คู่มือเอาตัวรอดเมื่อหลงทางในถ้ำลึกและขั้นตอนการดูแลผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง

คู่มือเอาตัวรอดเมื่อหลงทางในถ้ำลึกและขั้นตอนการดูแลผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง

คู่มือเอาตัวรอดเมื่อหลงทางในถ้ำลึกและขั้นตอนการดูแลผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็นที่สังคมต่างให้ความสนใจและเอาใจช่วยที่สุดในวินาทีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของเด็กและโค้ช 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าช่วยเหลือ แม้จะเจอกับปัญหาในเรื่องของความยากลำบากจากระดับน้ำที่ท่วมสูงและสภาพภูมิประเทศภายในของถ้ำที่ไม่เอื้อต่อการสำรวจ

ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่การหลงทางขณะที่เดินทางในป่าลึกหรือถ้ำลึกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะกับใครก็ตาม การเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งต่อความรู้ให้กับทุกคนในสังคม

สำหรับในกรณีของเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงซึ่งถือว่าเป็นอุบัติภัยอย่างหนึ่งที่สามารถป้องกันได้ น.สพ. ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) หนึ่งในทีมสาธารณสุขที่เตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอุทยานไว้คร่าวๆ ดังนี้

วิธีการเตรียมตัวและรับมือกรณีที่เกิดหลงอยู่ในถ้ำลึกที่มีทางเดินคดเคี้ยว

  1. เตรียมตัวให้พร้อมหากรู้ตัวว่าต้องเข้าไปสำรวจในถ้ำ
    การสำรวจในถ้ำเป็นเรื่องที่อันตราย แต่เราสามารถลดความเสี่ยงนั้นได้ด้วยการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมือใหม่ที่ไม่ชินกับการท่องเที่ยวเชิงสมบุกสมบัน ก่อนที่จะเข้าถ้ำควรมีการศึกษาข้อมูลก่อน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับพื้นที่และสภาพอากาศซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถหาดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุทยาน อีกทั้ง ภายในแต่ละพื้นที่จะมีการทำป้ายบอกข้อมูล โดยเฉพาะป้ายเตือนต่างๆ และยังมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่จะคอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ก่อนให้เข้าใจ อย่าเข้าถ้ำไปโดยลำพังโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ และอย่าเข้าสำรวจถ้ำเพียงคนเดียว เตรียมเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่หนาและอุ่นติดตัวไปด้วย และผ้านั้นต้องไม่ใช่ผ้าฝ้าย แต่ควรจะเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์

    สำคัญมากที่เสื้อผ้าและผ้าห่มที่เอาติดตัวเข้าไปจะต้องเป็นผ้าที่ทำมาจากใยสังเคราะห์ การใส่เสื้อที่ทำจากผ้าฝ้ายในถ้ำจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ผ้าฝ้ายจริงๆ ให้ใช้ฝ้าฝ้ายคลุมทับเสื้อในที่เป็นผ้าใยสังเคราะห์อีกทีหนึ่ง ป้องกันไม่ให้ผ้าฝ้ายที่เปียกสัมผัสกับผิวหนัง นอกจากนั้น ตรวจดูให้แน่ใจด้วยว่าไฟฉายและอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ สามารถใช้การได้ดี (ควรเตรียมแบตสำรองหรือถ่านติดตัวไปด้วย) ขั้นตอนการเตรียมตัวถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ห้ามละเลยเด็ดขาด

  2. ทำสัญลักษณ์ตามทาง
    ถ้ำบางแห่งจะมีทางเดินที่คดเคี้ยวและซับซ้อน พยายามตรวจดูรอบข้างให้ดีและทำสัญลักษณ์ไว้ตามแต่ละจุด โดยเฉพาะทุกครั้งที่เจอทางแยก อาจจะใช้หินเป็นตัวชี้ทางว่าทางไหนเป็นทางที่เดินเข้ามา หรือไม่อาจทำรอยบนพื้นถ้ำ ทิ้งโน้ตเล็กๆ ไว้ หรือแม้แต่ใช้เชือกผูกเป็นสัญลักษณ์ที่จะพาไปสู่ทางออก

  3. ตั้งสติ
    ถ้ารู้ตัวว่ากำลังหลงทางหรือบาดเจ็บ พยายามประมวลผลในหัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหาทางออกให้ตัวเอง เนื่องจากอากาศภายในค่อนข้างเบาบาง ไม่ใช่สถานที่ที่คนสามารถอาศัยอยู่ได้ อีกทั้งยังมีกลิ่นจากสารแอมโมเนียในมูลของค้างคาว เชื้อรา และก๊าซซัลเฟอร์ เพราะฉะนั้นอย่าตื่นตระหนกหรือตกใจเพราะจะเป็นการใช้ออกซิเจนอย่างสิ้นเปลือง

  4. ถ้ากรณีเข้าไปกันเป็นกลุ่ม พยายามอย่าแยกกัน
    การอยู่รวมกันจะปลอดภัยกว่า ถ้าในถ้ำมืดมาก พยายามจับมือกันไว้ขณะเดินเพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเกิดหลงจากกลุ่ม

  5. พยายามทำตัวให้อุ่นและแห้ง
    ถ้ำส่วนใหญ่จะมีอากาศเย็น ทำให้เสี่ยงที่ร่างกายจะเกิดภาวะ Hypothermia หรือภาวะตัวเย็นเกินซึ่งอันตรายมาก ควรเตรียมเสื้อผ้าสำรองและถุงพลาสติกไปเผื่อด้วย หรืออาจเตรียมเอาเอาถุงพลาสติกดำขนาดใหญ่ไปด้วยเพื่อใช้ห่มตัว การทำแบบนี้จะช่วยให้ร่างกายรักษาความร้อนเอาไว้ได้

    หากจำเป็นที่จะต้องลุยหรือว่ายน้ำ ถอดเสื้อผ้าให้หมดแล้วใส่ถุงพลาสติกไว้เพื่อกันไม่ให้เปียก หลังจากที่ขึ้นจากน้ำและตัวแห้งแล้วจึงค่อยสวมใส่เสื้อผ้า ถ้าไม่มีเสื้อผ้าให้เปลี่ยน พยายามบิดและสะบัดน้ำออกให้ได้มากที่สุด เกาะกลุ่มกันเข้าไว้เพื่อความอบอุ่นและพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นเย็นๆ พยายามเดินต่อไปเรื่อยๆ หากว่ารู้สึกหนาว แต่อย่าให้เหนื่อยจนเหงื่อออก

  6. แบ่งสัดส่วนของอาหารและน้ำดื่มให้ดี
    หากในกรณีที่ต้องติดอยู่ในถ้ำนานกว่าที่คิดเอาไว้ เนื่องมาจากถ้ำถล่มหรือน้ำท่วม จัดสรรสัดส่วนของอาหารและน้ำดื่มสำหรับแต่ละคนไว้เพื่อให้สามารถใช้ได้นานที่สุด พยายามดูแลให้ร่างกายไม่ให้ขาดน้ำถึงแม้ว่าจะไม่รู้สึกกระหายก็ตาม

  7. รักษาแสงไฟนำทางไว้ให้ดี
    เวลาที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอย่าเปิดไฟทิ้งไว้ และพยายามใช้ไฟฉายแค่ทีละด้าม หากกรณีที่เข้าไปเป็นกลุ่ม พยายามตั้งแถวให้ทุกคนสามารถเดินเรียงตามคนข้างหน้าไปได้โดยไม่หลง (อาจใช้วิธีเดินจับมือกัน) ให้คนที่ถือไฟฉายเป็นคนเดินนำคนที่เหลือ

  8. อยู่เฉยๆ หากไม่มีไฟฉายนำทาง
    นอกเสียจากว่าตัวคุณแน่ใจแล้วว่าไม่น่าจะมีความช่วยเหลือมาถึงในเร็ววัน อย่าได้เดินไปไหนเด็ดขาด ถ้ำเป็นสถานที่ที่มีอันตรายซ่อนอยู่ทุกมุม การประสบอุบัติเหตุเพิ่มจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

    ถ้าต้องเดินสำรวจโดยไม่มีไฟฉาย พยายามเคลื่อนตัวด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด ในกรณีนี้ การคลานลงกับพื้นอาจเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการเดินธรรมดา

ขั้นตอนการดูแลผู้ประสบภัยหลังจากที่ออกมาจากถ้ำ

ในกรณีของถ้ำหลวงซึ่งผู้ประสบภัยติดอยู่ด้านในเป็นเวลานาน การช่วยเหลือไม่ได้จบอยู่แค่การค้นพบผู้ประสบภัย แต่ยังมีขั้นตอนอย่างอื่นอีกที่สำคัญเป็นอย่างมาก อย่างแรกเลยคือการประเมินสิ่งแวดล้อมภายในถ้ำกับระยะเวลาที่ติดอยู่ด้านใน

“การจัดการดูแลคนที่หลงอยู่ในถ้ำ ใช้วิธีดูแลคล้ายกับการดูแลคนที่กลับมาจากต่างดาว เพราะระบบนิเวศในถ้ำนั้นต่างจากข้างนอกมาก ผู้ประสบภัยที่ออกมาแล้วจะต้องผ่านระบบการคัดกรองโรค ตรวจเลือด เฝ้าระวังโรค ตรวจน้ำลาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ ตรวจปอด และอื่นๆ ไม่ใช่ว่าออกมาแล้วจะสามารถกลับบ้านเลยได้” น.สพ. ภัทรพล มณีอ่อน กล่าว ก่อนจะเสริมว่า ตัวของผู้ประสบภัยเอง หลังจากออกมาแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน อย่างหน้ากากอนามัยและแว่นตาต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษอย่างน้อย 7 วัน เพื่อประเมินสุขภาพและป้องกันไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาสัมผัสตัวผู้ประสบเหตุและผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ

นี่คือมาตรฐานสากลที่สังคมอาจจะยังไม่รู้จักดีนัก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายสามารถทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้โดยไม่เจอกับอุปสรรค และพร้อมสำหรับการรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ คู่มือเอาตัวรอดเมื่อหลงทางในถ้ำลึกและขั้นตอนการดูแลผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook