นักการเมืองบิ๊กเนมหวั่น "การเลือกตั้งอาจถูกแทรกแซง" หาก คสช. ลงเลือกตั้ง

นักการเมืองบิ๊กเนมหวั่น "การเลือกตั้งอาจถูกแทรกแซง" หาก คสช. ลงเลือกตั้ง

นักการเมืองบิ๊กเนมหวั่น "การเลือกตั้งอาจถูกแทรกแซง" หาก คสช. ลงเลือกตั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา หัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?” โดยเชิญนักการเมืองตัวแทนจาก 4 พรรคเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวที อันประกอบไปด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป

ช่วงหนึ่งของการเสวนา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องการที่จะให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประเทศที่เป็นวิถีประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีกับดักของประเทศที่ถูกวางไว้โดยผู้มีอำนาจ การที่จะกลับคืนสู่รูปแบบของประชาธิปไตยคือ รัฐธรรมนูญ คำสั่งของ คสช. และกระบวนการของการเลือกตั้งจะต้องสุจริตและเที่ยงธรรม เราจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยได้จริงๆ หรือไม่ เพราะมีการใช้มาตรา 44 ปลด กรรมการการเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่ง และผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นทุกวันว่าจะลงเล่นการเมืองด้วย

ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่นั่งอยู่อีก 250 คน ที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่จะมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งหมายความว่าจะมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยไม่ได้ยึดโยงและสามารถใช้อำนาจนั้นสวนทางกับประชาชน

พร้อมกันนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยว่า อย่ามองการเมืองเพียงด้านเดียว แต่ควรมองหลายด้านเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วนำมาพัฒนาร่วมกัน ซึ่งประชาธิปไตยไม่ควรเน้นผลลัพธ์ แต่ประชาธิปไตย คือคนจะได้รับการเคารพศักดิ์ศรี ซึ่งเมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องย้อนกลับไปสู่จุดเดิม อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นอุปสรรคสำคัญของนักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ก็สามารถแก้ไขได้หากประชาชนต้องการ และจะต้องมีกระบวนการของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

ฟากฝั่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่มีความพยายามที่จะสร้างความปรองดอง ซึ่งจุดนี้จะกลายเป็นกับดัก โดยกับดักนี้จะเป็นกับดักประเทศไทยที่จะมีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตยังไม่มีหลักประกันว่าจะมีการแก้ไขรวมถึงเงื่อนไขในการแก้ปัญหารัฐประหาร ขณะที่กติกาที่เขียนขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ จะนำพาประเทศไทยย้อนหลังไปร่วม 50 ปี แม้ว่าในห้วง 15 ปีที่ผ่านมา การเมืองในประเทศไทยมีการพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกพรรค

นายจาตุรนต์ ระบุด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ คสช. อาจเข้ามาแทรกแซงได้ ซึ่งหมายความว่าผลการเลือกตั้งอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ที่จะมีอายุอย่างน้อย 20 ปี จะกำหนดกติกาให้ คสช. สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ทำให้ประเทศไทยไม่มีการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และภาระเหล่านี้จะตกไปอยู่ที่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ทางด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มองว่า การทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นกับดักสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องก้าวข้ามกับดักโดยการทำให้ประชาชนยึดมั่นในระบบรัฐสภา ส่วนการเมืองคือการชนะทางความคิด แต่ปัจจัยที่ชี้ขาดอย่างแท้จริงคือประชาชน และจากนี้ไปจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชนว่า อนาคตที่ดีกว่า คือ การมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดฉันทามติร่วมกันในการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยอมรับว่า ส่วนตัวมีส่วนที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร ทั้งที่ไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งกับดักที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่นายไพบูลย์ อภิปราย บรรดานักศึกษาที่เข้าร่วมฟังการเสวนาต่างตะโกนโห่ด้วยความไม่พอใจ เพราะมองว่า นายไพบูลย์ เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ค. 57

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook