มันแล้วแต่คน” ดร. เจษฎา กล่าว

“ดราม่าเซ็กส์ทอย” สะท้อนอะไรในสังคมไทย
นอกจากการโจมตีในประเด็นการระงับอารมณ์ทางเพศด้วยการเล่นกีฬาหรือนั่งสมาธิแล้ว ดราม่าเซ็กส์ทอยยังนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องเพศในสังคมไทยด้วย โดย ดร.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู ระบุว่า เซ็กส์ทอยเป็นสิ่งของที่ทำหน้าที่ตอบสนองกิจกรรมทางเพศ และถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางเพศ ทว่าดราม่าที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับเซ็กส์ทอยเท่านั้น แต่เกี่ยวกับมุมมองเรื่องเพศ ซึ่งถูกปลูกฝังมาจากการสร้างความเป็นรัฐชาติที่กำหนดบทบาทของผู้ชายและผู้หญิง รวมไปถึงกิจกรรมทางเพศ ที่เป็นไปเพื่อการสร้างสังคมของรัฐ

“มันเป็นมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทย ซึ่งมันก็มาจากชนชั้นนำที่พยายามกำหนดและทำอย่างไรให้ดูทัดเทียมกับต่างชาติ ซึ่งยุคนั้นก็คือตะวันตกที่วัฒนธรรมทางเพศก็ยังได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ ดังนั้นมันก็มีการควบคุมเรื่องเพศ คือเพศสัมพันธ์เป็นไปเพื่อการมีลูกไว้สืบสกุล ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ในแง่ของความสุข ความพึงพอใจ หรือสุขภาพอนามัย เป็นเพศสัมพันธ์เพื่อการสร้างครอบครัว และครอบครัวก็เป็นพื้นฐานของสังคม ประเทศไทยก็ไปรับเอาวัฒนธรรมทางเพศแบบนี้เข้ามา แล้วก็ปลูกฝังอย่างเหนียวแน่นในระบบการศึกษา ระบบสังคมและศาสนา เอาศีลธรรมมารองรับอะไรต่างๆ มากมาย ในที่สุดก็ไปปรากฏในระบบกฎหมายว่าเซ็กส์ทอยเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”

“เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความสุขทางเพศจะเป็นเรื่องต่ำ ต้องปิดซ่อน ต้องไม่พูดถึง เพราะถ้าพูดแล้วจะกลายเป็นคนหื่น ไม่มีศีลธรรม ทำให้เซ็กส์ทอยซึ่งไม่ได้มีฟังก์ชันอะไรอย่างอื่น นอกจากการให้ความสุขทางเพศ ยิ่งถูกตัดสินไปในเชิงลบ ในขณะที่ถุงยางอนามัยยังได้รับการยอมรับมากกว่า ทั้งที่มันเป็นอุปกรณ์ในเชิงเพศสัมพันธ์ แต่ว่าถูกนำไปพูดถึงเรื่องสุขภาพ การป้องกันโรค การคุมกำเนิด มันก็เลยทำให้ถุงยางอนามัยสามารถมีพื้นที่ในการพูดถึงมากกว่า พอพื้นฐานมุมมองทางเพศเป็นแบบนี้ เซ็กส์ทอยเลยกลายเป็นปีศาจ ที่เราต้องรีบขับไล่ เพราะทำให้ศีลธรรมอันดีเสื่อมเสีย ทำให้สังคมวุ่นวายเพราะคนสามารถมีความสุขทางเพศได้อย่างเสรี มันคือความหวาดกลัว” ดร.อันธิฌาอธิบาย

นอกจากนี้ ดร.อันธิฌายังมองว่า ความหวาดกลัวในเรื่องเพศทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องความสุขทางเพศน้อยมาก เนื่องจากไม่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยิ่งกว่านั้น คนที่มีพื้นที่ในการพูดหรือทดลองเรื่องเพศกลับเป็นผู้ชาย รวมทั้งแนวคิดที่ว่าผู้ชายควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ได้ ส่งผลให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการข่มขืนที่ว่า ผู้หญิงแต่งตัวโป๊หรือเที่ยวกลางคืน แล้วโดนข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้ชายควบคุมอารมณ์ทางเพศไม่ได้ ผู้หญิงเลยต้องระมัดระวังเอาเอง ทั้งที่ในความเป็นจริง ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศของตัวเองได้เหมือนกัน

เซ็กส์ทอยก็มีข้อดี
ในขณะที่หลายคนมองว่าเซ็กส์ทอยเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้เกิดอาชญากรรมทางเพศ แต่ที่จริงแล้ว เซ็กส์ทอยก็ยังมีข้อดีที่ควรนำมาพิจารณาเช่นกัน ซึ่ง ดร.เจษฎามองว่า เซ็กส์ทอยไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ แต่เป็นเหมือน “ของเล่น” ที่ทำให้กิจกรรมทางเพศสำหรับคนมีคู่ดำเนินไปได้ในรูปแบบที่มีสีสันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยคนโสดทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศทางเลือกอื่นๆ ด้วย

“เราไม่ได้พบว่ามีประเทศไหนที่คนใช้อุปกรณ์การช่วยเหลือทางเพศพวกนี้ แล้วอยากจะไปข่มขืนคนอื่นเพิ่ม การข่มขืนไม่ใช่การเอาอวัยวะเพศเทียมไปทำร้ายคนอื่น แต่เป็นการใช้ร่างกายตัวเองมากกว่า เพราะฉะนั้นมันไม่น่าจะไปกระตุ้นการข่มขืน มันน่าจะกลับกันด้วยซ้ำ ถ้าคุณมีอุปกรณ์ที่จะช่วยตัวเองได้ คุณก็สบายใจในการใช้อุปกรณ์กับตัวเอง แทนที่จะไปหาคนอื่น และยังช่วยลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เพราะเมื่อมีอุปกรณ์เหล่านี้ ผู้ชายก็ไม่ต้องไปซื้อบริการทางเพศ ผู้หญิงก็อาจจะไม่ต้องเสี่ยงกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน เครื่องมือพวกนี้มันช่วยเรื่องการตอบสนองความรู้สึกของตัวเองที่บ้านตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น โดยภาพรวมผมว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มากกว่าโทษ เพียงแต่ว่ารูปทรงมันไม่น่าจะตั้งโชว์ให้คนเห็นทั่วไป” ดร.เจษฎากล่าว

ถ้าเซ็กส์ทอยขายได้อย่างถูกกฎหมาย อะไรจะเกิดขึ้น
แม้ว่าในหลายประเทศจะมีการอนุญาตให้สามารถขายเซ็กส์ทอยได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีการจำกัดอายุของผู้ซื้อ รวมทั้งให้ร้านเซ็กส์ช็อปจดทะเบียนกับรัฐบาล ประเทศไทยกลับยังไม่มีวี่แววที่จะอนุญาตให้มีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งหากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย ศ.ณรงค์ก็แนะนำว่าการแก้กฎหมายนั้นจะต้องผ่านมติมหาชนก่อน เนื่องจากมาตรานี้เป็นความผิดที่คุ้มครองมาตรฐานทางศีลธรรมโดยเฉพาะ

“ก่อนจะแก้กฎหมาย เราต้องมาพูดคุยกันก่อนว่าคนไทยมีทัศนคติ มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอน เรื่องพวกนี้มีทั้งเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ถ้ามติมหาชนเห็นว่าอันนี้เปิดได้แล้ว น่าจะมีประโยชน์มากกว่า ก็แก้กฎหมาย คือต้องยกเลิกมาตรา 287 นี่แหละ แล้วระบุว่าต้องเป็นการจำหน่ายแก่บุคคลที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ถ้าผ่านตรงนี้ได้ มันจะออกมาในรูปแบบที่ว่าเราจะเป็นไปในแนวของตะวันตกไหม หรืออย่างไร” ศ.ณรงค์สรุป

นอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมาย ดร.อันธิฌา ก็ให้ความเห็นว่าสังคมไทยไม่ควรมองแต่บริบททางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องนี้ยังมีแง่มุมทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์กายภาพ และสิทธิมนุษยชน ที่ยังไม่ถูกพูดถึง นอกจากนี้ คนไทยรุ่นใหม่เองก็เริ่มมีมุมมองเรื่องเพศต่างจากคนรุ่นก่อน และมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น จึงเชื่อว่า หากมีการพูดคุยเกี่ยวกับเซ็กส์ทอยและเรื่องเพศมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้สังคมมีการเติบโต และเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐเองก็ควรทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องร่วมมือกับแพทย์ที่ทำงานด้านเพศสัมพันธ์ รวมทั้งภาคธุรกิจที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของสินค้าประเภทนี้ แล้วกำหนดเชิงนโยบาย โดยมีศูนย์กลางคือประชาชนในประเทศ ดังนั้น รัฐเองก็ต้องหาความรู้ เพื่อให้รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจะสามารถออกแบบมาตรการที่มันสอดคล้องกับความเป็นจริง

“ประเด็นเรื่องเซ็กส์ทอยมันเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศด้วย ถ้าเซ็กส์ทอยถูกพูดถึงมากขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้น มีการยอมรับมากขึ้น รวมไปถึงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย มันก็จะเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะมันจะไปสั่นคลอนความคิดความเชื่อเดิมๆ บางอย่าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความสุขทางเพศ ให้ความสุขทางเพศเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็มีได้ เข้าถึงได้ ไปซื้อได้ แล้วก็ไม่ได้จำกัดแค่เพศใดเพศหนึ่งด้วย อย่างน้อยๆ ถ้ามันยังไปไม่ถึงการสถาปนาคุณค่าใหม่ๆ แต่มันก็จะนำไปสู่การถกเถียง เรียนรู้ การถกเถียงก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้มองเห็นความเป็นจริง ข้อเท็จจริง หรือเหตุผลชุดอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน อันนี้จะทำให้สังคมเติบโตขึ้นได้” ดร.อันธิฌากล่าว

 

คนไทยบางส่วนคิดอย่างไร ถ้าจะขายเซ็กส์ทอยถูกกฎหมาย

นอกจากมุมมองทางวิชาการแล้ว Sanook! News ยังได้สำรวจมุมมองของคนทั่วไปเกี่ยวกับเซ็กส์ทอย ว่ามีอิทธิพลถึงขั้นทำลายศีลธรรมของสังคมหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมองว่าการใช้เซ็กส์ทอยเป็นเรื่องปกติ เป็นรสนิยมเฉพาะตัวของแต่ละคน และไม่คิดว่าจะทำให้สังคมเสื่อมเสียแต่อย่างใด

“เซ็กส์ทอยเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอาการโรคจิต ส่วนเซ็กส์ทอยที่ดูแฟนซีมากๆ มันก็เป็นแค่สิ่งของที่เพิ่มอรรถรส เหมือนการปรุงรสในอาหาร ถามว่าถ้าถูกกฎหมายแล้วสังคมจะเสื่อมไหม อันนี้คือตลกสุด เพราะการที่คนเราสามารถปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศได้ตามต้องการ ไม่ต้องเก็บกดไว้ โดยที่ไม่ไปละเมิดคนอื่น มันจะไปทำสังคมเสื่อมได้ไง การปกปิด เก็บกด อดกลั้นสิ่งที่ธรรมดามากๆ แบบนี้ไว้ แล้วหลอกตัวเองว่าการแสดงออกคือเลวทรามโรคจิต เป็นปัญหาสังคม อันนี้ต่างหากที่เสื่อม
(เจ้าของธุรกิจ, เพศชาย, วัย 31 ปี)

“เรามองว่าเซ็กส์ทอยไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยเติมเต็มความพึงพอใจ สำหรับพวกที่หารสนิยมทางเพศแบบใหม่ๆ หรืออาจจะไม่พร้อมมีเพศสัมพันธ์กับคนจริงๆ ก็ใช้อุปกรณ์พวกนี้มาช่วย เพราะถ้าเรื่องเพศคือเรื่องธรรมชาติ คนเราต้องมีการระบายออกกันบ้าง การมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้สะดวกและเพิ่มความน่าตื่นเต้น มันก็ไม่แปลก ส่วนทำให้สังคมเสื่อมไหม ไม่คิดว่าถึงขั้นนั้น เพราะในชีวิตจริง คนเราจะใช้เซ็กส์ทอยในที่ส่วนตัว มันไม่ได้เป็นตัวเร่งให้คนเกิดอารมณ์เลย”
(พนักงานบริษัทเอกชน, เพศชาย, วัย 30 ปี)

“การใช้เซ็กส์ทอยมันทำให้เราไม่ไปละเมิดคนอื่นเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ เพราะจำกัดอยู่แค่พื้นที่ส่วนตัว สำหรับการเปิดขายเซ็กส์ทอยอย่างถูกกฎหมาย เรามองว่าควรจะมีการทดลองก่อน เพราะถ้าบ้านเราไม่เคยมีขาย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสังคมมันจะเสื่อมจริงหรือเปล่า มันช่วยสังคมหรือเศรษฐกิจไหม ถ้าเอาเข้ามาแล้วทำให้อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ ก็ต้องลองเอาเข้ามาก่อน ถ้าไม่ดีภายใน 3 เดือน 6 เดือน ก็เอาออก ห้ามจำหน่ายเพราะทดลองแล้ว ทุกวันนี้ หลายเรื่องเราทำแค่โยนหินถามทาง พอโดนคนด่าก็เอานโยบายออก โดยที่ไม่ทดลองก่อน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าดีหรือไม่ดี และมันก็ต้องมีกฎกติกาในการใช้เซ็กส์ทอย ถ้ามีแล้วเอาไปละเมิดคนอื่นก็ไม่ได้ หรืออาจจะเขียนกฎหมายให้ขายได้เฉพาะออนไลน์ ไม่ต้องมีหน้าร้านก็ได้”
(พนักงานบริษัทเอกชน, เพศชาย, วัย 32 ปี)

“เซ็กส์ทอยเป็นวิธีบำบัดความใคร่อย่างหนึ่ง คนที่ไม่มีแฟน โสด แล้วอยากระบาย ก็ใช้เซ็กส์ทอยก็เป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ทางเพศ มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าอนุญาตให้ขายเซ็กส์ทอยอย่างถูกกฎหมาย คิดว่าไม่ทำให้สังคมเสื่อม เพราะทุกวันนี้ในประเทศไทย ที่ไม่ได้ขายเซ็กส์ทอย อาชญากรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศก็ยังมีอยู่ และไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ซื้อก็จะอยากซื้อ แต่คนที่อยากซื้อ เขาก็จะมีช่องทางที่จะไปซื้อแบบไม่ต้องหลบซ่อน แล้วก็คงไม่ทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูดขนาดนั้น เพราะคนที่ซื้อก็เฉพาะกลุ่ม
ถ้ามองบริบทสังคมไทย เรามักจะโลกสวย อะไรที่เห็นว่าไม่ดีก็จะซุกไว้ใต้พรม อย่างเรื่องเพศ เราถูกหลอกกันมาว่าไม่ควรเอามาเปิดเผยโจ่งแจ้ง เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนตื่นตัวเรื่องเซ็กส์ แต่ในมุมมองของเราไม่ได้คิดว่าเซ็กส์ทอยจะทำให้สังคมเสื่อมโทรมไปมากกว่านี้”
(พนักงานบริษัทเอกชน, เพศหญิง, วัย 27 ปี)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook