เจาะหลักการทำงานกู้ภัยและรับมือสื่อมวลชน กรณี 13 ชีวิตติด “ถ้ำหลวง”

เจาะหลักการทำงานกู้ภัยและรับมือสื่อมวลชน กรณี 13 ชีวิตติด “ถ้ำหลวง”

เจาะหลักการทำงานกู้ภัยและรับมือสื่อมวลชน กรณี 13 ชีวิตติด “ถ้ำหลวง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช “ทีมหมูป่าอะคาเดมี” ที่ติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทยอย่างมาก เพราะนอกจากจะลุ้นระทึกไปกับปฏิบัติการช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต แล้ว ยังมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นและกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล หนึ่งในนั้นก็คือพฤติกรรมของสื่อมวลชน ทั้งการตั้งคำถามสัมภาษณ์ที่ไม่ให้เกียรติญาติของผู้ประสบเหตุ ไปจนถึงการเกาะติดสถานการณ์เพื่อให้ได้นำเสนอข่าวรวดเร็วก่อนใคร แต่กลับกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

>> รวมพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ตลอดการช่วย 13 ชีวิตติด "ถ้ำหลวง"

ที่จริงแล้วสื่อมีขอบเขตในการทำงานแค่ไหน Sanook! News ขอเชิญคุณมาพิจารณากัน จากหลักการในการปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัย พร้อมข้อมูลจากนักวิชาการ อ.นิธิพนธ์ น้อยเผ่า อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติและบรรเทาสาธารณภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

หลักการทั่วไปของการกู้ภัยมีอะไรบ้าง
การกู้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัย ที่เริ่มด้วยการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง แล้วก็มีการฝึกซ้อมตลอดเวลาว่าถ้าเกิดเหตุจะปฏิบัติการอย่างไร เมื่อเหตุเกิดขึ้น เรียกว่าช่วงเผชิญเหตุ ก็จะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ แล้วก็มีหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่บรรจุไว้ในแผน ที่อาจจะเคยซ้อมด้วยกัน หรือว่าเคยได้มีการติดต่อประสานงานมาก่อนเข้ามาร่วมดำเนินการ จากนั้น ก็จะมีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แล้วก็จะมีการฟื้นฟูเหตุการณ์ที่มีผลกระทบนั้นให้กลับสู่ภาวะปกติ

ในส่วนของการกู้ภัย เมื่อมีผู้ประสบเหตุ ถ้ามีการวางแผนไว้แล้ว ก็ปฏิบัติตามแผนไป มีการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำหนดไว้ในแผน หรือฝึกซ้อมไว้แล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีถ้ำหลวง เข้าใจว่าอาจจะเป็นเหตุที่อยู่นอกเหนือแผน ก็จะมีการประเมินสถานการณ์แล้วก็เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา แต่โดยปกติแล้ว จะมีหน่วยงานที่เรียกว่า “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ดูแลภาพรวมทั้งประเทศ โดยระดับกรมก็จะดูแลเขตภัยพิบัติใหญ่ๆ ระดับเขตก็จะดูแลภัยพิบัติที่มีผลกระทบหลายจังหวัด เช่น น้ำท่วม และระดับจังหวัด ก็จะมี ปภ. จังหวัด ซึ่งจะมีคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรณีนี้จะเห็นเลยว่าผู้ที่สั่งการก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเป็นเหตุที่ไม่ได้มีผลกระทบกว้างขวาง

เมื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ผมคิดว่าปฏิบัติการแรกที่ต้องสถาปนาขึ้นมาก็คือช่องทางการสื่อสาร ในกรณีนี้ ในถ้ำจะมีปัญหาอย่างมาก ความช่วยเหลือจะค่อนข้างลำบากและมีความเสี่ยงสูงสำหรับผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน การขาดการสื่อสารก็อาจจะทำให้หน่วยกู้ภัยกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง เพราะสถานการณ์มีความล่อแหลม

ผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ จะต้องเป็นใครบ้าง
อย่างที่บอกว่าเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เขาก็จะมี ปภ.จังหวัด ดูแลอยู่ แล้วก็จะมีหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ อย่าง อบจ. ก็จะมีหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปตั้งแต่วันแรก หรือว่า อบต. หรือเทศบาลตำบลที่มีความพร้อม แต่กรณีนี้เป็นเคสที่ต้องดำน้ำ ก็ต้องมีหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เขาก็อาจจะร้องขอว่าจังหวัดอื่นหรือหน่วยงานใกล้เคียงมีใครที่มีความพร้อมบ้าง พอเข้าไปก็มีปัญหาเรื่องความขุ่นของน้ำ ก็เลยร้องขอหน่วยงานที่เป็นทหาร ซึ่งสามารถสนับสนุนได้เต็มที่ในเรื่องของกำลังคน โดยเฉพาะหน่วยซีลหรือหน่วยประดาน้ำ ตอนนี้ทหารน่าจะเป็นหน่วยงานใหญ่

ตอนหลังๆ ก็จะมีเรื่องไฟฟ้า เพราะเขามองเรื่องการสูบน้ำออกจากถ้ำ ซึ่งข้อจำกัดก็คือ ในถ้ำไม่สามารถเอาปั๊มน้ำแบบเครื่องยนต์เข้าไปได้ เนื่องจากมีเรื่องของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าเกิดเอาไปติดเครื่องในนั้น อาจจะมีปัญหาเรื่องอากาศหายใจ ก็อาจจะต้องเสียเวลาเดินสายไฟกันน้ำ แล้วใช้ปั๊มน้ำที่เป็นไฟฟ้า เพราะฉะนั้น หน่วยงานการไฟฟ้า ก็เริ่มเข้ามา แล้วตอนนี้มีกรมทรัพยากรธรณี ที่พยายามหาช่องทางอื่นที่เข้าไป เพราะโถงถ้ำมีปัญหา มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ และลักษณะของถ้ำนี้ไม่เหมือนถ้ำอื่น คือไม่ได้มีแต่หินปูน แต่มีหินตะกอนร่วน หรือหินตะกอนเม็ด ที่เวลาผุแล้วจะมีโคลน มีทราย ถ้าน้ำมาก็ค่อนข้างขุ่น ก็จะทำให้การเข้าไปในถ้ำทางตรงลำบาก ยิ่งตอนนี้มีฝนตกอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้การเข้าช่องทางปกติค่อนข้างลำบาก กรมทรัพยากรธรณีก็มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจถ้ำ แปลความหมายจากภาพถ่ายดาวเทียมได้เลยว่าจุดไหนที่น่าจะเป็นจุดที่ทะลุเข้าไปถึงโถงถ้ำหลัก และพยายามส่งคนเข้าไปดูหลายๆ จุด แต่มีข้อจำกัดคือเราไม่ทราบว่ารูไหนที่จะเข้าไปถึงโถงหลักที่เราคาดหมายไว้ว่าเด็กอยู่ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็จะดูแลเรื่องน้ำ เพราะตอนนี้ปัญหาคือน้ำที่มันเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรให้น้ำลดระดับ เขาก็จะศึกษาเรื่องน้ำใต้ดิน ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญดูว่าจะจัดการอย่างไรให้น้ำลดระดับลง มีการสูบออกทางด้านนอก

ในส่วนอาสาสมัคร นอกจากการกู้ภัย ก็ต้องเข้าไปแล้วยืนยันได้ว่าผู้ประสบภัยอยู่ตรงไหน มีสภาพร่างกายอย่างไร ส่วนสำคัญต่อมาก็คือการกู้ชีพ เพราะทุกนาทีมีค่า ผู้ประสบภัยจะมีสุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ เพราะขาดอาหาร อีกส่วนหนึ่งก็คือหน่วยงานกู้ชีพในกรณีฉุกเฉิน เพราะเมื่อไรที่พบตัวผู้ประสบภัย จำเป็นต้องมีการปฐมพยาบาล หน่วยนี้ก็จะมีบทบาท ตอนนี้อาจจะยังไม่ทำอะไร แต่คือการเตรียมพร้อม แม้แต่ทางด้านสุขภาพจิต พ่อแม่ของผู้ประสบภัยก็วิตกกังวล ก็มีหมอหรือพยาบาลไปดูแล เหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่จริงๆ แล้วเป็นหลักการในการบรรเทาทุกข์อย่างหนึ่ง เรียกว่า “การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย” ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือการสงเคราะห์ญาติผู้ประสบภัย ญาติก็คือผู้ประสบภัย ถึงเขาจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่ก็อาจจะต้องช่วยในทิศทางอื่น

เนื่องจากกรณีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน โดยทั่วไปแล้ว จะมีแนวทางในการจัดการสื่อมวลชนอย่างไร เพื่อไม่ให้เข้าไปรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่สามารถสื่อสารข่าวคราวความคืบหน้าได้อย่างถูกต้อง
ปกติจะมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ แน่นอนครั้งนี้ต้องมี และน่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ให้ข้อมูลโดยการแถลงข่าว โดยหลักการแล้วจะต้องมี Press Conference เป็นระยะ คือผู้ที่อยู่ในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ต้องออกมาแถลงว่าตอนนี้มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง อันนี้น่าจะดีที่สุด เพราะเราได้ข้อมูลที่ลึกที่สุด และถูกต้องที่สุด ในสถานการณ์ที่อัพเดตที่สุด จากผู้ที่ทราบสถานการณ์ทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงาน เพราะศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ต้องมีคนคอยดูแลประสานงานทุกๆ หน่วยงาน ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะมี Press Center ตั้งอยู่ตรงนั้น แล้วมีการแถลงข่าวเป็นระยะๆ ก็จะได้ข้อมูลที่ดีที่สุด

สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจเหตุการณ์นี้ ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
ประชาชนที่อยู่รอบนอก ต้องระวังเรื่องการเสพข่าว บางทีเรามือไว แชร์ผิดแชร์ถูกบ้าง แล้วตอนนี้มันมีข้อมูลจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ผมว่าจุดที่ช่วยได้เยอะที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่รอบนอก คือการติดตามข่าวอย่างเงียบๆ แล้วก็พยายามส่งข่าวต่อให้น้อย ถ้าเราไม่อยู่ในจุดที่ได้รับข่าวสารโดยตรงจากศูนย์บัญชาการ หรือจากการแถลงข่าวโดยตรง อย่างกรมทรัพยากรธรณีที่มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับรูปแบบของพื้นที่ อันนั้นคือเป็นข่าวที่ได้จากหน่วยงานโดยตรง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ

การที่คนบางกลุ่มอยากจะเข้าไปในพื้นที่ โดยอ้างว่าจะเข้าไปให้กำลังใจผู้ที่ปฏิบัติงาน อันนี้เป็นเรื่องจำเป็นหรือเปล่า
ต้องดูเรื่องกายภาพของพื้นที่ก่อน เพราะว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่ว่ามีถนน 4 เลน เข้าไป หรืออยู่ติดริมถนน มีลานจอดรถขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องการจราจรเป็นอันดับหนึ่ง อย่างที่สองคือจะมีการปล่อยน้ำออกมาหน้าถ้ำ ทำให้เฉอะแฉะ คือเดิมมันก็ลำบากอยู่แล้ว การที่มีคนเยอะๆ รถเยอะๆ เข้าไป ยิ่งลำบาก การให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานอาจจะทำได้ผ่านช่องทางที่เป็นส่วนตัวมากกว่า แต่ตอนนี้บุคคลที่ต้องการกำลังใจมากที่สุดก็คือญาติๆ ของผู้ประสบภัย

ส่วนการช่วยเหลือ มันจะมีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าต้องการความช่วยเหลือ ก็ต้องระวังว่าเป็นข่าวจริงหรือเปล่า อยากให้ระมัดระวังเรื่องการโอนเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีส่วนบุคคล เพราะมันมีเรื่องการแอบอ้างหลายครั้ง แต่หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่น่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการรับความช่วยเหลือแล้วส่งตรงเข้าไปในพื้นที่ ไปสู่ผู้ปฏิบัติงานได้ดีที่สุด

โดยหลักการแล้ว เวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก เขาจะมีวิธีการขอความช่วยเหลืออย่างไร
ปกติแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และก็มีการกระจายอำนาจตามขั้นตอนค่อนข้างดี งบประมาณบางส่วนจะอยู่ในระดับจังหวัด หรือในระดับประเทศ สำหรับภัยพิบัติใหญ่ๆ แต่ภัยพิบัติย่อยๆ แบบนี้ ก็จะมีคณะกรรมการที่จัดการเรื่องสาธารณภัยระดับจังหวัด เขาจะมีงบประมาณในมืออยู่แล้ว ที่จะสั่งการและใช้จ่ายล่วงหน้า แต่โดยทั่วไปแล้ว บ้านเราจะไม่ได้เรี่ยไรเมื่อมีเหตุการณ์ รวมถึงทางด้านทหาร เขาก็จะมีงบประมาณเรื่องการปฏิบัติการในระดับหนึ่ง ก็จะมีระบบการเบิกจ่ายตามลำดับขั้น ผ่านคณะกรรมการจังหวัดอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องไปเรี่ยไรก่อน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และอนุบัญญัติ มีบทลงโทษผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

มาตรา 49 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 50 ผู้ใดขัดขวางการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามมาตรา 24 หรือการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการตามมาตรา 25 หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามมาตรา 26 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 51 ผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่ปิดกั้นตามมาตรา 27 (3) โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของผู้อำนวยการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook