เหตุผลที่ว่าทำไมเดือนมิถุนายนถึงเป็นเดือนของชาวเพศหลากหลาย

เหตุผลที่ว่าทำไมเดือนมิถุนายนถึงเป็นเดือนของชาวเพศหลากหลาย

เหตุผลที่ว่าทำไมเดือนมิถุนายนถึงเป็นเดือนของชาวเพศหลากหลาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับในสังคมไทย หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเดือนมิถุนายนนั้นเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและแสดงจุดยืนของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในระดับสากล งานเฉลิมฉลองนี้จะจัดตลอดทั้งเดือน (เรียกสั้นๆ ว่า Pride Month) ภายในงานจะมีการเดินขบวนขนาดใหญ่สีสันสดใสที่มักจะจัดขึ้นในหลายประเทศตามเมืองหลวงใหญ่ๆ มีพิธีรำลึกถึงเหล่าชาวเพศหลากหลายที่ต้องสูญเสียชีวิตไปด้วยโรคเอดส์/เอชไอวี และอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ เช่น ปาร์ตี้ กิจกรรมเวิร์คชอป คอนเสิร์ต และงานสัมมนา เรียกได้ว่างานในเดือนมิถุนายนนี้เป็นงานที่ใหญ่ทีเดียว เพราะมันสะท้อนให้โลกได้เห็นถึงคุณค่าที่สมาชิกชาว LGBTQ+ ได้กระทำและมอบให้แก่สังคม ทั้งในระดับท้องที่  ระดับชาติ ไปจนถึงระดับโลก

เหล่าคนที่เข้าร่วมในงาน LGBTQ+ Pride ที่เม็กซิโก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2018AFPเหล่าคนที่เข้าร่วมในงาน LGBTQ+ Pride ที่เม็กซิโก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2018

ดูเผินๆ ในสายตาของคนนอก นี่อาจดูเหมือนงานเฉลิมฉลองที่เน้นในเรื่องของสีสันและความครื้นเครง ทว่าเรื่องนี้มีที่มาที่เราอยากชวนให้ทำความเข้าใจ เพราะจุดเริ่มต้นของงานนี้ไม่ใช่เรื่องที่อ่อนหวานประโลมโลกแต่อย่างใด แต่มันคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมโดยอำนาจรัฐและสังคมที่ต้องการทำให้การมีตัวตนของพวกเขาเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

จุดเริ่มต้นของการจัดงานสำหรับฉลองในเดือนมิถุนายน เกิดมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศกับเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เริ่มจากการปะทะกันเล็กน้อยก่อนจะบานปลายไปจนเกิดการจลาจลหลายวันที่เปลี่ยนโฉมหน้าการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้สังคมหันมาฟังพวกเขามากขึ้น

การปะทะที่ Stonewall Inn

จุดเริ่มต้นของงานเทศกาลดังกล่าวต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1969 ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน ช่วงเช้าตรู่ เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มาที่บาร์ Stonewall Inn ในกรีนวิช วิลเลจ นิวยอร์ก เพื่อรวมตัวกันปาร์ตี้และพูดคุยกันอย่างเช่นที่เคยทำกันเป็นประจำ (บาร์เกย์เป็นแหล่งรวมตัวที่ปลอดภัยที่สุดของชาวเพศหลากหลายในขณะนั้น เหตุเพราะเมืองนิวยอร์กมีกฎหมายที่ต่อต้านกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักร่วมเพศ บาร์เกย์ส่วนใหญ่จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ตำรวจมักจะเข้าตรวจค้น)

ผู้คนมารวมตัวกันด้านหน้า Stonewall Inn สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQ+ ที่อเมริกา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2017 เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิ์ของคนข้ามเพศและคนที่มีความลื่นไหลทางเพศAFPผู้คนมารวมตัวกันด้านหน้า Stonewall Inn สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQ+ ที่อเมริกา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2017 เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิ์ของคนข้ามเพศและคนที่มีความลื่นไหลทางเพศ

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า Stonewall Inn แอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 9 นายก็ได้บุกเข้าไปด้านใน ก่อนจะเข้าจับกลุ่มลูกจ้างของบาร์ในข้อหาแอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต และรวบตัวเหล่าลูกค้าก่อนจะเคลียร์บาร์ทั้งหมด การจับกุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามที่เกิดกับบาร์เกย์ในกรีนวิชวิลเลจ ภายในระยะเวลาสั้น ๆ

ทว่าครั้งนี้ทุกอย่างต่างออกไป เหล่าชาวเพศหลากหลายที่อยู่ในละแวกนั้นไม่ได้แตกฮือหรือล่าถอยไปอย่างที่เคยทำ ความโกรธของพวกเขาพุ่งขึ้นและถูกปล่อยออกมาด้วยเสียงอันดัง ขณะที่เฝ้ามองเหล่าลูกค้าในร้านที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตู้ของตำรวจ เกิดการปะทะและขว้างปาขวดและสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจต้องเข้าไปหลบฝูงชนภายในบาร์ ก่อนจะเรียกกำลังเสริม และปิดกั้นตัวเองจากคนกว่า 400 คยที่รวมตัวกันอยู่ด้านนอก อย่างไรก็ตาม มวลชนที่กรุ่นโกรธก็สามารถบุกทะลวงผ่านสิ่งกีดขวางไปได้ โรงแรมถูกจุดไฟเผา ทว่ากำลังเสริมของตำรวจมาถึงก่อนจึงดับไฟไว้ได้

เกิดการรวมตัวอย่างหลวมๆ ต่อไปอีกราว 5 วัน นักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่าการลุกฮือครั้งนี้ เป็นการลุกฮือที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดเพื่อต่อต้านการตามรังควานของเหล่าตำรวจและการเลือกปฏิบัติจากสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีเพศสภาพแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในช่วงปี 60 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ Stonewall Inn นี่เองที่ทำให้เหล่าคนชายขอบที่ถูกแบ่งแยกโดยเพศ ไม่ว่าจะเป็นเลสเบี้ยน เกย์ หรือแม้แต่คนข้ามเพศ เริ่มมองเห็นคุณค่าที่เกิดจากการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องบางสิ่งจากสังคมและรัฐ เกิดเป็นจุดเปลี่ยนต่อท่าทีในการเรียกร้องสิทธิ์ของขาว LGBTQ+ ในอเมริกา

ชาว LGBTQ+ เริ่มออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองอย่างขึงขังและแข็งกร้าวมากขึ้น จากเดิมที่มักจะทำกันอย่างสงบ ซึ่งไม่ได้ส่งผลทางการเมือง ในปี 1970 มีการจัดขบวนพาเหรด Pride อย่างที่เคยจัดทุกปี ทว่าในปีนี้ได้เพิ่มการรำลึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ Stonewall Inn เข้าไปด้วย กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อเรื่องกระแสในการออกนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และช่วยให้สังคมได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในสังคมที่มีความสำคัญกลุ่มนี้ จนกระทั่งเมื่อปี 1999 กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐออกมาประกาศให้ Stonewall Inn เป็นหนึ่งในสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และเมื่อปี 2016 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กำหนดให้ Stonewall Inn และพื้นที่รอบข้างส่วนหนึ่งเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ของชาติ

งานเฉลิมฉลองในเดือนมิถุนายนของชาวเพศหลากหลายที่ฉากหน้าดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เบื้องหลังกลับมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของการเมืองและนโยบาย รวมถึงสิทธิ์มนุษยชนอย่างไม่อาจแยกได้ งานนี้จึงเป็นงานที่มีความหมาย สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้อย่างยาวนานของชนกลุ่มน้อยที่ถูกแบ่งแยกโดยเพศและสังคม

สังคมไทยกับการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ประวัติศาสตร์การเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมของอเมริกาโดยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องของการต่อสู้ที่เข้มข้นและมีความรุนแรง ทว่าสำหรับกรณีของสังคมไทย ชานันท์ ยอดหงษ์ นักวิชาการอิสระได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เริ่มแรก มีการรวมตัวของคนกลุ่มนี้เช่นกัน ทว่าเป็นการรวมตัวอย่างเป็นระบบ จะอยู่ในรูปของกลุ่ม NGO ที่มุ่งเน้นในประเด็นเรื่องโรคเอดส์และเอชไอวี ทว่าไม่ได้พูดถึงสิทธิ์อย่างชัดเจนเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐบาลในสมัยนั้นจะมอบเงินสนับสนุนให้กับเฉพาะกลุ่มทำงานที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาวะและโรคติดต่อ

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่อยู่ในความสนใจสังคม ข้อแตกต่างในเรื่องของบริบทอีกประการที่ชานันท์ให้ข้อมูลเพิ่ม นั่นก็คือ ประเด็นเรื่องความรุนแรงอันนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มเพศหลากหลายในโลกตะวันตก ซึ่งการที่สังคมเพศหลากหลายในไทยขาดประสบการณ์ร่วมแบบเดียวกัน ก่อให้เกิดความแตกต่างในเรื่องของระบบความคิด “NGO ที่ทำงานด้านนี้ มักจะมีมุมมองว่าการเมืองกับ LGBTQ+ เป็นคนละเรื่องกัน อย่างบางกลุ่มอาจจะเลือกขับเคลื่อนประเด็นเรื่องของตัวเอง แต่ไม่ได้สนับสนุนในเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงกัน ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องเพศไม่ทรงพลังเพราะคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในหลายๆ องค์กรไม่เข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนเพียงพอ” ในทัศนะของชานันท์ ความไม่เข้าใจนี้ถูกสะท้อนออกมาผ่านการจัดงานเกย์ Pride พาเหรดครั้งแรกของไทยเมื่อปี 1999 ที่เป็นการจัดในเชิงการท่องเที่ยวและความบันเทิง เพราะจัดวันฮาโลวีน ต่างจากในโลกตะวันตกที่มีการเน้นในเรื่องของสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไป

เหล่าชาวเพศหลากหลายที่แต่งตัวมาในชุดแฟนซีในงาน Gay parade ที่กรุงเทพฯ 5 พฤศจิกายน 2006AFPเหล่าชาวเพศหลากหลายที่แต่งตัวมาในชุดแฟนซีในงาน Gay parade ที่กรุงเทพฯ 5 พฤศจิกายน 2006

กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีความพยายามที่จะเข้าใจในเรื่องดังกล่าวของรัฐ เห็นได้จากการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหลักการยอกยาการ์ตา ซึ่งถูกร่างขึ้นที่อินโดนีเซีย หลักการดังกล่าวมีข้อผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ภายใต้สนธิสัญญาและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง ตั้งแต่หลังปี 2002 เป็นต้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องสิทธิของชาวเพศหลากหลาย โดยมีหน้าที่ตรวจสอบกรณีร้องเรียนส่วนบุคคลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ มีการแจกหลักการยอกยาการ์ตาให้กับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สามารถที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้ เห็นได้จากกรณีการร้องเรียนที่หลายครั้งไม่ถูกบันทึกไว้ เนื่องจากผู้ที่โดนกระทำมักจะอยากจัดการเรื่องอย่างเงียบๆ ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลได้ ประกอบกับการที่คณะอนุกรรมการไม่มีทรัพยากรและบุคคลทำงานที่เพียงพอ ทำให้ไม่พร้อมสำหรับการจัดการกับกรณีที่เกิดการร้องเรียนจำนวนมาก

แม้ความก้าวหน้าของสังคม ส่งผลให้เกิดกลุ่ม NGO ที่มีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่อยู่ในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ชานันท์คิดว่าเหตุนั้นน่าจะมาจากเรื่องของระบบอุปถัมภ์ที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านานกับท่าทีในการเรียกร้องสิทธิ์ที่ขาดความขึงขัง “การเรียกร้องสิทธิ์ของไทยมักจะอยู่ในรูปของการวิงวอน ขอความเห็นใจ เน้นในเรื่องการที่เกิดมาผิดปกติ ขอมีที่ยืนในสังคม ไม่ได้เน้นในเรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์” ชานันท์กล่าวต่อ แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ด้วยปัจจัยภายนอกและระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นของไทย ทำให้แนวคิดแบบเสรีนิยมเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือการที่กลุ่มนักการเมืองเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของ LGBTQ+ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสังคม ก่อให้เกิดการสนับสนุนเรื่องของความหลากหลายทางเพศมากขึ้นในพื้นที่ของรัฐ จากที่ผ่านมาจำกัดอยู่เฉพาะในการเมืองภาคประชาชน

ปัจจุบัน เป็นเรื่องจริงที่ชาวเพศหลากหลายมีพื้นที่ในสื่อมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นในสื่อทางเลือกหรือสื่อกระแสหลัก แต่ทว่าหากพูดถึงเรื่องสิทธิ์ในทางกฎหมายแล้ว ประเทศไทยถือว่ายังล่าช้าอยู่มาก แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในด้านดี นั่นก็คือการพัฒนาในเรื่องของแนวคิดเรื่องสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์และตัวตน หลายคนเริ่มมองเห็นว่าตัวเองกำลังถูกลิดรอนสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นจากการออกนโยบายที่ไม่ครอบคลุมเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการไม่ให้สิทธิ์ในการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน พวกเขาเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับสังคมขนาดใหญ่ มีกลุ่มทำงานหลายกลุ่มที่เน้นในเรื่องของเรื่องสิทธิ์และต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคสังคม เช่น กลุ่มอัญจารีและกลุ่มสะพาน นี่เองอาจเป็นจุดเปลี่ยน และในอนาคตอันใกล้ เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องของสิทธิ์ไม่ควรจะเป็นเรื่องของใครของมัน เราอาจได้เห็นนโยบายที่เกิดจากการผลักดันร่วมกันระหว่างชาวเพศหลากหลายกับชายหญิงทั่วไป เพราะที่สุดแล้ว สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนต่างมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook