เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ชาวไร่สับปะรด สุดช้ำราคาตก ซ้ำยังถูกช้างป่าบุกยึดพื้นที่
วันที่ 26 มิ.ย.61 เวลา 12.00 น. นางอรัญญา ฟุ้งไพศาลพงศ์ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 269 ม.6 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรชาวไร่สับปะรดจำนวนกว่า 40 ไร่ ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากราคาสับปะรดตกต่ำ จนต้องปล่อยทิ้งให้ผลผลิตเน่าเสียหายคาไร่
กล่าวถึงความเดือดร้อนว่า ตนเองได้ปลูกสับปะรดสลับอยู่ในช่องว่างของสวนยางพาราที่ยังอยู่ระหว่างรอการเจริญเติบโต โดยลงทุนไปถึงกว่า 3 แสนบาท เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วสับปะรดราคาดี
ต่อมาในปีนี้สับปะรดกลับมีราคาตกต่ำทางโรงงานไม่รับซื้อ จึงทำให้เหลือเพียงราคา กก.ละ 2.50 บาท และยังไม่มีใครเข้ามารับซื้อหรือช่วยเหลือเกษตรกร จึงทำให้สับปะรดเน่าเสียหายคาต้นไปเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ทางจังหวัดที่เคยเข้ามาให้การช่วยเหลือทำได้เพียงให้นำสับปะรดออกไปวางจำหน่ายตามปั้มน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถที่จะระบายสับปะรดที่มีอยู่ในปริมาณมากได้ทัน จึงทำให้เกิดการเน่าเสียคาไร่อยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ในการขนสับปะรดออกจากไร่ไปวางขายตามปั้มน้ำมันนั้น จะต้องปลอกเปลือกให้แก่ลูกค้าด้วยจึงจะขายได้ ซึ่งต้องใช้เวลาและปลอกไม่ทัน เนื่องจากไม่มีคนงานช่วยปลอก หากไม่ปลอกให้ก็จะไม่มีคนซื้อ
และหากสับปะรดเหลือคาอยู่บนรถจำนวนมากและไม่อยากขนกลับในช่วงเย็น จะลดราคาขายให้ต่ำลงมาหรือแจกแถมให้แก่ลูกค้า ก็ยังมีปัญหากันเองระหว่างเกษตรกรที่นำสับปะรดมาวางขายด้วยกันจำนวนหลายราย เพราะจะถูกมองว่าขายตัดราคากันเอง จึงทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่อยากที่จะขนสับปะรดออกไปวางขาย
โดยอยากให้ทางรัฐบาลช่วยหาทางเยียวยาหรือมีมาตรการในรับซื้อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ให้ตามหน่วยงานต่างๆ นั้นมาช่วยรับซื้อจากเกษตรกรไปบริโภค หรือให้ตามโรงประกอบเลี้ยงของหน่วยทหารมาช่วยรับซื้อ จึงน่าจะช่วยลดความเสียของผลผลิตในไร่เกษตรกรลงได้บ้าง นางอรัญญา กล่าว
นอกจากเกษตรกรชาวไร่ในเขต ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จะได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว)
ที่หนีออกจากป่าเข้ามาหากินไกลในไร่ของชาวบ้านถึงกว่า 50 กม. โดยได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ภายในสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ลาดกระทิง ที่อยู่ใกล้เคียงกันมีเนื้อที่ปลูกป่าอยู่กว่า 2 หมื่นไร่
และในเวลากลางคืนก็จะพากันออกจากสวนป่าเข้ามาทำลายพืชสวนเกษตรของชาวบ้าน จนได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งไร่สับปะรด ไร่มันสำปะหลัง สวนมังคุด สวนกล้วย สวนมะพร้าว และรื้อถอนต้นยางพาราจนพังราบเสียหายไปหมด
โดยช้างป่าโขลงนี้ได้แอบหนีออกมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้นานถึงเกือบ 3 ปีแล้ว จำนวนกว่า 20 ตัว อีกทั้งยังมีการออกลูกออกหลานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
ที่ผ่านมาเคยแจ้งไปยังทางเจ้าหน้าที่อนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายครั้งแล้ว แต่กลับได้รับคำตอบว่าให้ทำใจ และให้ชาวบ้านปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันให้ได้
จึงทำให้พื้นที่สวนเวลานี้คล้ายกันกับสวนสัตว์เปิด ที่ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับช้างป่าโขลงนี้ และต้องคอยระมัดระวังตัวกันเอาเองเวลาออกไปทำสวนทำไร่
เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากช้างป่า ที่ในบางครั้งถึงกับเข้ามากินนอนอยู่ภายในสวนในไร่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะช่วงฤดูผลผลิตกำลังออกผล นางอรัญญา กล่าว
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ