สาวควักเงินแสนบวงสรวงพญานาค หลังถูกหวยหลายงวดนับ 10 ล้าน
(10 มิ.ย.) กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งหลัง นางสาวกมลทิพย์ จาง อายุ 38 ปี ชาว อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ที่มีธุรกิจร่วมกับครอบครัว ทำเกี่ยวกับอัญมณี รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ และโรงงานกระเบื้อง โดยพื้นฐานมีความเชื่อศรัทธาในองค์พญานาคและพระพิฆเนศ เชื่อว่าทำให้มีโชคลาภทั้งธุรกิจเจริญรุ่งเรือง และยังได้โชคจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ติดต่อกันหลายงวดในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา รวมถึงงวดล่าสุดได้เงินรางวัลนับสิบล้านบาท จึงได้ควักเงินส่วนหนึ่งกว่า 5 แสนบาท มาร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำบุญบวงสรวง พญาศรีมุกดา มหามุนีนีลปานนาคราช
นางสาวกมลทิพย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนที่มีความเชื่อศรัทธาพญานาคมาแต่เด็ก เดิมหลังเรียนจบได้ดิ้นรนทำงาน เนื่องจากพื้นฐานครอบครัวค่อนข้างยากจน ชาวไร่ชาวนา แต่เดิมชอบบูชาพระพิฆเนศ และหลวงพ่อพญานาค เนื่องจากมีเรื่องที่แปลกเกิดจากความฝันหลายอย่าง ที่อธิบายยาก เพราะเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ และเป็นความเชื่อส่วนตัว แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือ ชีวิตครอบครัวก้าวหน้าต่อเนื่อง สามีชาวต่างชาติทำธุรกิจส่วนตัวก็ประสบความสำเร็จ หลังจากที่ไปกราบไหว้ขอพรพ่อปู่คำชะโนด
แต่ที่แปลกใจที่สุดคือ ช่วงหลังถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ได้จากความฝัน จนถูกติดต่อกันถึง 4-5 งวด รวมถึงงวดล่าสุดด้วย แต่ตนไม่ได้ส่งเสริมให้งมงายหรือเสี่ยงโชค ที่มาประกอบพิธีในครั้งนี้อยากสร้างความศรัทธาให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว ได้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และองค์พญานาค สำคัญที่สุดตนเชื่อว่าทุกคนที่ขอโชคลาภ จะต้องคิดดี ทำดีด้วย และต้องขยันสร้างฐานะตนเอง เพียงมีองค์พญานาคเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ตนได้ตั้งเป้าว่า จะร่วมสร้างรูปปั้นองค์พญานาค ตามที่ต่างๆ รวมถึงเดินสายทำบุญ ที่สำคัญนอกจากความเลื่อมใสศรัทธา ตนเชื่อว่าสิ่งที่ตามมาคือ ผลดีด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ตามมาอย่างแน่นอน
ด้าน อาจารย์ปื๊ด นายประพัฒน์ มะนิสสา อายุ 54 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี เจ้าของผลงานที่ทำการปั้นพญานาคองค์ ที่ชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ วัดพุทธนิมิต อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม รวมถึง พญานาคเผือกอุทยานบัว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร รวมถึงล่าสุด พญาศรีมุกดา มหามุนีนีลปานนาคราช เปิดเผยว่า ตนไม่ได้จับสถาปัตย์ หรืองานศิลปะ มาโดยตรง เป็นเพียงช่างเชื่อม และมีความชอบในงานปูนปั้น จนพัฒนาฝีมือมาต่อเนื่อง โดยงานของตนจะมีเอกลักษณ์คือ เน้นความเป็นศิลปะท้องถิ่นอีสาน บวกกับงามศิลปะประยุกต์ ที่มาจากความเชื่อ ความศรัทธาส่วนตัว ไม่มีการลอกเลียนหรือนำแบบมาจากที่อื่น จะคิดจากความเชื่อทั้งหมด
ที่สำคัญพญานาคทุกองค์ที่ปั้น จะเน้นความมีพลัง ความขลัง และความเป็นท้องถิ่น และจะต้องเกิดจากงานฝีมือทุกชิ้น เน้นความเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ ส่วนหนึ่งตนเป็นครูอาสาโรงเรียนกึ่งวิถี ร่วมกับ สำนักงานคุมประพฤติ จ.อุบลราชธานี ได้อาสานำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในความดูแลคุมประพฤติ มาฝึกศึกษางานศิลปะปูนปั้น เป็นลูกมือ เพื่อเป็นการสร้างสมาธิ ขัดกล่อมจิตใจ ให้นำสมาธิออกมาเป็นงานศิลปะ และปัจจุบันตนได้รับการติดต่อไปปั้นตามวัดสำคัญหลายแห่ง แต่ไม่ได้เน้นเป็นธุรกิจ หรือผลกำไร แต่ต้องการสร้างความศรัทธาต่อองค์พญานาค และนำความสามารถงานปูนปั้น ออกมาสู่สายตาสังคม เป็นการสืบสานงานศิลปะของไทย ให้สืบทอดต่อไป สำคัญที่สุดตนเชื่อว่างานปั้นพญานาค ไม่ใช่เพียงงานศิลปะ แต่เป็นการสร้างศูนย์รวมจิตใจ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ในท้องถิ่นได้ อนาคตกำลังหาปัจจัยสร้างศูนย์เรียนรู้ ที่ จ.อุบลราชธานี ให้เยาวชน หรือผู้สนใจศึกษางานปูนปั้น เป็นการสืบทอดงานศิลปะของท้องถิ่น ไม่ให้สูญหาย สอดแทรกความศรัทธา องค์พญานาค และทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วย