สภาการหนังสือพิมพ์ฯ วอนสื่อเสนอข่าว “ทีมหมูป่า” โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ วอนสื่อเสนอข่าว “ทีมหมูป่า” โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ วอนสื่อเสนอข่าว “ทีมหมูป่า” โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ทีมกู้ภัยชาวอังกฤษพบตัว 13 นักฟุตบอลและโค้ช “ทีมหมูป่าอะคาเดมี” ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อคืนวานนี้ เชื่อว่าเมื่อสามารถพาตัวทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำแล้ว เหล่าสื่อมวลชนน่าจะให้ความสนใจประเด็นของทั้ง 13 ชีวิตนี้เป็นพิเศษ นำไปสู่กระแสการแข่งขันเพื่อเสนอข่าวในแง่มุมต่างๆ

ดังนั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงได้ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนปฏิบัติงานรายงานความคืบหน้าการกู้ภัยและเหตุการณ์หลังจากช่วยผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและร่วมกันนำเสนอประเด็นอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเนื้อหาหลัก 4 ข้อ ดังนี้

1. สื่อมวลชนควรร่วมหารือแนวทางการนำเสนอข่าวร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยและครอบครัว ในลักษณะของการทำข้อมูลร่วมกัน (Pool Interview) เพื่อให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องเสียเวลาในการตอบคำถามเดียวกันจากแต่ละสำนักข่าว และมีเวลาในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้เต็มที่ การรายงานสถานการณ์ควรร่วมมือกันทำงานไปในทิศทางเดียวกันและแบ่งปันข้อมูลกันเพื่อให้เป็นระเบียบและไม่เกิดการแย่งชิงพื้นที่จนกระทบต่อสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภัย และส่งผลต่อคุณภาพของการรายงานข่าวรวมทั้งอาจขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน

2. สื่อมวลชนควรทำงานร่วมกับแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ รูปแบบการตั้งคำถาม การปฏิบัติตัวต่อผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม พึงระวังไม่ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แตกแยก สร้างความสะเทือนใจ สื่อควรทำหน้าที่รายงานข่าวเพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ และไม่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อประเด็นอันจะกระทบต่อผู้ประสบภัยในทางที่ไม่สมควร

3. พึงละเว้นการสืบค้นประวัติ ภาพ และข้อมูลของเด็ก เยาวชน และผู้ฝึกสอน อันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และกระทบต่อสิทธิในการกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่ตกเป็นเป้าของสังคมผ่านการนำเสนอเจาะลึกชีวิตของสื่อ

4. พึงระวังการนำเสนอที่เป็นลักษณะของการพยายามหาคนผิดของเหตุการณ์ แต่ควรมีการรายงานข่าวที่นำไปสู่การหาทางออกและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงระบบ เช่น การถอดบทเรียนการบริหารจัดการ การจัดระเบียบและความปลอดภัยของการท่องเที่ยว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในตอนท้ายของแถลงการณ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ขอบคุณสื่อมวลชนที่เสนอข่าวอย่างรอบด้านและชัดเจน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม และหวังว่าการขยายประเด็นข่าวอย่างสร้างสรรค์จะเป็น “บทพิสูจน์” คุณค่าของอาชีพสื่อในฐานะที่พึ่งของสังคมต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook