เบิกความไต่สวนคำร้องส่ง วิคเตอร์ บูท เจ้าพ่ออาวุธรัสเซียให้สหรัฐฯ ดำเนินคดี
ไต่สวนคำร้องคดีพ่อค้าความตาย ปลัดกต.เบิกความระบุสหรัฐฯ-รัสเซียต้องเคารพอำนาจอธิปไตย ย้ำไทยยึดหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ยันไม่มีการเมืองแทรกแซง
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 เมษายน ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ อผ.3 / 2551 ที่อัยการฝ่ายต่างประเทศ เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องขอส่งตัว นายวิคเตอร์ อนาโตลเจวิช บูท (Viktor Bout) หรือบอริส (Boris) หรือ วิคเตอร์ บัท (Viktor But หรือ Viktor Budd) หรือวิคเตอร์ บูลาคิน (Viktor Bulakin) หรือวาดิม มาโควิช อมินอฟ (Vadim Markovich Aminov) สัญชาติรัสเซีย อดีตเคจีบี ผู้ต้องหาค้าอาวุธสงครามระดับโลก เป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยการสืบพยานพยานในวันนี้ ศาลได้เรียก นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นพยานเพื่อสอบถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายอนุสัญญาภาคีต่างประเทศ ซึ่งศาลได้อธิบายให้โจทก์ -จำเลย ฟังว่า พยานดังกล่าวเป็นส่วนที่ศาลได้รียกมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อ เท็จจริงที่ครบถ้วน ตามที่ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 กฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2551 ให้อำนาจศาลเรียกพยานมาสอบถามเพิ่มเติมได้ โดยนายวีระศักดิ์ กล่าวตอบคำถามศาลเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามอนุสัญญาต่างประเทศว่า การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ทางการสหรัฐ ยื่นคำร้องขอมานั้น เป็นการปฏิบัติตามสนธิสัญญาซึ่งไทย รัสเซีย และสหรัฐ ต่างก็เป็นสมาชิกในสหประชาชาติ ส่วนการจะมีภาระผูกพันต่อการปฏิบัติอนุสัญญาหรือไม่ ก็ต้องดูว่าได้มีลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่เซ็นก็ยังไม่มีผลการบังคับ
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการก่อการร้าย ปี ค.ศ.1949 มีการลงนามไว้อย่างไร นั้นนายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จะขอทำหนังสือแจ้งรายละเอียดส่งให้ศาลภายหลัง เมื่อศาลถามว่าแล้วในต่างประเทศมีกฎหมายต่อวิธีการปฏิบัติที่จะส่งผู้ร้าย ข้ามแดนอย่างไร นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ตัวอย่างในประเทศสหรัฐ ฯ แคนาดา และประชาคมยุโรป หรืออียู ส่วนใหญ่มีกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้าย ส่วนประเทศรัสเซีย จะเป็นอย่างไรพยานไม่ทราบ
สำหรับองค์กรก่อการร้ายที่สหรัฐฯ ระบุในคำร้องเพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนคดีนี้ พยานก็เคยได้ยินชื่อกลุ่ม FARC ว่าเป็นขบวนการติดอาวุธอยู่ในประเทศโคลัมเบีย แต่ทั้งนี้กลุ่ม FARC ดังกล่าวจะมีชื่อเป็นองค์กรก่อการร้ายหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับภาคีอนุสัญญา ว่าระบุอย่างไร แต่ทราบว่าในประเทศสหรัฐ แคนาดา และประชาคมยุโรป ระบุชื่อ FARC เป็นองค์กรก่อการร้าย
เมื่อศาลถามว่า ก่อนหน้านี้สื่อ ได้ใช้ชื่อกลุ่ม FARC ว่า เป็นกบฏและค้ายาเสพติด นั้นถูกต้องหรือไม่ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าสหประชาชาติ ระบุให้กลุ่มFARC เป็นองค์กรก่อการร้ายหรือไม่ และเมื่อศาลถามถึงกรณีที่มีสื่อต่างประเทศและทางการรัสเซีย กล่าวถึงการพิจารณาคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายวีระศักดิ์ ตอบศาลว่า ทางการไทย ได้ชี้แจงแล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งการพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนของศาล ที่ให้เป็นดุลยพินิจผู้พิพากษาในการพิจารณา โดยที่รัฐบาลไทย และการเมืองไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงศาล ซึ่งทั้งประเทศไทย สหรัฐ และรัสเซีย ควรต้องเคารพการอำนาจอธิปไตยและใช้ดุลยพินิจของศาลที่จะมีคำตัดสินต่อไป โดยไม่อาศัยการพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เมื่อศาลถามย้ำว่า การซื้อค้าอาวุธสงคราม เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ นายวีระศักดิ์ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งโดยทั่วไปการซื้อขายอาวุธโดยรัฐบาลจะเป็นไปตามข้อปฏิบัติทางการที่กำหนด ขึ้น
ภายหลังนายวีระศักดิ์ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดสืบพยานที่ได้ออกหมายเรียกมาสอบถามเพิ่มเติมอีกในส่วนของ นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 19 พฤษภาคม นี้ เวลา 09.00 น.
ขณะที่นายวีระศักด์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำถึงคำเบิกความในวันนี้ว่า ตนได้เบิกความ ในประเด็นกว้างๆ ที่ไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เนื่องจากตนไม่ได้มีส่วนในการพิจารณาคำร้องคดีนี้ตั้งแต่ต้น แต่ทั้งนี้จะได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วย การก่อการร้าย และอื่นๆ ให้ศาลทราบภายหลังโดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และหลักปฏิบัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามอนุสัญญา ฯ อธิบดีกรมสนธิสัญญา ฯ จะเป็นผู้เบิกความให้ศาลทราบต่อไป